สุขศาลา (บาลีวันละคำ 2,856)
สุขศาลา
บางท่านว่าน่าจะเป็น “ทุกข์ศาลา”
อ่านว่า สุก-สา-ลา
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า สุข + ศาลา
(๑) “สุข”
บาลีอ่านว่า สุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ม ที่สุดธาตุ
: สุ + ขมฺ = สุขม + กฺวิ = สุขมกฺวิ > สุขม > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทนได้ง่าย”
(2) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขนฺ (ธาตุ = ขุด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ น ที่สุดธาตุ
: สุ + ขนฺ = สุขน + กฺวิ = สุขนกฺวิ > สุขน > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ขุดความทุกข์ด้วยดี”
(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, สะดวก) + ขาทฺ (ธาตุ = เคี้ยวกิน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ ท ที่สุดธาตุ, ลดเสียง อา ที่ ขา-(ทฺ) เป็น อะ
: สุ + ขาทฺ = สุขาท + กฺวิ = สุขาทกฺวิ > สุขาท > สุขา > สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เคี้ยวกินความทุกข์ด้วยดี”
(4) สุขฺ (ธาตุ = สุขสบาย) + อ ปัจจัย
: สุขฺ + อ = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ยังบุคคลให้สุขสบาย”
(5) สุ (คำอุปสรรค = ง่าย, สะดวก) + ข (โอกาส)
: สุ + ข = สุข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ให้โอกาสได้ง่าย”
“สุข” เราแปลทับศัพท์กันจนอาจจะไม่เคยคิดว่าหมายถึงอะไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุข” ไว้ดังนี้ –
(1) agreeable, pleasant, blest (เป็นที่พอใจ, รื่นรมย์, ได้รับพร)
(2) wellbeing, happiness, ease (ความผาสุก, ความสุข, ความสบาย)
(3) ideal, success (อุดมคติ, ความสำเร็จ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุข, สุข– : (คำนาม) ความสบายกายสบายใจ เช่น ขอให้อยู่ดีมีสุข เกิดมาก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง, มักใช้เข้าคู่กับคำ เป็น เช่น ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้เป็นสุข ๆ นะ. (คำวิเศษณ์) สบายกายสบายใจ เช่น เดี๋ยวนี้เขาอยู่สุขสบายดี. (ป., ส.).”
(๒) “ศาลา”
เป็นรูปคำสันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาลา” (สันสกฤต ศ ศาลา บาลี ส เสือ) รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = ไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” คือยืดเสียง อะ ที่ ส-(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สลฺ + ณ = สลณ > สล > สาล + อา = สาลา แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือนเป็นที่ผู้คนไปหา”
“สาลา” หมายถึง ห้องโถง (มีหลังคาและมีฝาล้อมรอบ), ห้องใหญ่, บ้าน; เพิง, โรงสัตว์ (a large [covered & enclosed] hall, large room, house; shed, stable)
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศาลา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาลา : (คำนาม) อาคารทรงไทย ปล่อยโถง ไม่กั้นฝา ใช้เป็นที่พักหรือเพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาวัด ศาลาที่พัก ศาลาท่านํ้า, โดยปริยายหมายถึงอาคารหรือสถานที่บางแห่ง ใช้เพื่อประโยชน์การงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ศาลาพักร้อน ศาลาสวดศพ. (ส.; ป. สาลา).”
สุข + ศาลา = สุขศาลา แปลตามศัพท์ว่า “ศาลาเป็นที่กระทำความสุข”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุขศาลา : (คำนาม) สถานบริการสาธารณสุขที่ไม่มีแพทย์ประจํา ให้บริการสาธารณสุขทุกสาขา และส่งเสริมป้องกันด้านอนามัยแก่ประชาชนในระดับตําบลและหมู่บ้าน, ปัจจุบันเรียกว่า สถานีอนามัย.”
ตามไปดูที่คำว่า “สถานีอนามัย” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“สถานีอนามัย : (คำนาม) สถานบริการสาธารณสุขที่ไม่มีแพทย์ประจำ ให้บริการสาธารณสุขทุกสาขา และส่งเสริมป้องกันด้านอนามัยแก่ประชาชนในระดับตำบลและหมู่บ้าน, เดิมเรียกว่า สุขศาลา.”
ได้ความตามพจนานุกรมฯว่า “สุขศาลา” กับ “สถานีอนามัย” หมายถึงสถานที่เดียวกัน
ขยายความ :
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้พบบทความเรื่อง “ ‘สุขศาลา’ สถานพยาบาลในอดีต” เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ขอยกมาให้อ่านกันในที่นี้ ดังนี้ (ข้อความทั้งหมดตามต้นฉบับ)
…………..
