คำถวายเทียนพรรษา
คำถวายเทียนพรรษา
———————–
วันนี้พรุ่งนี้คงมีการถวายเทียนพรรษากันคึกคัก ปัญหาเล็กๆ ก็คือคำถวายเทียนพรรษาใช้ว่าอย่างไร โดยเฉพาะคำนามภาษาบาลีที่หมายถึง “เทียนพรรษา”
ถ้าดูคำถวายที่มีเผยแพร่กันทั่วไป จะพบว่าท่านใช้คำว่า “ปทีปยุคํ” (ปะ-ที-ปะ-ยุ-คัง) แปลว่า “คู่แห่งประทีป”
“ปทีปยุคํ” เป็นคำที่ผูกขึ้นใช้ในสมัยที่เรานิยมถวายเทียนพรรษาเป็นคู่ คือมีเทียน ๒ ต้นเป็นพื้น (ผมเข้าใจว่าลักษณนามเรียกเทียนพรรษาซึ่งมีขนาดใหญ่ คือ “ต้น” ส่วนเทียนเล็กๆ ที่ใช้จุดทั่วไปเรียกว่า “เล่ม”)
จึงเกิดเป็นข้อสงสัยว่า ถ้ามีเทียนไปถวายต้นเดียว หรือมีมากกว่า ๑ คู่ จะใช้คำอะไร
ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี เทียนที่มีผู้ถวายเป็น “เทียนพรรษา” ไม่ใช่มีต้นเดียว หรือคู่เดียว แต่มีหลายสิบ อาจจะถึงร้อย
ถ้าผมเป็นผู้นำถวาย ผมจะใช้คำถวายดังต่อไปนี้
………………
(บูชาพระ สมาทานศีล ตั้งนะโม ๓ จบ ตามแบบแผนของพิธีทั่วไป)
ยัคเฆ ภันเต / สังโฆ ชานาตุ / เอเต มะยัง ภันเต / ปะทีเป / สะปะริวาเร/ อิมัสมิง / อาวาเส / พุทธะ/ปูชะนัตถายะ / นิยาเทมะ / อะยัง / ปะทีปานัง / ทานัสสะ / อานิสังโส / สังวัตตะตุ / อัมหากัญเจวะ/ มาตาปิตุ/อาทีนัญจะ/ ญาตะกานัง/ ทีฆะรัตตัง/ หิตายะ/ สุขายะ/
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ/ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ/ ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอมอบถวาย / ซึ่งเทียนพรรษา / พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ / เพื่อเป็นพุทธบูชา / ในอาวาสวิหารนี้ / ขออานิสงส์ / แห่งการถวายเทียนพรรษานี้ / จงเป็นไป / เพื่อประโยชน์ / เพื่อความสุข / แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย / และแก่ญาติทั้งหลาย / มีมารดาบิดาเป็นต้น / ตลอดกาลนาน เทอญ
………………
คำอธิบาย
ข้อ ๑
คำที่แปลกออกไปจากคำถวายสังฆทานทั่วไปก็คือ “ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ” (ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงรับทราบ)
คำนี้นิยมใช้ขึ้นต้นการถวายสิ่งของที่ถวายไว้เป็นของกลางของสงฆ์ ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว คือถวายแล้วเอาไปแบ่งแจกแก่ภิกษุเป็นรายบุคคลไม่ได้
เช่น ถวายกุฏิ ถวายศาลา ถวายหอระฆัง ถวายระฆัง และถวายเทียนพรรษา
ของที่ถวายเป็นสังฆทานแล้วแบ่งแจกกันได้ ก็เช่นภัตตาหาร ที่เราถวายกันทั่วไปจนคุ้นกันดี ถวายของที่แบ่งกันได้ไม่ต้อง ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ก่อน
