บาลีวันละคำ

อาจิณกรรม (บาลีวันละคำ 4,658)

อาจิณกรรม

อะไรควรทำอยู่เสมอ

อ่านว่า อา-จิน-นะ-กำ

ประกอบด้วยคำว่า อาจิณ + กรรม

(๑) “อาจิณ

อ่านว่า อา-จิน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า อา-จิน-นะ- (ต่อด้วยคำนั้น ๆ) เช่น “อาจิณกรรม” อ่านว่า อา-จิน-นะ-กำ (ไม่ใช่ อา-จิน-กำ)

อาจิณ” บาลีเป็น “อาจิณฺณ” อ่านว่า อา-จิน-นะ ประกอบด้วย อา + จิณฺณ 

(ก) “อา” เป็นคำอุปสรรค ไม่ใช้เดี่ยว ๆ แต่ใช้ประกอบกับคำอื่นเสมอ นักเรียนบาลีท่องจำกันมาว่า “อา = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ” 

อา = “ทั่ว” เช่น “อาภา” = สว่างทั่ว, สว่างไสวรอบทิศ

อา = “ยิ่ง” เช่น “อาตาป” = ความร้อนอย่างยิ่ง

อา = “กลับความ” หมายถึง คำเดิมมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมี “อา” ไปนำหน้า ความหมายกลับเป็นตรงกันข้าม เช่น – 

คม” = ไป : “อาคม” = มา 

ทาน” = ให้ : “อาทาน” = เอา, ฉวยเอา

พึงทราบว่า คำอุปสรรค “อา” นี้ เมื่อไปนำหน้าคำนามคำกริยาใด ๆ ย่อมทำให้คำนั้น ๆ มีความหมายยักเยื้องไปต่าง ๆ เป็นอเนกนัยแล

(ข) “จิณฺณ” อ่านว่า จิน-นะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = เที่ยวไป, ประพฤติ) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + ), ลบที่สุดธาตุ, แปลง เป็น ณฺณ 

: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิ + = อาจริต > อาจิต > อาจิณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติทั่วถึงแล้ว” หมายถึง ปฏิบัติ, กระทำ (เป็นนิสัย) (practiced, performed, [habitually] indulged in)

อาจิณฺณ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาจิณ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาจิณ, อาจิณ– : (คำวิเศษณ์) เป็นปรกติ, ติดเป็นนิสัย, เสมอ ๆ, เนือง ๆ. (ป. อาจิณฺณ; ส. อาจิรฺณ).”

(๒) “กรรม” 

บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ควบ กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม

กมฺม” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.

(2) กรรม ๒, กรรม– ๒ : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) ผู้ถูกกระทำ เช่น คนกินข้าว ข้าว เป็นกรรมของกริยา กิน.

อาจิณฺณ + กมฺม = อาจิณฺณกมฺม (อา-จิน-นะ-กำ-มะ) แปลว่า “กรรมที่ทำเป็นอาจิณ” หมายถึง กรรมที่ทำอยู่เสมอ

อาจิณฺณกมฺม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาจิณกรรม” (อา-จิน-นะ-กำ)

คำว่า “อาจิณกรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

เพื่อให้เห็นภาพรวมของกรรม จะได้รู้ว่า “อาจิณกรรม” คือส่วนไหนของกรรม ขอนำคำอธิบายเรื่อง “กรรม ๑๒” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

(ปรับย่อหน้าวรรคตอนเพื่อให้อ่านง่าย)

…………..

กรรม ๑๒ : กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่าง คือ 

หมวดที่ ๑ ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่ 

๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ 

๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า 

๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อ ๆ ไป 

๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล 

หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่ 

๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิดหรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด 

๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม 

๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาลงหรือสั้นเข้า 

๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว 

หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่ 

๙. ครุกกรรม กรรมหนักให้ผลก่อน 

๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชินให้ผลรองลงมา 

๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีสองข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น 

๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อนหรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม

: การลงมือทำเป็นหน้าที่ของคน

#บาลีวันละคำ (4,658)

14-3-68 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *