ขอขมากรรม (บาลีวันละคำ 3,058)
ขอขมากรรม
ขอขมาใคร
อ่านว่า ขอ-ขะ-มา-กำ
ประกอบด้วยคำว่า ขอ + ขมา + กรรม
(๑) “ขอ”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขอ ๒ : (คำกริยา) พูดให้เขาให้สิ่งที่ต้องการ, วิงวอน.”
(๒) “ขมา”
อ่านว่า ขะ-มา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ขมา : (คำนาม) ความอดกลั้นไม่ถือโทษ; การยกโทษให้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยอมรับผิด เช่น รับขมา. (คำกริยา) กล่าวคําขอโทษ เช่น ไปขมาศพ, ษมา ก็ใช้. (ป.; ส. กฺษมา).”
ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “ขมา” เป็นคำบาลี
บาลีมีคำว่า “ขม” อ่านว่า ขะ-มะ รากศัพท์มาจาก ขมฺ (ธาตุ = อดทน, อดกลั้น) + อ (อะ) ปัจจัย
: ขมฺ + อ = ขม แปลตามศัพท์ว่า “อดกลั้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า อดทน, ให้อภัย (patient, forgiving) อดกลั้น, ทนได้, แข็งแกร่งต่อ [ความหนาวและความร้อน], เหมาะแก่ (enduring, bearing, hardened to [frost & heat], fit for)
“ขม” ถ้าเป็นคำกริยา (ปฐมบุรุษ เอกพจน์) เป็น “ขมติ” (ขะ-มะ-ติ) มีความหมายดังนี้ –
1 อดทน, อดกลั้น, ให้อภัย (to be patient, to endure, to forgive)
2 เหมาะสม, ดูเหมือนจะดี (to be fit, to seem good)
3 เหมาะเจาะ, ตามใจชอบ, เห็นชอบด้วย (to be fit for, to indulge in, to approve of)
ถ้าเป็น “ขมาเปติ” (ขะ-มา-เป-ติ ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า เหตุกรรตุวาจก ไวยากรณ์ไทยเรียก การิตวาจก) มีความหมายว่า ทำให้สงบ, ขอให้ยกโทษ, สั่งให้ขอโทษ (to pacify, to ask one’s pardon, to apologize)
ถ้าพูดว่า “ข้าพเจ้าขอโทษ” (I beg your pardon) คำกริยาภาษาบาลีว่า “ขมามิ” (ขะ-มา-มิ)
ความเห็น :
“ขมา” อาจกร่อนมาจากเสียงคำกริยา “ขมาเปติ” หรือ “ขมามิ” ในบาลี หรืออีกนัยหนึ่ง “ขม” คำเดิมนั่นเอง แต่ออกเสียงพยางค์ท้ายยืดไปแบบหยุดไม่สนิท ขะ-มะ จึงเป็น ขะ-มา
“ขม” ในบาลีมีความหมายเหมือน “ขันติ” ที่เราแปลกันว่า “ความอดทน” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ขนฺติ” ว่า patience, forbearance, forgiveness (ความอดทน, ความอดกลั้น, การให้อภัย)
อีกนัยหนึ่ง “ขม” ในบาลี เป็น “กฺษมา” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กฺษม” (คำเดียวกับที่พจนานุกรมฯ ว่า “กฺษมา”) บอกไว้ดังนี้ –
“กฺษม : (คำวิเศษณ์) มีความเพียร, มีความอดกลั้น; งดเว้น; สามารถ; มีความกรุณา; สมควร, เหมาะ; patient, enduring; forbearing or refraining from; adequate or able, suitable, fit;- (คำนาม) ความเพียร; โลก; คืน, ค่ำ, ราตรีกาล; นามพระทุรคา; ความเหมาะ; patience; the earth; night; a name of Duragā; propriety or fitness.”
(๓) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” หมายถึง การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work)
บาลี “กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” (กระ-มะ, ก ควบ ร กลืนเสียง ระ ลงคอ) ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”
การประสมคำ :
๑ ขอ + ขมา = ขอขมา เกิดเป็นรูปคำใหม่ขึ้นมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ขอขมา” และ “ขอขมาลาโทษ” บอกไว้ว่า –
“ขอขมา, ขอขมาลาโทษ : (คำกริยา) ขอไม่ให้เอาโทษในสิ่งที่ได้ล่วงละเมิดหรือล่วงเกิน เช่น เขามาขอขมาญาติผู้ใหญ่เพื่อลาบวช, ขอษมา หรือ ขอษมาลาโทษ ก็ว่า.”
๒ ขอขมา + กรรม = ขอขมากรรม เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลังว่า “ขอขมาต่อกรรม” หมายความว่า ขอให้กรรมยกโทษให้
ขยายความ :
คำว่า “ขอขมากรรม” เป็นคำที่คนสมัยนี้นิยมพูดกันมาก หมายความว่า ขอให้กรรมยกโทษให้ คือตั้งความรู้สึกเสมือนว่า “กรรม” คือความดีความชั่วที่ตนทำลงไปแล้วนั้นเป็น “บุคคล” มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก และพูดคุยกันรู้เรื่อง
ใครที่เชื่อหรือรู้สึกว่าตนได้ทำกรรมไม่ดีไว้ และไม่ปรารถนาจะให้ผลของกรรมไม่ดีนั้นเกิดขึ้นแก่ตน ก็ตั้งความรู้สึกว่ากรรมนั้นมีชีวิตและสามารถขอร้องให้ยกโทษได้
กับอีกนัยหนึ่ง เข้าใจไปว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์คอยควบคุมดูแลให้กรรมที่บุคคลทำลงไปแล้วคอยส่งผลให้แก่ผู้ทำ ผู้ทำกรรมจึงขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์นั้นขอให้ช่วยดูแลบังคับควบคุมอย่าให้ผลกรรมนั้นเกิดขึ้นแก่ตน หรือหากจะเกิดก็ขอให้เกิดแต่น้อยๆ พอทนได้ อย่าให้รุนแรงนัก
เมื่อเชื่ออย่างนี้ ก็พากันทำพิธีตามที่เจ้าพิธีกำหนดขึ้น แล้วเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า “ขอขมากรรม”
ถ้าศึกษาเรื่อง “กรรม” ตามแนวคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็จะรู้หลักความจริงว่า กรรมไม่ใช่ “บุคคล” และไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนมาคอยควบคุมการให้ผลของกรรม แต่ผลของกรรมย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวกรรมนั้นเอง
ในบรรดากรรมที่ท่านสอนไว้ มีกรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า “อโหสิกรรม” หมายถึง กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก (lapsed or defunct kamma)
บางทีการขอขมากรรมอาจจะเกิดจากการเข้าใจผิด (หรือมีผู้ชักชวนให้เข้าใจผิด) ไปว่า กรรมที่ทำลงไปนั้นผู้ทำสามารถจัดการให้กลายเป็น “อโหสิกรรม” ได้
พึงศึกษาให้เข้าใจชัดว่า การที่กรรมจะกลายเป็น “อโหสิกรรม” คือเลิกให้ผลนั้นก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่นั่นเอง และในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อไหนที่บอกว่า ถ้าทำพิธี “ขอขมากรรม” กรรมนั้นก็จะเป็นอโหสิกรรม คือเลิกให้ผลตามที่ผู้ทำพิธีต้องการได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พึงแก้ไขความเชื่อของตนให้ตรงกับความเป็นจริง
: ไม่ใช่แก้ไขความจริงให้ตรงกับความเชื่อ
#บาลีวันละคำ (3,058)
26-10-63