บาลีวันละคำ

เทียนพรรษา (บาลีวันละคำ 2,235)

เทียนพรรษา

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “เทียน” ที่พบในคัมภีร์นิยมใช้ศัพท์ว่า “ทีป” (ที-ปะ) และ “ปทีป” (ปะ-ที-ปะ)

(๑) “ทีป” รากศัพท์มาจาก ทีปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ปัจจัย, ลบ

: ทีปฺ + = ทีปณ > ทีป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สว่าง” หมายถึง ดวงประทีป, โคมไฟ, ตะเกียง (a lamp)

บาลี “ทีป” สันสกฤตก็เป็น “ทีป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

ทีป : (คำนาม) ตะเกียง, โคม; a lamp.”

(๒) “ปทีป” รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทิปฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งโรจน์) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ คือ อิ ที่ ทิ-(ปฺ) เป็น อี (ทิปฺ > ทีป)

: + ทิปฺ = ปทิปฺ + = ปทิปณ > ปทิป > ปทีป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สว่างไปทั่ว

ปทีป” (ปุงลิงค์) หมายถึง –

(1) แสงสว่าง (a light)

(2) ตะเกียง, โคมไฟ (a lamp)

บาลี “ปทีป” สันสกฤตเป็น “ปฺรทีป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

ปฺรทีป : (คำนาม) ‘ประทีป,’ โคมไฟ, ตะเกียง; a lamp.”

ปทีป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประทีป

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประทีป : (คำนาม) ไฟที่มีเปลวสว่าง (หมายเอาตะเกียง ไฟเทียน เป็นต้น), ตะเกียง, โคม. (ส. ปฺรทีป; ป. ปทีป).”

อภิปราย :

สรุปว่า “ทีป” และ “ปทีป” ตามศัพท์แล้วไม่ได้หมายถึง “เทียน” แต่หมายถึงสิ่งที่จุดไฟติดเพื่อให้แสงสว่าง

และ “เทียน” ก็ใช้ทำหน้าที่เช่นว่านั้น เมื่อจะแปล “เทียน” เป็นบาลี ท่านจึงใช้ศัพท์ว่า “ทีป” และ “ปทีป

แต่เมื่อไปพบศัพท์ว่า “ทีป” และ “ปทีป” ในที่ทั่วไป ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องแปลว่า “เทียน” ทันที นักเรียนบาลีมักแปลทับศัพท์ว่า “ประทีป” หรือแปลออกศัพท์ว่า “ดวงไฟ” หรือ “โคมไฟ” ซึ่งเป็นคำแปลเป็นกลางๆ

ส่วนคำว่า “พรรษา” ในคำว่า “เทียนพรรษา” น่าจะเป็นคำเรียกเสริมเข้ามาในภาษาไทยเท่านั้น เหตุผลคือ ปกติวัดต่างๆ ในเมืองไทยมีกิจวัตรต้องไหว้พระสวดมนต์ทุกวันตลอดทั้งปีอยู่แล้ว คือเช้าเวลาหนึ่ง เรียกว่า “ทำวัตรเช้า” เย็นอีกเวลาหนึ่ง เรียกว่า “ทำวัตรเย็น” ในการทำวัตรสวดมนต์นั้นก็ต้องจุดธูปเทียนเป็นเครื่องบูชาตามปกติ นั่นคือต้องใช้เทียนอยู่แล้วเป็นปกติ

แต่ในช่วงเวลาเข้าพรรษาสามเดือน วัดต่างๆ จะเพิ่มเวลาไหว้พระสวดมนต์เป็นพิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่งในตอนตีสี่ (เวลา 04:00 น.) เป็นการบำเพ็ญเพียรอย่างเข้มข้นในระหว่างเข้าพรรษาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาที่พิเศษยิ่งกว่าเวลาตามปกติธรรมดา

ชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ท่านเข้มแข็งในการปฏิบัติธรรมเช่นนั้น ก็มีใจศรัทธาเลื่อมใส จึงจัดหาเทียนไปถวายโดยมุ่งจะให้พระท่านใช้จุดบูชาตอนไหว้พระสวดมนต์ในเวลาที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษนั้น แล้วเลยเรียกเทียนที่ถวายเพื่อการนั้นว่า “เทียนพรรษา” สืบมา

แถม :

ปัจจุบันนอกจากถวายเทียนอันเป็นของเดิมแล้ว ยังนิยมถวายหลอดไฟฟ้าซึ่งเป็นของที่เกิดใหม่ จึงมีปัญหาว่า ถวายหลอดไฟฟ้าจะใช้คำบาลีว่าอย่างไร

ในรายการ “ทานวัตถุ” คือของที่ควรถวายพระ ท่านแสดงไว้ดังนี้ –

อนฺนํ  ปานํ  วตฺถํ  ยานํ

มาลา  คนฺธํ  วิเลปนํ

เสยฺยาวสถํ  ปทีเปยฺยํ

ทานวตฺถู  อิเม ทส.

แปลว่า

ทานวัตถุ 10 อย่างเหล่านี้ คือ

ข้าว น้ำ ผ้า ยาน

ดอกไม้ เครื่องหอม เครื่องทา

เครื่องนอน ที่พัก เครื่องประทีป

รายการที่ 10 ท่านใช้คำว่า “ปทีเปยฺย” (ปะ-ที-เปย-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกื้อกูลแก่ดวงไฟ” หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการจุดไฟ, วัตถุสำหรับจุดประทีป, ตะเกียงและเครื่องอุปกรณ์ (that which is connected with lighting, material for lighting a lamp, lamps & accessories)

จะเห็นได้ว่า “ปทีเปยฺย” ครอบคลุมไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างทุกอย่าง (และอาจจะรวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายเข้าด้วย)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจะถวาย “เทียนพรรษา” ในเทศกาลเข้าพรรษา แม้จะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างอย่างใหม่ๆ รวมอยู่ด้วย ก็ควรใช้คำว่า “ทีป” หรือ “ปทีป” ดังที่ท่านใช้มาแต่เดิม และคงคำเรียกว่า “เทียนพรรษา” ดังที่ท่านเรียกกันมาจนลงตัวแล้วนั่นแล

…………..

ดูก่อนภราดา!

เทียนเอย เทียนพรรษา

พอตีสี่ได้เวลา

เคยลุกขึ้นมาเคาะระฆัง

ระฆังเอย เจ้าเคยกังวาน

ได้ยินไปทุกหย่อมย่าน

วิเวกหวานด้วยความหวัง

หวังเอย หรือเจ้ามาเลยลืมรัง

ป่านนี้แล้วเสียงระฆัง

ยังไม่ได้ยินสักครา

เทียนเอย โอ้เทียนพรรษา

นี่ฉันจะฝากพระศาสนา

ไว้กับเทียนต้นไหน-เอย

#บาลีวันละคำ (2,235)

26-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย