อานิสงส์แรง (บาลีวันละคำ 4,657)

อานิสงส์แรง
บาลีว่าอย่างไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้สังเกตเห็นว่า เมื่อมีการเชิญชวนให้คนบริจาคทรัพย์ หรือร่วมกิจกรรมการบุญต่าง ๆ มักจะมีคำว่า “อานิสงส์แรง” อยู่ในคำโฆษณาเชิญชวนเสมอ เช่น บริจาคสร้างสิ่งนี้จะได้อานิสงส์แรง ทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้จะมีอานิสงส์แรง เป็นต้น เป็นที่มาของคำถามว่า คำว่า “อานิสงส์แรง” บาลีว่าอย่างไร?
คำบาลีเท่าที่ระลึกได้ตอนนี้ คือ “มหานิสํส”
“มหานิสํส” อ่านว่า มะ-หา-นิ-สัง-สะ
ประกอบด้วยคำว่า มหา + อานิสงฺส
(๑) “มหา”
อ่านว่า มะ-หา ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหา ๑ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, ยิ่งใหญ่, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส บางทีก็ลดรูปเป็น มห เช่น มหรรณพ มหัทธนะ มหัศจรรย์.”
คำว่า “มหา” รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” อ่านว่า มะ-หัน-ตะ รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหนฺต” เข้าสมาสกับ “อานิสํส” เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๒) “อานิสํส”
อ่านว่า อา-นิ-สัง-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สํสฺ (ธาตุ = สรรเสริญ) + อ (อะ) ปัจจัย
: อา + นิ + สํสฺ = อานิสํสฺ + อ = อานิสํส แปลตามศัพท์ว่า “คุณที่นำออกมาสรรเสริญได้อย่างดียิ่ง”
(2) อานิ (ผลที่ได้รับ) + สนฺท (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง นฺ ที่ สนฺท เป็นนิคหิต (สนฺทฺ > สํท), แปล ท ที่ สนฺทฺ เป็น ส (สนฺทฺ > สนฺส)
: อานิ + สนฺทฺ = อานิสนฺทฺ + อ = อานิสนฺท > อานิสํท > อานิสํส แปลตามศัพท์ว่า “คุณที่หลั่งผลออก”
“อานิสํส” (ปุงลิงค์) หมายถึง การสรรเสริญ คือสิ่งซึ่งเป็นที่น่ายกย่อง, กำไร, ความดี, ประโยชน์, ผลดี (praise i. e. that which is commendable, profit, merit, advantage, good result)
บาลี “อานิสงส์” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อานิสงส์” อ่านว่า อา-นิ-สง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อานิสงส์ : (คำนาม) ผลแห่งกุศลกรรม, ผลบุญ; ประโยชน์ เช่น อานิสงส์กฐิน. (ป. อานิสํส; ส. อานฺฤศํส, อานุศํส).”
: มหนฺต > มหา + อานิสํส = มหานิสํส แปลว่า “มีอานิสงส์มาก” ตรงกับคำไทยว่า “อานิสงส์แรง” ถ้าใช้ทับศัพท์ก็เป็น “มหานิสงส์” อ่านว่า มะ-หา-นิ-สง
ขยายความ :
เพื่อให้เข้าใจคำว่า “อานิสงส์” กว้างขวางขึ้น ขอนำคำอธิบายความหมายของ “อานิสงส์” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
อานิสงส์ : ผลดีหรือผลที่น่าปรารถนาน่าพอใจ อันสืบเนื่องหรือพลอยได้ จากกรรมดี, ผลงอกเงยแห่งบุญกุศล, คุณ, ข้อดี, ผลที่เป็นกำไร, ผลได้พิเศษ; “อานิสงส์” มีความหมายต่างจาก “ผล” ที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยขอบเขตที่กว้างหรือแคบกว่ากัน หรือโดยตรงโดยอ้อม เช่น ทำกรรมดีโดยคิดต่อคนอื่นด้วยเมตตาแล้วเกิดผลดี คือ มีจิตใจแช่มชื่นสบาย ผ่อนคลาย เลือดลมเดินดี มีสุขภาพ ตลอดถึงว่าถ้าตายด้วยจิตอย่างนั้น ก็ไปเกิดดี นี้เป็นวิบาก พร้อมกันนั้นก็มีผลพ่วงอื่น ๆ เช่น หน้าตาผ่องใส เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนอื่น อย่างนี้เป็นอานิสงส์ แต่ถ้าทำกรรมไม่ดีโดยคิดต่อคนอื่นด้วยโทสะแล้วเกิดผลร้ายต่อตนเองที่ตรงข้ามกับข้างต้น จนถึงไปเกิดในทุคติ ก็เป็นวิบาก และในฝ่ายร้ายนี้ไม่มีอานิสงส์ (วิบาก เป็นผลโดยตรง และเป็นได้ทั้งข้างดีและข้างร้าย ส่วนอานิสงส์ หมายถึงผลพ่วงพลอยหรืองอกเงยในด้านดีอย่างเดียว ถ้าเป็นผลพลอยด้านร้าย ก็อยู่ในคำว่านิสสันท์), อนึ่ง วิบาก ใช้เฉพาะกับผลของกรรมเท่านั้น แต่อานิสงส์ หมายถึงคุณ ข้อดี หรือผลได้พิเศษในเรื่องราวทั่วไปด้วย เช่น อานิสงส์ของการบริโภคอาหาร อานิสงส์ของธรรมข้อนั้น ๆ จีวรที่เป็นอานิสงส์ของกฐิน, โดยทั่วไป อานิสงส์ มีความหมายตรงข้ามกับ อาทีนพ ซึ่งแปลว่า โทษ ข้อเสีย ข้อด้อย จุดอ่อน หรือผลร้าย เช่นในคำว่า กามาทีนพ (โทษของกาม) และเนกขัมมานิสงส์ (คุณหรือผลดีในเนกขัมมะ).
…………..
ช่วยกันสะกดให้ถูก :
“อนิสงส์” ผิด
“อนิสงค์” ผิด
“อานิสงค์” ผิด
“อนิสงฆ์” ผิด
“อานิสงฆ์” ผิด
—————-
“อานิสงส์” ถูก
—————-
แถม :
ทำอะไรจึงเกิด “มหานิสํส” หรือ “อานิสงส์แรง” ขอนำข้อความที่ท่านแสดงไว้ในพระไตรปิฎกมาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการศึกษา ดังนี้ –
…………..
อิติ สีลํ อิติ สมาธิ อิติ ปญฺญา
ศีลมีอยู่ด้วยประการฉะนี้
สมาธิมีอยู่ด้วยประการฉะนี้
ปัญญามีอยู่ด้วยการฉะนี้
สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส
สมาธิอันศีลอบรมแล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
ปัญญาอันสมาธิอบรมแล้วมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
จิตอันปัญญาอบรมแล้วย่อมหลุดพ้นด้วยดีโดยแท้จากอาสวะทั้งหลาย
เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวาติ ฯ
กล่าวคือ จากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ดังนี้.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 75
…………..
อานาปานสตึ ราหุล ภาวนํ ภาเวหิ อานาปานสติ ราหุล ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ฯ
ดูก่อนราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติภาวนาเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ที่มา: มหาราหุโลวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 13 ข้อ 146
…………..
ผู้โฆษณาเชิญชวนให้ใครทำอะไรโดยอ้างว่าทำแล้ว “อานิสงส์แรง” ก็ดี
ผู้ฟังผู้อ่านคำโฆษณาที่อ้างว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้มี “อานิสงส์แรง” ก็ดี
พึงระลึกถึงคำบาลีอันเป็นพระพุทธพจน์ดังที่ยกมานี้เป็นอนุสติ เพื่อเป็นแนวทางในการหาคำตอบที่ถูกต้องว่า เพราะเหตุไรเมื่อทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจึงมีอานิสงส์แรง
จะได้ไม่พูดเพียงเพื่อล่อใจคนให้ควักกระเป๋า
และจะได้ไม่ทำเพียงเพื่ออยากได้สิ่งที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าคืออะไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ห้ามคนโกหกไม่ได้
: แต่รู้ทันคำโกหกได้
#บาลีวันละคำ (4,657)
13-3-68
…………………………….
…………………………….