อันตรกัป (บาลีวันละคำ 4,660)

อันตรกัป
นับไปนานแค่ไหน
อ่านว่า อัน-ตะ-ระ-กับ
ประกอบด้วยคำว่า อันตร + กัป
(๑) “อันตร”
เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺตร” อ่านว่า อัน-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อติ (ธาตุ = ผูก) + อร ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (อติ > อต), ลงนิคหิตอาคมต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (อติ > อํติ > อนฺติ)
: อติ > อํติ > อนฺติ > อนฺต + อร = อนฺตร แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่ผูกสองข้างไว้” คือ มีข้างหนึ่ง แล้วก็มีอีกข้างหนึ่ง จากข้างหนึ่งไปถึงอีกข้างหนึ่งนี้แหละมีสิ่งหนึ่งผูกเอาไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อนฺตร” = ระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หมายถึง ภายใน, ระหว่าง, ช่องวางระหว่าง (inside, in between, a space between)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อันตร– : (คำนาม) ช่อง. (คำวิเศษณ์) ภายใน, ชั้นใน; ใกล้เคียง, เกือบ; ระหว่าง; อื่น, ต่างไป. (ป., ส.).”
(๑) “กัป”
บาลีเป็น “กปฺปฺ” อ่านว่า กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + อ (อะ) ปัจจัย
: กปฺปฺ + อ = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น”
“กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)
(2) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)
(3) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)
(4) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)
(5) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)
ในภาษาไทย คำนี้ใช้เป็น “กัป” (กับ) ตามบาลีก็มี ใช้อิงสันสกฤตเป็น “กัลป-” (กัน-ละ-ปะ-, มีคำอื่นมาสมาสท้าย) และ “กัลป์” (กัน) ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) กัป : (คำนาม) อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์มาล้างโลก, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ กัลป์ เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ป. กปฺป; ส. กลฺป). (ดู กัลป-, กัลป์).
(2) กัลป-, กัลป์ : (คำนาม) กัป, อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ซึ่งได้แก่ช่วงเวลากลางวัน วันหนึ่งของพระพรหม คือ ๑,๐๐๐ มหายุค (เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) เมื่อสิ้นกัลป์ พระอิศวรจะล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ โลกจะไร้สิ่งมีชีวิตและอยู่ในความมืดมนจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกเป็นการขึ้นต้นกัลป์ใหม่ โลกจะถูกสร้างและถูกทำลายเช่นนี้สลับกันตลอดอายุของพระพรหม ทั้งนี้ตามคติของพราหมณ์, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ กัป เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ส.; ป. กปฺป).
อนฺตร + กปฺป = อนฺตรกปฺป (อัน-ตะ-ระ-กับ-ปะ) แปลว่า “กัปในระหว่าง”
ขยายความ :
ขอนำข้อความตอนหนึ่งจากคำว่า “กัป, กัลป์” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอในที่นี้เพื่อประกอบความรู้ ดังนี้ –
…………..
กัป, กัลป์ : กาลกำหนด, กำหนดอายุของโลก, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาล ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของมนุษย์หรือสัตว์จำพวกนั้น ๆ ในยุคนั้น ๆ เรียกเต็มว่า ‘อายุกัป’ เช่นว่าอายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี
ที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นข้อควรรู้ที่พอแก่ความเข้าใจทั่วไป หากต้องการทราบละเอียด พึงศึกษาคติโบราณดังนี้
กัปมี ๔ อย่าง ได้แก่
๑. มหากัป กัปใหญ่ คือ กำหนดอายุของโลก อันหมายถึงสกลพิภพ
๒. อสงไขยกัป กัปอันนับเวลามิได้ คือ ส่วนย่อย ๔ แห่งมหากัป ได้แก่
๑) สังวัฏฏกัป (เรียกเต็มว่า สังวัฏฏอสงไขยกัป) กัปเสื่อม คือ ระยะกาลที่โลกเสื่อมลงจนถึงวินาศ
๒) สังวัฏฏฐายีกัป (สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป) ระยะกาลที่โลกพินาศแล้วทรงอยู่
๓) วิวัฏฏกัป (วิวัฏฏอสงไขยกัป) กัปเจริญ คือ ระยะกาลที่โลกกลับเจริญขึ้น
๔) วิวัฏฏฐายีกัป (วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป) ระยะกาลที่โลกเจริญแล้วทรงอยู่
ครบรอบ ๔ อสงไขยกัปนี้ เป็นมหากัปหนึ่ง
๓. อันตรกัป กัปในระหว่าง ได้แก่ ระยะกาลที่หมู่มนุษย์เสื่อมจนส่วนใหญ่พินาศแล้ว ส่วนที่เหลือดีขึ้นเจริญขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้นจนถึงอสงไขย แล้วกลับเสื่อมทรามลง อายุสั้นลง ๆ จนเหลือเพียงสิบปีแล้วพินาศ ครบรอบนี้เป็นอันตรกัปหนึ่ง ๖๔ อันตรกัปเช่นนั้นเป็น ๑ อสงไขยกัป
๔. อายุกัป กำหนดอายุของสัตว์จำพวกนั้น ๆ เช่น อายุกัปของมหาพรหมเท่ากับ ๑ อสงไขยกัป
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/268
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กัปกัลป์ยาวนานเหลือขนาด
: ใครทำอะไรผิดพลาด ยังมีเวลาพอที่จะแก้ไข
#บาลีวันละคำ (4,660)
16-3-68
…………………………….
…………………………….