บาลีวันละคำ

อาพาธ (บาลีวันละคำ 871)

อาพาธ

อ่านว่า อา-พาด

บาลีอ่านว่า อา-พา-ทะ

อาพาธ” รากศัพท์มาจาก อา (ทั่ว, ยิ่ง) + พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ป่วน) + ปัจจัย

: อา + พาธฺ + = อาพาธ แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียนอย่างยิ่ง” “อาการที่ทำให้ปั่นป่วน” หมายถึง ความไข้, ความเจ็บป่วย, โรคภัยไข้เจ็บ (affliction, illness, disease)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อาพาธ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาพาธ : (คำกริยา) เจ็บป่วย (ใช้แก่ภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย แสดงสมุฏฐานของ “อาพาธ” ไว้ว่า –

(1) ปิตตสมุฏฺฐาน = เกิดจากน้ำดี

(2) เสมหสมุฏฺฐาน = เกิดจากเสมหะ

(3) วาตสมุฏฺฐาน = เกิดจากลม

(4) สันนิปาติกะ = เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน

(5) อุตุปริณามชะ = เกิดจากเปลี่ยนอากาศ

(6) วิสมปริหารชะ = เกิดจากบริหารร่างกายไม่เหมาะสม

(7) โอปักกมิกะ = เกิดจากเหตุปัจจุบันทันด่วน เช่นอุบัติเหตุ

(8) กัมมวิปากชะ = เกิดจากผลกรรม

ในจักกวัตตสูตร กล่าวไว้ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี มนุษย์จะมี “อาพาธ” เพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ –

(1) อิจฺฉา = ความอยากกิน

(2) อนสนํ = ความไม่อยากกิน

(3) ชรา = ความแก่

————

๏ เดชะพระไตรรัตน์

พระปรมัตถบารมี

เทวาทุกราศี

อัญเชิญช่วยอวยชัยถวาย

๏ ขอจงทรงพระเจริญ

พระชนม์เกินร้อยปีปลาย

อาพาธพินาศหาย

ภัยพาลพ่ายพระภูมิพล

๏ จงพระเสวยสวัสดิ์

พูนพิพัฒน์ผองศุภผล

พระหฤทัยไกลกังวล

ทุกทิพาราตรีกาล

๏ พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ

แม้สรรเพชญพระโพธิญาณ

ดำรงรัชย์ชัชวาล

ดั่งเวียงสวรรค์นิรันดร์เทอญ๚ะ๛

#บาลีวันละคำ (871)

6-10-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *