บาลีวันละคำ

ไตรรงค์ (บาลีวันละคำ 1,937)

ไตรรงค์

คือธงชาติไทย

อ่านว่า ไตฺร-รง

ประกอบด้วย ไตร + รงค์

(๑) “ไตร

บาลีเป็น “เต” และ เต นี้ก็แผลงมาจาก “ติ” อีกทีหนึ่ง

: ติ > เต > ไตร แปลว่า “สาม” (จำนวน 3)

ข้อควรสังเกต :

ติ” หรือ “เต” ที่เป็นศัพท์สังขยา ถ้าคงรูปเช่นนี้ ไม่ใช้เดี่ยวๆ จะต้องมีคำอื่นมาสมาสท้ายเสมอ เช่น

ติรตน (ติ-ระ-ตะ-นะ) = รัตนะสาม

เตมาส (เต-มา-สะ) = สามเดือน

คำที่มี ติ หรือ เต นำหน้า ในภาษาไทยมักแปลงรูปเป็น “ตรี” หรือ “ไตร” เช่น ตรีรัตน์ ไตรรัตน์ ตรีมาส ไตรมาส

ดูเพิ่มเติม : “ติ-,-เต-” บาลีวันละคำ (60) 2-7-55

คำว่า “ไตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คําสําหรับนําหน้าสมาสอย่างเดียว (บางทีใช้ว่า ตรี ก็ได้) เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร, แม้จะพูดไว้ท้ายคําบ้าง เช่น ผ้าไตร หอไตร ก็เพราะละท้ายสมาสเสีย คือ ผ้าไตรจีวร หอไตรปิฎก. (ส.).”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ เหลือเพียง –

ไตร ๓ : (คำวิเศษณ์) สาม, คำสำหรับนำหน้าสมาส เช่น ไตรลักษณ์ ไตรทวาร. (ส.).”

(๒) “รงค์

บาลีเป็น “รงฺค” (รัง-คะ) รากศัพท์มาจาก รญฺช (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชอบ; ย้อม) + ปัจจัย, แปลง ที่ (รญฺ)-ชฺ เป็น , ญฺ เป็นนิคหิค แล้วแปลงนิคหิตเป็น งฺ (รญฺชฺ > รญฺค > รํค > รงฺค)

: รญฺชฺ + = รญฺชฺ > รญฺค > รํค > รงฺค) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่ยินดี” (“สถานที่ย้อมจิตให้ติดความเพลิดเพลิน”) (2) “วัตถุเป็นที่ย้อมด้าย” ( = สี)

รงฺค” (ปุงลิงค์)  ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เวที, โรงละคร, สถานที่ฟ้อนรำ, โรงมหรสพ (a stage, theatre, dancing place, playhouse)

(2) น้ำย้อมสี, สีสำหรับเขียนรูปหรือทา (colour, paint)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “รงฺค” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

รงฺค : (คำนาม) ‘รังค์’ ‘รงค์’ สี; การฟ้อน, การเล่นละคร, การทำเพลง; สนามรบ; โรงละคร; ดีบุก; paint, colour, tint, dye; dancing, acting, singing; a field of battle; a stage, the place where acting is exhibited; tin.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รงค-, รงค์ : (คำนาม) สี, นํ้าย้อม; ความกําหนัด, ตัณหา, ความรัก; ที่ฟ้อนรํา, โรงละคร; สนามรบ, ลาน. (ป., ส. รงฺค).”

ไตร + รงค์ = ไตรรงค์ แปลตามศัพท์ว่า “สามสี” 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไตรรงค์ ๑ : (คำนาม) ๓ สี, เรียกธงชาติไทยซึ่งมี ๓ สี ๕ แถบ คือ แดง ขาว นํ้าเงิน ขาว แดง ว่า ธงไตรรงค์.”

…………..

ขยายความ :

สีแดง ขาว นํ้าเงิน ของธงไตรรงค์หรือธงชาติไทยนั้น มีความหมายตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ดังนี้ –

(สะกดการันต์ยังไม่ยุติ)

๏ ขอร่ำรำพรรณบรรยาย…..ความคิดเครื่องหมาย

แห่งสีทั้งสามงามถนัด

๏ ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์…หมายพระไตรรัตน์

และธรรมะคุ้มจิตไทย

๏ แดง คือโลหิตเราไซร้…..ซึ่งยอมสละได้

เพื่อรักษะชาติศาสนา

๏ น้ำเงิน คือสีโสภา……….อันจอมประชา

ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

๏ จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์…..จึ่งเป็นสีธง

ที่รักแห่งเราชาวไทย

๏ ทหารอวตารนำไป……..ยงยุทธ์วิชัย

วิชิตก็ชูเกียรติสยาม๚ะ๛

…………..

เสริมความ :

พฤฒิพล ประชุมผล เขียนไว้ใน Facebook เมื่อ 9 พฤษภาคม 2560 ว่า –

……….

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายนที่ผ่านมา ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือเวียนถึงทุกจังหวัด ทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี การประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยดังนี้ :

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐ เรียกว่า “ธงไตรรงค์” และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ เห็นชอบกำหนดให้ วันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) และเริ่มในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐ เป็นวันแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าว เพื่อสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติและเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทาน ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติไทย

…………..

28 กันยายน 2560 :

วันครบรอบ 100 ปี แห่งการพระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

———–

ผู้ให้ข้อมูล: พฤฒิพล ประชุมผล

ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฤๅจะรอให้สิ้นชาติ ศาสน์ กษัตริย์

: จึงจะค่อยรู้ซึ้งถนัดถึงคุณค่าของธงชาติไทย

#บาลีวันละคำ (1,937)

28-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย