การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๑)
การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๑)
——————————-
สภาพปัญหา
ตอนนี้กำลังมีการสอบบาลีประจำปี ๒๕๖๔
ป.ธ. (เปรียญธรรม) ๖-๗ สอบ ๒๑-๒๒ กุมภาพันธ์
ป.ธ. ๘-๙ สอบ ๒๓-๒๔-๒๕ กุมภาพันธ์
เดือนหน้า วันที่ ๘-๙-๑๐ มีนาคม สอบประโยค ๑-๒ และ ป.ธ. ๓-๔-๕
สอบบาลีของคณะสงฆ์นั้นกำหนดตามจันทรคติ คือวันขึ้น-แรม ไม่ใช่กำหนดตามสุริยคติ คือวันที่
ปกติ กลุ่ม ป.ธ.๖-๗-๘-๙ เริ่มสอบขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ใช้เวลา ๕ วัน กลุ่มประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓-๔-๕ เริ่มสอบแรม ๑๐ เดือน ๓ ใช้เวลา ๓ วัน
หรือจำง่ายๆ ว่า กลุ่ม ป.ธ.๖-๗-๘-๙ สอบก่อนมาฆบูชา กลุ่มประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓-๔-๕ สอบหลังมาฆบูชา
แต่ปีนี้เหตุการณ์ไม่ปกติ กลุ่ม ป.ธ.๖-๗-๘-๙ เลื่อนมาเริ่มสอบขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ กลุ่มประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓-๔-๕ เลื่อนมาเริ่มสอบแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔
และเนื่องจากปีนี้เป็นปีอธิกมาส มาฆบูชาเลื่อนจากเดือน ๓ เป็นเดือน ๔ ดังนั้น แม้จะเลื่อนสอบบาลีจากเดือน ๓ มาเป็นเดือน ๔ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์เดิม คือ กลุ่ม ป.ธ.๖-๗-๘-๙ สอบก่อนมาฆบูชา กลุ่มประโยค ๑-๒ และ ป.ธ.๓-๔-๕ สอบหลังมาฆบูชาเหมือนเดิม
—————–
สำหรับนักเรียนบาลี การสอบเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัส การประกาศผลสอบเป็นช่วงเวลาที่น่าระทึกใจ
แต่สำหรับคนทั่วไป เรียนบาลีคือเรียนอะไร ผมไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่มีใครรู้และเข้าใจว่ากระไรบ้าง
ผมพยายามอธิบายเรื่องนี้มาตลอด และไม่เบื่อที่จะพูดซ้ำๆ
คำสอนในพระพุทธศาสนาเถรวาท-คือพระพุทธศาสนาอย่างที่นับถือกันอยู่ในประเทศไทย-พม่า-ลังกา-ลาว-เขมร ท่านรวบรวมไว้เป็นคัมภีร์ที่เรียกกันว่า “พระไตรปิฎก”
พระไตรปิฎกบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี
นี่คือเหตุผลต้นเดิมที่พระเณรเรียนบาลี
ขั้นตอนตลอดสายในกระบวนการเรียนบาลีก็คือ –
(๑) เรียนบาลีก็เพื่อเอาความรู้ภาษาบาลีไปศึกษาพระไตรปิฎก
(๒) ศึกษาพระไตรปิฎกก็คือศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมวินัย อันเป็นตัวพระศาสนา
(๓) ศึกษาพระธรรมวินัยก็เพื่อเอาหลักคำสอนที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตนเอง และ –
(๔) แล้วบอกกล่าวสั่งสอนผู้อื่นต่อไป
พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่และดำเนินต่อไปได้ ก็ด้วยอาการดังว่านี้
กระบวนการเรียนบาลีจึงควรดำเนินไปเพื่อให้เกิดผลที่ประสงค์ดังกล่าวมานี้
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาก็คือ กระบวนการเรียนบาลีในบ้านเรามิได้ดำเนินไปเพื่อนำไปสู่ผลดังที่ประสงค์ตามที่กล่าว
ดูตามความจริงที่เกิดขึ้น การเรียนบาลีในบ้านเราเป็นการเรียนเพื่อสอบได้ และนำศักดิ์และสิทธิ์อันเป็นผลที่เกิดจากการสอบได้ไปใช้เพื่อผลอย่างอื่นๆ ต่อไป แต่มิใช่เพื่อนำความรู้ไปศึกษาพระไตรปิฎกตามขั้นตอนดังที่กล่าว
ความรู้ความเข้าใจอันเป็นผลจากการเรียนบาลีนั้นก็มีการพูดถึงอยู่ แต่พูดถึงอย่างเป็นผลพลอยได้ หรือผลที่คาดหวังว่าควรจะเกิด แต่ไม่ใช่ผลที่ตั้งใจทำให้เกิดไปตั้งแต่เริ่มเรียนบาลี
หมายความว่า เวลานี้เราเรียนบาลีโดยสอนวิธีที่จะทำให้สอบได้ไปตั้งแต่เริ่มต้น แล้วพยายามอธิบายกันว่า เมื่อกำลังเรียนอยู่นั่นแหละผู้เรียนก็ย่อมจะได้ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ติดตัวไปด้วยโดยอัตโนมัติ
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ที่บอกว่าผู้เรียนย่อมจะได้ติดตัวไปด้วยนั้น ไม่ได้อยู่ในกระบวนการเรียนและการวัดผลคือการสอบแต่อย่างใดเลย
ทั้งนี้เพราะเราเรียนบาลีและสอบบาลีเพื่อวัดผลคือความเข้าใจภาษาบาลีล้วนๆ
คำว่า “ความเข้าใจภาษาบาลี” หมายความว่า ในกระบวนการเรียนบาลีทุกวันนี้เราจะสอนกันว่า –
ถ้าเห็นคำบาลีคำนี้ ต้องแปลเป็นไทยว่าอย่างนี้
ถ้าเห็นข้อความภาษาบาลีว่าอย่างนี้ ต้องแปลเป็นไทยว่าอย่างนี้
ถ้าเห็นคำไทยข้อความว่าอย่างนี้ ต้องแปลกลับเป็นคำบาลีว่าอย่างนี้
ทำตามนี้ได้ครบตามเกณฑ์ ก็สอบได้
แต่ไม่มีข้อสอบที่วัดผลความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน
ที่ว่ามานี้พิสูจน์ได้ง่ายๆ เช่น-นักเรียนชั้นประโยค ๑-๒ และชั้น ป.ธ.๓ เรียนแปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาอันเป็นคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนตามหลักสูตร
เนื้อหาในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นการอธิบายธรรมะโดยวิธีเล่าเรื่องประกอบ มีทั้งหมดประมาณ ๓๐๐ เรื่อง
วิธีพิสูจน์คือ เมื่อนักเรียนแปลจบเรื่องหนึ่ง-แปลได้ถูกต้องและแปลได้คล่องตามเกณฑ์ที่ว่า-ถ้าเห็นคำบาลีคำนี้ ต้องแปลเป็นไทยว่าอย่างนี้ ถ้าเห็นข้อความภาษาบาลีว่าอย่างนี้ ต้องแปลเป็นไทยว่าอย่างนี้
แปลจบแล้ว ลองบอกให้นักเรียนรูปนั้นเล่าเรื่องที่แปลมานั้นด้วยสำนวนของนักเรียนเองตามความเข้าใจของตนเองที่ได้แปลมา
นักเรียนแทบทั้งหมดจะทำไม่ได้
ที่ทำได้บ้างก็ตะกุกตะกัก เล่าผิดๆ ถูกๆ
ไม่ใช่เพราะพูดไม่เป็น แต่เพราะจับประเด็นไม่ถูก
เพราะตอนที่เรียนเป็นการเรียนแปลภาษา
แต่ไม่ได้เรียน “อ่านเอาเรื่อง” หรือเก็บเกี่ยวเอาความรู้
นี่คือที่ผมเรียกว่า เราเรียนบาลีและสอบบาลีเพื่อวัดผลคือความเข้าใจภาษาบาลีล้วนๆ
เรียนแบบนี้ แปลได้ถูกต้องครบถ้วน ทำข้อสอบได้ และสอบได้จริงๆ
แต่ไม่มีความรู้ว่าตนกำลังเรียนเรื่องอะไร เรื่องเป็นอย่างไร และจะเอาเรื่องที่เรียนนั้นไปปฏิบัติจริงได้อย่างไร
ง่ายกว่านั้น แค่ถามว่า คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาที่กำลังเรียนอยู่นั้นเป็นคัมภีร์ชั้นไหน
นักเรียนจะตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้
เพราะคำถามหรือความรู้ที่ถามแบบนี้ไม่ได้เป็นเนื้อหาของหลักสูตร ไม่มีในข้อสอบ นักเรียนจึงไม่ต้องตอบ และเพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรู้ก็สามารถสอบได้
ทั้งนี้เว้นไว้แต่นักเรียนแต่ละรูปจะไปขวนขวายหาความรู้เอาเอง หรือครูอาจารย์ที่สอนจะบอกเล่าเป็นความรู้พิเศษให้ นักเรียนก็จะได้ความรู้เป็นพิเศษ แต่ก็ขึ้นอยู่กับบุคลิกของนักเรียนและของครูบาอาจารย์แต่ละท่าน ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องหาความรู้พิเศษหรือต้องให้ความรู้พิเศษเช่นว่านี้ทุกท่านไป เพราะข้อสอบไม่ได้ถามเรื่องพวกนี้
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิติเตียนอะไร แต่มีเจตนาจะชวนให้ช่วยกันคิดว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ เราทำถูกแล้ว หรือว่าเรากำลังทำผิดพลาด ถ้าผิดพลาดควรจะแก้ไขอย่างไร
ตอนหน้า: ข้อเสนอแนะ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๑๖:๕๔