มหัศจรรย์ (บาลีวันละคำ 267)
มหัศจรรย์
อ่านว่า มะ-หัด-สะ-จัน
“มหัศจรรย์” เป็นรูปสันสกฤต “มหาศฺจรฺย”
บาลีเป็น “มหจฺฉริย” อ่านว่า มะ-หัด-ฉะ-ริ-ยะ
“มหจฺฉริย” ประกอบด้วย มหา + อจฺฉริย (เขียนอิงสันสกฤต = อัศจรรย์ : มหา + อัศจรรย์ = มหัศจรรย์)
“มหา” แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่
“อจฺฉริย” แปลตามศัพท์ว่า –
1-“สิ่งอันบุคคลพึงประพฤติให้ยิ่ง” หมายความว่า ปกติกิริยาอาการเป็นแบบหนึ่ง แต่พอมี “อจฺฉริย” เกิดขึ้น กิริยาอาการเปลี่ยนเป็นยิ่งกว่าปกติ
2-“สิ่งที่ควรดีดนิ้วให้” คำแปลนี้ไทยกับฝรั่งมองต่างกัน
– ไทยตีความเป็น “ยกนิ้วให้” คือยอดเยี่ยม ดีเลิศกว่าธรรมดาสามัญ
– ส่วนฝรั่งแปลว่า at the snap of a finger. “สิ่งซึ่งเกิดขึ้นชั่วดีดนิ้วมือ” = เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันรู้ตัว
“มหัศจรรย์” ในภาษาไทยมีความหมายว่า แปลกประหลาดมาก, น่าพิศวงมาก, ผิดปกติวิสัยของธรรมชาติ
: สิ่งที่คั่นระหว่าง “ปกติ” กับ “มหัศจรรย์” คือ “สติ–รู้ทัน”
ถ้ารู้ทันว่ามันคืออะไร ก็ปกติ
ถ้าไม่รู้ หรือรู้ไม่ทัน ก็อัศจรรย์
บาลีวันละคำ (267)
31-1-56
อจฺฉริย แปลก, ประหลาด (ศัพท์วิเคราะห์)
อา ภุโส จริยนฺติ อจฺฉริยํ สิ่งอันบุคคลพึงประพฤติให้ยิ่ง
อา บทหน้า จรฺ ธาตุ ในความหมายว่าประพฤติ กฺวิ ปัจจัย แปลง จรฺ เป็น จฺฉริย
อจฺฉรํ ปหริตต ยุตฺตนฺติ อจฺฉริยํ สิ่งที่ควรดีดนิ้วให้ อจฺฉร + อิย
อจฺฉริย (บาลี-อังกฤษ)
แปลก, ประหลาด, น่าพิศวง
“สิ่งซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าสักนิดเลย” that which happens without a moment’s notice. “สิ่งซึ่งเกิดขึ้นชั่วดีดนิ้วมือ” at the snap of a finger.
ลัดนิ้วมือ
น. เวลาชั่วงอนิ้วมือแล้วดีดออก, โดยปริยายหมายความว่าเร็วฉับพลัน, ชั่วประเดี๋ยวเดียว, เช่น ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ถึง.
มหัศจรรย์
[มะหัดสะจัน] ว. แปลกประหลาดมาก, น่าพิศวงมาก, ผิดปรกติวิสัยของธรรมชาติ. (ส. มหาศฺจรฺย; ป. มหจฺฉริย).