บาลีวันละคำ

สญฺญา (บาลีวันละคำ 285)

สญฺญา

อ่านว่า สัน-ยา

ภาษาไทยเขียน “สัญญา” อ่านเหมือนบาลี

สญฺญา” ประกอบด้วย สํ (พร้อมกัน) + ญา (ธาตุ = รู้) = สญฺญา มีความหมายหลายอย่าง คือ

– ความรู้สึก, ความรับรู้, ความจำได้, ความหมายรู้

– ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความตระหนัก

– แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ

– สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย

– ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง)

ในทางธรรม “สัญญา” เป็น 1 ใน 5 ขององค์ประกอบชีวิต ที่เรียกว่า “เบญจขันธ์” คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

สัญญา” ในภาษาไทย ใช้ในความหมายว่า ข้อตกลงกัน, คำมั่น, ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน ซึ่งความหมายเช่นนี้ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปฏิญญา

อุดมคติของอุดมบุรุษ : อย่าสัญญาอะไรง่ายๆ แต่เมื่อรับปากแล้ว จงรักษาคำมั่นสัญญาไว้ด้วยชีวิต

บาลีวันละคำ (285)

18-2-56

สญฺญา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความจำได้, ความหมายรู้.

สัญญา (ประมวลศัพท์)

การกำหนดหมาย, ความจำได้หมายรู้ คือ หมายรู้ไว้ ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือ รู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก (ข้อ ๓ ในขันธ์ ๕) มี ๖ อย่าง ตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้นเช่น รูปสัญญา หมายรู้รูป สัททสัญญา หมายรู้เสียง เป็นต้น; ความหมายสามัญในภาษาบาลีว่าเครื่องหมาย ที่สังเกตความสำคัญว่าเป็นอย่างนั้นๆ, ในภาษาไทยมักใช้หมายถึง ข้อตกลง, คำมั่น

สญฺญา = ความจำ, ชื่อ, นาม (ศัพท์วิเคราะห์)

สญฺชานนฺติ เอตายาติ สญฺญา ธรรมชาติเป็นเครื่องจำ, เครื่องช่วยจำ

สํ บทหน้า ญา ธาตุ ในความหมายว่ารู้ กฺวิปัจจัย แปลงนิคหิตเป็น ญ ลบ กฺวิ

สญฺญา (บาลี-อังกฤษ)

– สัญญา, ความรู้สึก, ความรับรู้, ขันธ์ที่ ๓ ในขันธ์ ๕ sense, consciousness, perception

– สัญชาน, ความสังเกตจดจำ, ความสุขุม, ความหมายรู้, การจำได้, ความตระหนัก sense, perception, discernment, recognition, assimilation of sensations, awareness

– ความรู้สึก (ที่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ เช่นความสังเกตจดจำของเด็กต่างจาก (๑) ของผู้ใหญ่ และ (๒) ของผู้เชี่ยวชาญ) consciousness

– แนวความคิด, ความคิด, ความเข้าใจ conception, idea, notion

– สัญญาณ, กิริยาท่าทาง, เครื่องแสดง, เครื่องหมาย sign, gesture, token, mark

– ความประทับใจที่เกิดจากความรู้สึกและการจำได้, ความรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่เหมือนกัน (เช่นเห็นคนหนึ่งแล้วนึกถึงอีกคนหนึ่ง) sense impression and recognition

ปฏิญฺญา (บาลี-อังกฤษ)

– รับรู้กัน; ปฏิญาณ, เสมือนหรือประหนึ่ง-

acknowledged, making belief, quasi-

– การรับรู้, การเห็นด้วย, การสัญญา, การปฏิญาณ, การยินยอม, การอนุญาต

acknowledgment, agreement, promise, vow, consent, permission

สัญญา

น. (กฎ) ข้อตกลงระหว่างบุคคล ๒ ฝ่ายหรือหลายฝ่ายว่าจะกระทําการหรืองดเว้นกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง; ข้อตกลงกัน, คำมั่น, เช่น เขาให้สัญญาว่าจะมาหาพรุ่งนี้; ความจํา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.ก. ให้คํามั่น, รับปาก, ทําความตกลงกัน, เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าสอบได้ที่ ๑ จะให้รางวัล. (ป.).

รับปาก

ก. รับคำ เช่น เขารับปากว่าจะมารับ แต่ก็ไม่มา, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ รับคำ เป็น รับปากรับคำ.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย