บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร (2)

เราจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้อย่างไร (2)

——————

กรณีพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท ถูกอำนาจรัฐบังคับให้ลาสิกขาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๐ ทำให้ผมเกิดความคิดว่า-ถึงเวลาเปลี่ยนยุทธศาสตร์พุทธได้แล้ว

กรณีพระมหาอภิชาตินั้นไม่ต้องสงสัยอีกต่อไปแล้ว-ว่ามูลเหตุที่แท้จริงก็คือกระบวนการทางการเมืองของบางศาสนาที่จะยึดครองประเทศไทย

และดูตามแนวโน้มแล้ว มีหวังว่าจะทำสำเร็จด้วย

ดูแนวโน้มตรงไหน

ก็ดูที่ความเข้มแข็งดุเดือดของเขา

และดูที่ความปวกเปียกป้อแป้อ่อนแอของเรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ-ของผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการพระศาสนาของเรา-ที่มองเห็นได้ชัดเจนว่าล้วนแต่พากันเอาตัวรอดด้วยวิธีนิ่งเฉยต่อทุกเรื่องที่เกิดขึ้น

พูดชัดๆ ก็คือ ต่างพากันรักษาตัวกลัวตายกันอยู่โดยทั่วหน้า

ตัว-อาจจะรอดอยู่ได้ชั่วชีวิตนี้

แต่พระศาสนาไม่รอดแน่

เพราะในขณะที่ศาสนาของเรามีหลักการว่า 

“มึงกับกูอยู่ด้วยกันได้”

แต่หลักการของศาสนานั้นชัดเจนมาทุกยุคทุกสมัยทุกถิ่นทุกประเทศว่า 

“ที่ไหนมีกู ที่นั่นต้องไม่มีมึง”

เพราะฉะนั้น จึงต้องถามกันว่าเราจะรักษาพระศาสนาไว้ได้อย่างไร

คำตอบคือ เราสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย ๒ วิธี คือ –

๑ ด้วยวิธีได้อำนาจรัฐ

๒ ด้วยวิธีสร้างวัดไว้ในหัวใจ

………………………………

๒ ด้วยวิธีสร้างวัดไว้ในหัวใจ

………………………………

เมื่อการจะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ให้ได้ ด้วยวิธีได้อำนาจรัฐ ทำไม่สำเร็จ-ซึ่งแน่นอนแล้วว่าไม่มีทางทำได้สำเร็จ

หากศาสนานั้นได้ครองอำนาจในแผ่นดินไทย ก็เป็นที่แน่นอนว่าพระพุทธศาสนาจะไม่มีที่ยืนบนแผ่นดินผืนนี้อีกต่อไป

น่าสังเวชไหมครับ- เมื่อพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่ในแผ่นดินนี้ 

ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

แต่ถ้าศาสนานั้นได้ครอบครองแผ่นดินนี้

ทุกศาสนาจะอยู่ในแผ่นดินนี้ไม่ได้-น่าสังเวชไหมครับ

ไม่ว่าเราจะต้องการแบบไหนและไม่ต้องการแบบไหน แต่เวลานี้เรากำลังส่งเสริมให้ศาสนานั้นได้ครอบครองแผ่นดินไทยกันอยู่นะครับ-ทั้งโดยตั้งใจ และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

เมื่อไม่สามารถสร้างวัด หรือมีวัด หรือ “องค์กร” อยู่บนแผ่นดินตามปกติได้ เราก็ยังมีทางออก นั่นก็คือ สร้างวัดไว้ในหัวใจ

ไม่ใช่พูดเล่นเป็นสำนวน

แต่หมายความตามนั้นจริงๆ 

อันที่จริง บรรพบุรุษของพระพุทธศาสนาท่านบอกวิธี-ซึ่งอาจจะเรียกว่า “ยุทธศาสตร์พุทธ” ไว้ให้เราแล้ว และพวกเราก็ได้อ่านเขียนเรียนรู้กันมาแล้วมากต่อมาก 

หากแต่เราไม่ได้สำนึกตระหนัก กล่าวคือได้แต่เรียนรู้ แต่ไม่ได้เอามาใช้

พูดให้กระทบใจก็ว่า-เรียนเพื่อให้สอบได้ เอาไว้ชื่นชมกันว่าใครได้กี่ประโยค

แต่ไม่ได้มีความคิดจะเอาไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นจริงขึ้นมา

เป็นเรื่องที่น่าสังเวชเรื่องหนึ่งที่กำลังถูกปล่อยให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์อยู่ในเวลานี้

เอาละ บ่นไปก็เท่านั้น

ขอยกข้อความในคัมภีร์มายืนยัน “ยุทธศาสตร์พุทธ” ที่บรรพบุรุษของเราบอกไว้

ช่วยกันสดับ และช่วยกันศึกษานะครับ

————

-๑-

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์ สังคีตอันเป็นทิพย์ก็บรรเลงไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต 

ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้ 

ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่, ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๒๙

-๒-

ผิว่าพระผู้มีพระภาคจะไม่พึงทรงทักท้วงการบูชาด้วยอามิสไว้อย่างนั้นไซร้ ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายก็จักเป็นผู้ไม่บำเพ็ญศีลและสมาธิให้บริบูรณ์ และไม่ปฏิบัติวิปัสสนาให้บรรลุมรรคผล จะเอาแต่ชักชวนพวกอุปัฏฐากให้ทำอามิสบูชาเท่านั้น

อันว่าอามิสบูชานั่นไม่อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้แม้ชั่วเวลาเพียงดื่มยาคูอึกหนึ่ง, วัดนับพันที่ใหญ่โตมโหฬารเหมือนมหาวิหารก็ดี เจดีย์นับพันที่ใหญ่โตมโหฬารเหมือนมหาเจดีย์ก็ดี หาอาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ไม่; ผู้ใดสร้าง, อานิสงส์ก็มีแก่เฉพาะผู้นั้น 

ส่วนสัมมาปฏิบัติเป็นบูชาอันสมควรแก่พระศาสดา เพราะสัมมาปฏิบัตินั้นพระองค์โปรดด้วย อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น … จึงตรัสว่า  “ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่, ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง”

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ หน้า ๒๙๘-๓๐๐ อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร, และอ้างในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๖๙ หน้า ๗๖-๗๗ ปูชากถา

————

ขอได้โปรดสังเกต

๑ แม้แต่บูชาด้วยของทิพย์ พระพุทธองค์ก็ยังตรัสทักท้วงว่าไม่ใช่บูชาอันประเสริฐ

๒ คัมภีร์อรรถกถาอุตส่าห์ดักคอไว้แล้วว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงทักท้วงอามิสบูชา ภิกษุทั้งหลายในอนาคตก็จะไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม จะเอาแต่ชักชวนญาติโยมให้บูชาด้วยอามิสกันอยู่นั่นแล้ว 

ปัจจุบัน-ซึ่งก็คือ “ในอนาคต” ที่ท่านกล่าวไว้-ชาวพุทธในเมืองไทยก็ยังชวนกันสร้างวัดใหญ่ๆ ชวนกันทำอามิสบูชาไม่รู้จักหยุด ก็คือทำตรงกับที่ท่านดักคอไว้แล้ว และเตือนไว้แล้วว่า ทำก็ได้ แต่จะรักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ 

๓ พระพุทธโฆสาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อรรถกถาที่กล่าวความตอนนี้ท่านรจนาที่สำนัก “มหาวิหาร” ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกาสมัยโน้น แต่ท่านก็ซื่อตรงต่อธรรม คือบอกไว้ตรงๆ ว่า วัดใหญ่ๆ อย่างสำนักมหาวิหารนี้ ต่อให้สร้างไว้เป็นพันๆ ก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้

ปฏิปทานี้จะเห็นได้ว่าต่างกับที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ในเวลานี้

ที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ในเวลานี้ ใครสังกัดสำนักไหน หรือมีตราของสำนักไหนครอบอยู่ ก็จะเชียร์สำนักนั้นทุกอย่าง ไม่พิจารณาถูกผิดใดๆ

ซื่อตรงต่อสำนัก มากกว่าที่จะซื่อตรงต่อธรรม

๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ยกมานี้ พุทธบริษัทในเมืองไทยย่อมจะได้อ่านได้ศึกษากันมาแล้วนักต่อนัก และรู้ประจักษ์ใจว่านี่เป็นเพียงอามิสบูชา สร้างขนาดไหน ทำกันขนาดไหน ก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ถ้าไม่มีปฏิบัติบูชา 

จึงควรจะก้าวต่อไปอีกให้ถึงปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ชวนให้เขาตกคลักอยู่ในอามิสบูชา

เมื่อใดก้าวไปให้ถึงปฏิบัติบูชา 

เมื่อนั้นคือเราสร้างวัดขึ้นไว้แล้วในหัวใจ

เป็นวัดทิพย์ 

ใครก็มารื้อมาถอนมาเผามาทำลายไม่ได้

ไม่ต้องใช้เนื้อที่ ไม่ต้องมีแผ่นดิน

ขอเพียงมีชีวิต มีสัมมาปฏิบัติ 

ทุกคนก็สามารถสร้างวัดชนิดนี้ได้ทันที

ชีวิต ทุกคนมีอยู่แล้ว

สัมมาปฏิบัติ ก็มีแบบแผน มีหลักคำสอนอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว

รอแต่ให้เราศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง แล้วเริ่มและเร่งปฏิบัติดำเนินตาม