“สุขศาลา” สถานพยาบาลในอดีต
“สุขศาลา” เป็นชื่อเรียกสถานพยาบาลตามท้องที่ต่างๆ ในอดีต ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ กล่าวได้ว่าสุขศาลามีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบสุขภาพของคนในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นสถานที่ให้บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดกับผู้คนมานับแต่อดีต
หากย้อนกลับไปถึงความเป็นมาของสุขศาลา เราคงต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยที่มีการจัดตั้ง “โอสถศาลา” สถานที่จำหน่ายยาให้แก่ราษฎร ในช่วงปีพ.ศ. 2439-2445 เคยมีการตั้งโอสถศาลาในหัวเมืองต่างๆ ขึ้น ได้แก่ หัวเมืองพิษณุโลก เมืองอุตรดิตถ์ เมืองอุทัยธานี เมืองปราจีนบุรี เพื่อเป็นสถานที่ในการจำหน่ายยาราคาถูกให้แก่ราษฎรตามหัวเมือง แต่ก็ต้องมีอันยกเลิกไปเนื่องจากรัฐบาลขาดทุนมาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2456 จึงได้มีการตั้งโอสถศาลาใหม่ขึ้นในบางจังหวัดเพื่อเป็นสถานที่บำบัดโรคและจำหน่ายยา โดยต่อมาได้พัฒนาเป็น “สุขศาลา” และในเวลาต่อมาก็พัฒนาเป็นสถานีอนามัย เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัยชนบท เป็นศูนย์การแพทย์และอนามัย เป็นโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2475 โอสถศาลาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” โดยสุขศาลายังแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ กล่าวคือ ท้องถิ่นใดมีประชากรหนาแน่นทางราชการจะส่งแพทย์ไปประจำเรียกสุขศาลานั้นว่า “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ส่วนสุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำเรียกว่า “สุขศาลาชั้นสอง” และเมื่อมีการสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2485 กรมการแพทย์ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงดังกล่าวได้รับโอน “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ที่ตั้งอยู่ตามอำเภอใหญ่ๆ และในบางจังหวัด ไปปรับปรุงขึ้นเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในขณะที่บางแห่งให้เทศบาลรับไปดำเนินการ ส่วน“สุขศาลาชั้นหนึ่ง “ที่ไม่ได้โอนไปอยู่กับเทศบาลและไม่ได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลให้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” เหล่านี้จึงพัฒนามาเป็น “สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง” ในปี พ.ศ.2497 และได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเป็น “ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท” ในปี พ.ศ.2515 เป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ในปี พ.ศ.2517 และเป็น “โรงพยาบาลอำเภอ” ในปี พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับ “สุขศาลาชั้นสอง” ส่วนใหญ่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีอนามัยชั้นสอง” ในปีพ.ศ.2495 และเป็น “สถานีอนามัย” ในปี พ.ศ.2515 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2551 หลังจากได้มีการผลักดันให้พัฒนาและยกระดับสถานีอนามัยสู่การเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ตามนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ซึ่งดำเนินการในระหว่างปี พ.ศ.2552-2555 อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า จุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒนาการของหน่วยบริการสุขภาพระดับตำบลอยู่ในช่วงของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3-4 (2515-2524) ซึ่งทำให้เกิดการยกฐานะ “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” ขึ้นเป็นโรงพยาบาลอำเภอ พร้อมกับการขยายเป้าหมายให้มีโรงพยาบาลครบทุกอำเภอ ทั้งนี้อาจมองได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขศาลาชั้นสองหรือสถานีอนามัยในระดับตำบลว่าเป็นการบริการสุขภาพเบื้องต้น รวมทั้งการคัดกรองคนป่วยก่อนไปยังโรงพยาบาลอำเภอที่มีเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์สูงกว่า การดูแลสุขภาพในระดับปฐมภูมิจึงถูกจัดให้ไปอยู่ปลายสุดของระบบบริการสุขภาพ ทั้งที่มีความสำคัญต่อผู้คนและใกล้ชิดชุมชนเป็นอย่างมาก
เก็บความจาก:
วิชัย โชควิวัฒน, โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ (บรรณาธิการ), รอยเวลา: เส้นทางประวัติศาสตร์สุขภาพ, 2556
ประคอง แก้วนัย, พัฒนาการสุขศาลาจากอดีตถึงปัจจุบัน, 2552
แหล่งที่มา : ประวัติศาสตร์สุขภาพชุมชน, นิตยสารสุขศาลา ปีที่ 2 ฉบับที่ 8 ตุลาคม-ธันวาคม 2552
…………..
ดูก่อนภราดา!
จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ.
: กายทุกข์ ไปสุขศาลา
: ถ้าใจทุกข์ขึ้นมา ต้องฝึกใจ-ฝึกใจ
#บาลีวันละคำ (2,856)
7-4-63