คำว่า ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ เป็นเสมือนคำแจ้งล่วงหน้าให้สงฆ์ตระหนักสังเกตไว้ตั้งแต่เบื้องต้นว่าของที่จะรับไว้นี้เป็นของกลาง แบ่งแจกกันไม่ได้
……………
ข้อ ๒
คำต่อไปคือ “นิยาเทมะ” (ขอมอบถวาย)
ตรงนี้คำถวายสังฆทานทั่วไปจะใช้คำว่า “โอโณชะยามะ” ซึ่งแปลว่า “ขอน้อมถวาย” ถ้าเป็นกิริยาก็คือ ยกของนั้นขึ้น แล้วน้อมตัวไปข้างหน้าพร้อมกับยื่นส่งให้รับ กิริยาอย่างนี้คือ “โอโณชะยามะ”
แต่ “นิยาเทมะ” คงตั้งของถวายนั้นไว้กับที่ ไม่ต้องยกขึ้นแล้วน้อมเข้าไปยื่นส่งให้รับ
เหตุต้นเดิมอาจเนื่องมาจากของที่ถวายเป็นของกลางของสงฆ์เช่นนั้นมักเป็นของที่มีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักมาก หยิบยกยื่นให้รับไม่ได้ เช่นถวายกุฏิ ถวายหอระฆัง จึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า “นิยาเทมะ” = “ขอมอบถวาย”
เมื่อเปลี่ยนใช้จนลงตัวแล้ว ต่อมาแม้ของนั้นอาจหยิบยกยื่นให้รับได้ แต่ก็คงใช้ “นิยาเทมะ” ไม่ใช้ “โอโณชะยามะ”
จับเป็นหลักได้ว่า
ถวายของที่แบ่งแจกกันได้ ใช้คำว่า “โอโณชะยามะ” ไม่ต้อง ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ
ถวายเป็นของกลาง ไม่แบ่งแจกเป็นของส่วนตัว ต้องขึ้น ยัคเฆ ภันเต สังโฆ ชานาตุ และใช้คำว่า “นิยาเทมะ”
……………
ข้อ ๓
คำถวายเทียนพรรษาที่เผยแพร่ทั่วไป มีคำว่า “อุโปสะถาคาเร” = “ในโรงอุโบสถ” คือระบุว่าเทียนพรรษาที่ถวายนี้เพื่อจุดเป็นพุทธบูชาในโบสถ์เท่านั้น กลายเป็นบังคับว่าต้องจุดในโบสถ์เท่านั้น เอาไปจุดที่อื่นไม่ได้
แบบนั้นผมเห็นว่าเป็นการระบุเจาะจงแคบเกินไป และในทางปฏิบัติก็อาจผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะบางวัดพระเณรทำวัตรสวดมนต์ที่หอสวดมนต์ ไม่ได้ทำในโบสถ์ เทียนพรรษาอาจใช้จุดที่หอสวดมนต์ หรือจุดเป็นพุทธบูชาในที่อื่นๆ ภายในวัดซึ่งมีพระพุทธปฏิมาสำคัญประดิษฐานอยู่ก็ได้
คำถวายที่ผมกล่าวนำจึงระบุกว้างๆ ว่า “อิมัสมิง อาวาเส” = “ในอาวาสนี้” แบบนี้จะใช้จุดที่ไหนบ้างก็แล้วแต่ความเหมาะสม
……………
ข้อ ๔
อันนี้แถม คือคำถวายสังฆทานทั่วไป ตอนท้ายมักมีเฉพาะ “อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ” แปลว่า “เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ”
หรือถ้าจะมี “มาตาปิตุ …” เสริมอีกด้วย ก็จะระบุเจาะจงว่า “มาตาปิตุอาทีนัญจะ ปิยะชะนานัง” คือเผื่อแผ่ไปเฉพาะ “ปิยชน = คนที่รัก” มีพ่อแม่เป็นต้นเท่านั้น คนที่ไม่รัก ไม่ได้ แล้วบางทีก็ระบุชัดลงไปว่า “กาละกะตานัง” = “ผู้ล่วงลับไปแล้ว” ผู้ที่ยังไม่ตายก็อดอีก