เริ่มด้วยการศึกษาเรียนรู้ว่า วิธีปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน-ชีวิตจริงๆ ตามปกติ ไม่ใช่ ๓ วัน ๗ วันที่สำนักนั่นนี่โน่น 

วิธีปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ เขาปฏิบัติกันอย่างไร

เมื่อรู้เข้าใจแล้วก็ปฏิบัติดำเนินตามไปพร้อมๆ กับการมีชีวิตไปตามปกติ 

ทำมาหากินเลี้ยงชีพไปตามปกติ พร้อมๆ ไปกับการปฏิบัติธรรม

ถ้ารู้วิธีปฏิบัติแล้วก็ไม่ต้องบอกว่า-ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม

ถ้ายังมีลมหายใจ ย่อมมีเวลาปฏิบัติได้เสมอ

แม้ว่าศาสนานั้นจะได้อำนาจรัฐล้นฟ้าล้นดิน

แต่ก็ไม่สามารถออกกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวพุทธหายใจได้

———————–

วัดทิพย์ชนิดนี้มองในแง่ดีก็วิเศษมากๆ

ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทองในการสร้างและบำรุงรักษา

ไม่ต้องเสียเวลาออกจากบ้าน-เพื่อเดินทางไปวัด

ไม่ต้องยุ่งอยู่กับขั้นตอนการทำพิธีรีตอง

ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกหลอกให้ซื้อบุญ-ขายบุญ เพื่อสร้างความร่ำรวยให้นักบุญบางคน

ไม่ต้องเสียอารมณ์เมื่อได้เห็นการประพฤติปฏิบัตินอกธรรมนอกวินัยของคนที่อยู่ในวัด

แต่มีเวลาปฏิบัติลัดตรงไปสู่มรรคผลได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านนักบุญคนกลาง

ถึงเวลานั้น ศาสนาไหนจะครองแผ่นดินไทย จะทำลายวัดวาอาวาสให้พินาศป่นปี้ ก็ตามแต่อำนาจกิเลสของเขาจะบงการ

แต่จะไม่มีใครทำลายวัดในดวงใจของเราแต่ละคนลงได้เลย

นั่นหมายถึงว่าจะไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาลงได้ด้วย

ถ้าใครคิดจะทำลายพระพุทธศาสนา ก็ต้องทำลายชีวิตชาวพุทธให้หมดทั้งโลกเสียก่อน 

เพราะพระพุทธศาสนาอยู่ในชีวิตของชาวพุทธ

ไม่ได้อยู่ที่วัดวาอาราม พระพุทธปฏิมา โบสถ์ วิหาร ลานพระเจดีย์ พิธีกรรม ฯลฯ

และไม่ได้อยู่ที่แผ่นดินผืนใดๆ

แต่อยู่ที่หัวใจที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบานด้วยธรรม

เป็นการรักษาพระศาสนาที่ถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์เป็นที่สุด

———————

ญาติมิตรที่อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงอยากจะพูดว่า ฝันเฟื่องไปเถอะ ไม่มีใครทำได้หรอก คิดอะไรมันต้องอยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่กับความฝัน

ขอแสดงความสลดใจ-ถ้าใครคิดอย่างนี้

ชีวิต เรี่ยวแรง ลมหายใจ มีไหม

หลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ที่ถูกต้อง มีไหม

มีพร้อมทุกอย่าง 

แล้วยังจะมาพูดอีกหรือว่า ทำไม่ได้ ฝันเฟื่องไปเถอะ

ใครคิดว่าทำไม่ได้ ก็คือไม่คิดจะรักษาพระศาสนานั่นเอง

ถึงเวลาตัดสินความเป็นชาวพุทธที่แท้จริงกันแล้ว 

ตัดสินความเป็นคนรักพระศาสนาที่แท้จริง

ตัดสินด้วยตัวของตัวเอง เที่ยงตรงที่สุด

———————

ชาวพุทธเป็นอันมากมีวัดทิพย์เช่นนี้ในหัวใจอยู่แล้ว

บ้างก็สร้างสำเร็จมานาน และกำลังผุดผ่องเบิกบานเต็มที่

บ้างก็กำลังสร้าง

บ้างก็กำลังเริ่มลงมือ

บ้างก็ตั้งใจ ตกลงใจ และเตรียมจะสร้างอยู่แล้ว

ใครยังไม่ได้สร้าง ขอให้เริ่มสร้าง

ใครยังไม่ได้คิด ขอให้เริ่มคิด

อย่ารอให้ถึงวันไม่มีแผ่นดินสร้างวัดบนดินเสียก่อนแล้วจึงคิดสร้างวัดในหัวใจ

เพราะชีวิตไม่ยาวนานพอที่จะรอจนถึงวันนั้น

———————–

แต่ทว่า-ในปัจจุบันขณะนี้ที่แผ่นดินไทยยังมีวัดวาอาราม มีพระสงฆ์ มีกิจวัตร มีวัฒนธรรม มีประเพณี มีวิถีชีวิตที่จะต้องปฏิบัติดำเนิน เราก็ยังคงปฏิบัติดำเนินไปตามที่ควรจะเป็นควรจะทำ-อย่างที่เราเคยทำ

ไปวัด เข้าวัด ทำบุญ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ไหว้พระ สวดมนต์ บำเพ็ญบุญกิริยาทั้งปวงไปตามปกติ

ถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่ง กระบวนการหนึ่ง ในการสร้างวัดในหัวใจไปในตัว-ไปพร้อมๆ กัน

อย่าเข้าใจเป็นอันขาดว่าเราจะต้องเลิกล้มวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตแบบที่เรากำลังทำกันอยู่ เอาแต่นั่งภาวนาอยู่กับบ้านอย่างเดียว

ถึงตรงนี้สมควรย้ำความเข้าใจ เพื่อให้คิดถูกต้องตรงกัน นั่นคือ พระพุทธศาสนามีส่วนประกอบ ๒ ส่วนคือ ศาสนธรรม และองค์กร 

(ดูเรื่อง โอกาสที่จะแสดงความสามารถมาถึงแล้ว โพสต์เมื่อ ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐ https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1514321148661617)

การใช้อำนาจรัฐรักษาพระศาสนาก็คือใช้อำนาจรัฐจัดองค์กร เพื่อเอื้ออำนวยให้เราสามารถปฏิบัติศาสนธรรม-คือการสร้างวัดในหัวใจ-ได้อย่างสะดวกราบรื่น

การปฏิบัติศาสนธรรมเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว

แม้สมมุติว่าเราใช้อำนาจรัฐรักษาพระพุทธศาสนา-ในฐานะที่เป็นองค์กร-ไว้ได้ เป้าหมายปลายทางของเราก็ต้องอยู่ที่-เพื่อการปฏิบัติศาสนธรรมนั่นเอง

ถ้าไม่มีการปฏิบัติศาสนธรรม พระพุทธศาสนาก็จะมีแต่เปลือก

จริงอยู่ เปลือกมีไว้เพื่อรักษาเนื้อใน

จะมีแต่เนื้อใน แต่ไม่มีเปลือกก็ไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน จะมีแต่เปลือก แต่ไม่มีเนื้อใน ก็ไม่ได้เช่นกัน และไม่ได้อย่างยิ่งด้วย

เนื้อในที่ไม่มีเปลือก ยังพออำนวยประโยชน์ให้ได้ แม้อาจจะไม่สะดวกอยู่บ้าง

แต่เปลือกที่ไม่มีเนื้อใน อำนวยประโยชน์จริงๆ ไม่ได้ นอกจากเอาไว้ดูเล่น

แต่พระพุทธศาสนาไม่ใช่สิ่งที่มีไว้สำหรับดูเล่น 

หากแต่มีไว้เพื่อปฏิบัติจริงๆ

เราไม่ต้องการใช้อำนาจรัฐรักษาเปลือกพระพุทธศาสนา แต่ต้องการรักษาแก่นแท้-คือการปฏิบัติศาสนธรรมที่ถูกต้องไว้

เราต้องการได้อำนาจรัฐมารักษาพระพุทธศาสนาซึ่งจะมีทั้งเปลือกและเนื้อใน

ในระหว่างนี้ ใครมีความสามารถจะใช้อำนาจรัฐมารักษาพระพุทธศาสนาได้ ก็หาวิธีคิดกันไป ทำกันไปให้เต็มที่ อย่ายอมจำนนง่ายๆ 

แต่เมื่อหมดหนทางที่จะใช้อำนาจรัฐมารักษาพระพุทธศาสนา ก็เป็นแต่เพียงแค่เราอาจไม่สามารถรักษาเปลือกไว้ได้เท่านั้น 

แต่เรายังสามารถรักษาเนื้อในไว้ได้-ด้วยการปฏิบัติศาสนธรรม อันอุปมาเหมือนการสร้างวัดขึ้นไว้ในหัวใจ

———————-

วัดบนแผ่นดินสิ้นสลายวันใด

วัดในหัวใจก็ขึ้นมาแทนที่ได้ทันที

เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาอันประเสริฐ

เป็นที่รักษาพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนปลอดภัยสืบไป

จนกว่าจะชาวพุทธคนสุดท้ายจะหมดไปจากโลกนี้

ถึงตอนนั้นแผ่นดินและอำนาจก็เป็นแค่เขฬะก้อนหนึ่งที่เราถ่มทิ้งแล้ว

ใครอยากได้ ก็เชิญลิ้มเลียกันไปตามอัธยาศัยของตนๆ เถิด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ กันยายน ๒๕๖๐

ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ วันรับอุโบสถ

๑๑:๒๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *