บาลีวันละคำ

วิหาร (บาลีวันละคำ 286)

วิหาร

อ่านว่า วิ-หา-ระ

ภาษาไทยเขียนเหมือนกัน อ่านว่า วิ-หาน (เว้นแต่มีคำต่อท้ายบางกรณี อ่านว่า วิ-หา-ระ-)

วิหาร” รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + หร (ธาตุ = อยู่อาศัย) = วิหาร

วิหาร” ถ้าใช้เป็นอาการนาม มีความหมายว่า “การอยู่” ถ้าหมายถึงสถานที่ แปลว่า “ที่อยู่

ในภาษาบาลี “วิหาร” ที่แปลว่า “ที่อยู่” โดยทั่วไปหมายถึง “วัด” (monastery สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติเป็นที่อยู่ของสงฆ์) เช่น เวฬุวัน เชตวัน บุพพาราม ชีวกัมพวัน สถานที่เหล่านี้ล้วนมีฐานะเป็น “วิหาร” คือที่อยู่ของพระสงฆ์

ในภาษาไทย “วิหาร” เข้าใจกันในความหมายเฉพาะว่า อาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คู่กับ “โบสถ์” คืออาคารที่สร้างเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรม

ในภาษาไทย เฉพาะอาคารหลังเดียวในวัด (ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป) เรียกว่า “วิหาร

ในภาษาบาลี พื้นที่หมดทั้งวัด เรียกว่า “วิหาร

แถม : วิหารที่มีลักษณะคดเป็นข้อศอกอยู่ตรงมุม นิยมสร้างล้อมอุโบสถ หรือสถูปเจดีย์ เรียกว่า “วิหารคด” (คด ดเด็กสะกด) สมัยหนึ่งเคยเขียนเป็น “วิหารคต” (คต ต เต่าสะกด) แล้วอธิบายกันว่า “คต” แปลว่า ทางเดิน “วิหารคต” คือ วิหารที่เป็นทางเดิน

ความจริงแล้ว “คด” ในที่นี้เป็นคำไทย หมายถึงลักษณะที่ไม่ตรงตลอด หรือไม่ซื่อ คือ “คด” ที่ตรงกันข้ามกับ “ตรง” นั่นเอง

ธรรมดาอย่างยิ่ง : วิหารคด ดีอย่างยิ่ง แต่คนคด ไม่ดีอย่างยิ่ง

บาลีวันละคำ (286)

19-2-56

วิหาร (บาลี-อังกฤษ)

-ใช้เวลา (พักแรมหรือเดินไปหา), พักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง, ดำรงอยู่; วิหาร (place of living), ที่อยู่, ที่อาศัย

-การดำรงชีวิต, สถานะ, วิถีชีวิต

-วิหาร (habitation for a Buddhist mendicant), ที่พักอาศัยในป่า, กระท่อม, ที่อยู่อาศัย, ที่พักพิง, กุฏิ (สำหรับภิกษุ), ห้องเดี่ยว

-สถานที่ประชุมของภิกษุ, ที่ประชุม, สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ (ในสวนหรืออุทยาน)

-ตึกใหญ่สำหรับภิกษุทั้งหลายอยู่อาศัย, วัด (a organized monastery), วิหาร (vihara)

วิหาร, วิหาร-

 [วิหาน, วิหาระ-] น. วัด, ที่อยู่ของพระสงฆ์; ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป, คู่กับ โบสถ์; การพักผ่อน เช่น ทิวาวิหาร ว่า การพักผ่อนในเวลากลางวัน. (ป., ส.).

วิหารแกลบ

 [-แกฺลบ] น. วิหารเล็ก ๆ.

วิหารคด

น. วิหารที่มีลักษณะคดเป็นข้อศอกอยู่ตรงมุม อาจมีหลังเดียวก็ได้ โดยมากจะมี ๔ มุม และประดิษฐานพระพุทธรูป, สิ่งก่อสร้างที่คดเป็นข้อศอกอยู่ตรงมุม.

วิหารทิศ

น. วิหารที่สร้างออกมาทั้ง ๔ ด้านของพระสถูปหรือพุทธเจดีย์ เช่น วิหารทิศวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร, วิหารที่อยู่ตรงกลางของพระระเบียงทั้ง ๔ ด้าน เช่น วิหารทิศวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม.

วิหารธรรม

 [วิหาระทํา] น. ธรรมประจําใจ.

วิหารยอด

น. วิหารที่มียอดเป็นรูปทรงต่าง ๆ, ถ้ายอดทรงเจดีย์ เรียกว่า วิหารยอดเจดีย์, ถ้ายอดทรงปรางค์ เรียกว่า วิหารยอดปรางค์.

วิหารราย

น. วิหารขนาดใกล้เคียงกับวิหารน้อย ตั้งเรียงรายภายในพุทธาวาสโดยรอบ เช่น วิหารรายวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ศาลารายที่ใช้สำหรับพิธีสวดโอ้เอ้วิหารราย เช่น ศาลารายวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร.

วิหารหลวง

น. วิหารที่ด้านท้ายเชื่อมติดกับพระสถูปเจดีย์หรือพระปรางค์ เช่น วิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตําบลเชลียง อําเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย.

วัด ๑

น. สถานที่ทางศาสนา โดยปรกติมีโบสถ์ วิหาร และที่อยู่ของสงฆ์หรือนักบวชเป็นต้น.

monastery วัด, อาราม

temple วิหาร, โบสถ์, วัด, อาราม; สถานที่ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าสิงสถิต (สอ เสถบุตร)

คด ๑

น. วัตถุแข็งคล้ายหินที่มีในสัตว์หรือต้นไม้ นับถือกันว่าเป็นเครื่องราง.

คด ๒

น. สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีสัณฐานหักมุมเป็นข้อศอก เช่น วิหารคด.ว. ลักษณะที่ไม่ตรงตลอด; ไม่ซื่อ.

คด ๓

ก. ตักข้าวสุกออกจากหม้อ.