ถ้าผมนำถวาย ผมจะใช้ว่า “อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ” ใจความว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และแก่ญาติทั้งหลาย … จะเป็นที่รักหรือไม่ใช่ที่รัก จะยังอยู่หรือล่วงลับไปแล้ว ก็ได้ด้วยกันทั้งหมด
……………
ข้อ ๕
แถมอีกข้อหนึ่ง คือคำว่า “มาตาปิตุอาทีนัญจะ” ผมแปลว่า “มีมารดาบิดาเป็นต้น” คือเอา “มารดา” ขึ้นก่อนตามลำดับคำบาลี
คำไทยเรามักพูดว่า “พ่อแม่” คือเอา “พ่อ” ขึ้นก่อน จะด้วยเหตุผลที่โดยทั่วไปเรานิยมเอ่ยถึงผู้ชายก่อนผู้หญิง หรือด้วยเหตุผลทางธรรมชาติการเปล่งเสียง “ออ-แอ” ขยับริมฝีปากได้ง่ายกว่า “แอ-ออ” ก็แล้วแต่จะว่ากันไป
แต่ในภาษาบาลี ถ้า ๒ คำนี้มาคู่กัน ท่านเอา “มาตา” ขึ้นก่อนเสมอ ผมก็เลยแปลว่า “มารดาบิดา” เพื่อคงวัฒนธรรมบาลีไว้ อันนี้เผื่อท่านผู้ใดสงสัยว่าทำไมไม่แปลว่า “บิดามารดา” ตามวัฒนธรรมไทย ก็จะได้เข้าใจเหตุผล
อนึ่ง ข้อเท็จจริงที่น่าสังเกตมากๆ ก็คือ เวลานี้งานบุญที่ไหนๆ เห็นแต่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชายทั้งนั้น ชอบกลมาก อาจจะเป็นเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วก็เป็นได้ ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตสนุกเล่นว่า ตามภาพเขียนหรือแม้ในคัมภีร์ เทพบุตร ๑ องค์ มีเทพธิดาเป็นบริวาร ๑,๐๐๐ องค์ นั่นแปลว่าผู้หญิงขึ้นสวรรค์มากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ก็เพราะผู้หญิงไปร่วมงานบุญมากกว่าผู้ชายนั่นเอง
เพราะฉะนั้น การพูดเอา “แม่” ขึ้นก่อนก็ดูจะมีน้ำหนักควรแก่การยอมรับอยู่พอสมควร
—————-
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้มิได้ตั้งใจจะขอให้เอาคำถวายเทียนพรรษาแบบที่ผมนำเสนอนั้นไปใช้กัน
หากแต่ตั้งใจจะชวนให้ญาติมิตรหาความรู้ในการทำบุญ เวลาทำบุญไม่ว่าบุญอะไร ถ้าหมั่นหาความรู้ไปด้วย ก็จะได้ทั้ง “บุญ” คือความดีงาม ได้ทั้ง “กุศล” คือความฉลาดควบคู่กันไป
พระพุทธศาสนาของเรานั้นท่านว่าศรัทธากับปัญญาต้องเสมอกัน มีศรัทธาอย่างเดียวก็ทำ “บุญ” ได้ แต่ต้องมีปัญญาด้วยจึงจะทำ “กุศล” ได้
มีศรัทธาอย่างเดียวก็สามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้
แต่ถ้าขาดปัญญา รักษาไปรักษามา สิ่งที่รักษาไว้ได้นั้นกลับหาใช่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงไม่
กลายเป็นศาสนาอะไรก็ไม่ทราบ
ช่วยกันสร้างปัญญา
คือช่วยกันรักษาพระศาสนาที่แท้จริง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๑
๑๔:๓๓