บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป

การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๓)

——————————-

ใครจะเป็นคนปรับปรุง

การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไปมีปัญหาหลายอย่างที่ควรแก้ไขและควรปรับปรุง ถ้าถามว่า ใครจะเป็นคนปรับปรุง

คำตอบก็คือ คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้ปรับปรุง

แต่ก็ดังที่เห็นกันอยู่แล้วว่า คณะสงฆ์นั้นไม่ว่าใครจะเสนอแนะให้ทำอะไรอย่างไร ท่านเฉยทุกเรื่อง

ถ้าจะให้คณะสงฆ์ทำอะไร ต้องมีคนสั่ง ท่านจึงจะทำ

และผม-ผู้ยกเรื่องการเรียนบาลีขึ้นมาพูด-ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะไปสั่งคณะสงฆ์ได้

เพราะฉะนั้น ปัญหาการปรับปรุงการเรียนบาลี-ทั้งๆ ที่เป็นกิจของคณะสงฆ์โดยแท้ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องหวังว่าคณะสงฆ์-โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม-จะทำอะไร

ตัดคณะสงฆ์ออกไปได้เลย

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรามีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ประกาศใช้แล้ว

พระราชบัญญัติฉบับนี้อาจเป็นความหวังได้ทางหนึ่ง

ผมแน่ใจว่า บุคลากรในวงการสงฆ์แทบจะไม่รู้จักพระราชบัญญัติฉบับนี้

พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๒) ตั้งแต่นั้นมา ผมยังไม่เคยได้ยินใครในวงการสงฆ์หยิบยกขึ้นมาพูดเลย

พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดให้การศึกษาพระปริยัติธรรมมี ๓ แผนก คือ แผนกบาลีสนามหลวง แผนกธรรมสนามหลวง และแผนกสามัญศึกษา

ที่สำคัญคือพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมคณะหนึ่ง ประกอบด้วย –

…………………

(๑) ประธานกรรมการรูปหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

(๒) รัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

(๓) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่

(1) แม่กองบาลีสนามหลวง

(2) แม่กองธรรมสนามหลวง

(3) ประธานกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา

(4) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

(5) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

(6) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

(7) เลขาธิการ ก.พ.

(8) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(9) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา

(10) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

(11) เลขาธิการ ก.ค.ศ. (ก.ค.ศ. = สำนักงานคณะกรรมการการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา)

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกรูปหรือคน ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม

…………………

จนถึงวันนี้ คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมทำอะไรไปบ้างแล้ว ผมเชื่อว่าสาธารณชน-โดยเฉพาะบุคลากรในวงการสงฆ์-ยังไม่เคยรู้เลย

คณะกรรมการท่านคงได้ทำงานตามหน้าที่ไปบ้างแล้ว แต่อาจจะไม่ได้ประกาศโฆษณาให้สาธารณชนรู้ ใครสนใจอยากรู้ก็ต้องไปขวนขวายหาเอาเอง

ตรงนี้แหละครับคือจุดอับ

งานที่คณะกรรมการทำไปแล้วหรือมีแผนว่าจะทำ ควรบอกกล่าวไปยังวัดต่างๆ – แบบว่า ใครอยากรู้เดินเข้าไปถามที่วัดได้ทุกวัด

แต่เชื่อได้เลยว่าท่านไม่ได้ทำแบบนั้น

ใครสนใจอยากรู้ ต้องไปขวนขวายหาเอาเอง

ปัญหาที่ขวางหน้าอยู่ตอนนี้ก็คือ คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมท่านสนใจปัญหาการเรียนบาลีหรือเปล่า

ดูตามองค์ประกอบของคณะกรรมการ แม่กองบาลีสนามหลวงเป็นกรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว

แต่แม่กองบาลีสนามหลวงท่านสนใจปัญหาการเรียนบาลีหรือเปล่า ท่านรู้หรือเปล่าว่าการเรียนบาลีมีปัญหา และทำอย่างไรท่านจึงจะนำปัญหานี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ

ข้อสำคัญ กองบาลีสนามหลวงมีหน้าที่จัดสอบบาลีสนามหลวงเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนใดๆ ทั้งสิ้น

การเรียนการสอนบาลีนั้น วัดหรือสำนักเรียนต่างๆ จัดกันเอง รับผิดชอบเอาเอง แม้แต่มหาเถรสมาคมก็ไม่ได้ช่วยรับผิดชอบอะไรเลยด้วยซ้ำไป

ดูๆ ไปแล้ว หนทางที่จะมีการลงมือแก้ปัญหาการเรียนบาลีน่าจะยังอยู่อีกไกลโพ้น

เราจะฝากความหวังในการเรียนบาลีและการแก้ปัญหาไว้ที่คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน

ใครเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างครับ?

ตอนหน้า: ผู้ลงมือแก้ปัญหาไปแล้ว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๗:๕๒

…………………………….

ตอนต่อไป:

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3764433016983741

…………………………….

ตอนที่แล้ว:

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3754845897942453

…………………………….

พระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0011.PDF

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *