บาลีวันละคำ

วงศาคณาญาติ (บาลีวันละคำ 3,060)

วงศาคณาญาติ

ที่มาของวัฒนธรรมนับญาติ

อ่านว่า วง-สา-คะ-นา-ยาด

ประกอบด้วยคำว่า วงศา + คณา + ญาติ

(๑) “วงศา

คำปกติคือ “วงศ์” บาลีเป็น “วํส” (วัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ปัจจัย, แปลง นฺ (ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)

: วนฺ + = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)

(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)

: วสฺ + = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน

วํส” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)

(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)

(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation)

(4) ราชวงศ์ (dynasty)

(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)

(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)

ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2)

บาลี “วํส” สันสกฤตเป็น “วํศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วงศ” เขียนเป็น “วงศ์” และแผลงเป็น “พงศ์” ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วงศ-, วงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล. (ส. วํศ; ป. วํส).”

(๒) “คณา

คำปกติคือ “คณะ” เขียนแบบบาลีเป็น “คณ” (คะ-นะ) รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + (อะ) ปัจจัย

: คณฺ + = คณ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ.

ในที่นี้ “คณะ” มีความหมายตามข้อ (1) และ (2)

(๓) “ญาติ

บาลีอ่านว่า ยา-ติ รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย

: ญา + ติ = ญาติ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขารู้กันว่าเป็นใคร” หมายถึง ญาติพี่น้อง, ผู้มีสายโลหิตเดียวกัน, วงศ์ญาติ a relation, relative, kinsman

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ญาติ, ญาติ– : (คำนาม) คนในวงศ์วานที่ยังนับรู้กันได้ทางเชื้อสายฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่. (ป.).”

ในทางธรรม ท่านว่า “ญาติ” มี 2 ประเภท คือ –

1 คนที่รู้จักกัน ซึ่งอาจใช้คำเรียกว่า “ญาติมิตร”

2 คนที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด คือ “ญาติสาโลหิต”

อภิปรายขยายความ :

วงศ์ + คณะ + ญาติ รวมกัน น่าจะเป็น “วงศ์คณะญาติ

ทำไมจึงกลายเป็น “วงศาคณาญาติ”?

น่าจะเป็นเพราะเรามีคำว่า “วงศา” อันเป็นคำที่ใช้ในทางกาพย์กลอนซึ่งถูกกับจริตของคนไทยเป็นทุนเดิม

จาก “วงศา” เราก็หาคำรับสัมผัสตามลักษณะของ “คำสร้อยสี่พยางค์” ซึ่งเรามีคำลักษณะนี้ใช้พูดจากันอย่างคล่องปากอยู่แล้ว (“คำสร้อยสี่พยางค์” ก็อย่างเช่น วัดวาอาราม บ้านช่องห้องหอ ยากดีมีมีจน ฯลฯ)

เอาเป็นว่าเราคิดคำว่า “คณะญาติ” ขึ้นมาได้ และเห็นว่าเข้าทีดี แต่ “คณะ-” รับสัมผัสกับ “-ศา” ไม่ได้ เราก็เลยจัดแจงแปลง “คณะ” เป็น “คณา” ด้วยความชำนาญ ได้ถ้อยคำเป็น “วงศาคณาญาติ” อย่างที่ใช้พูดกันอยู่

พึงทราบว่านี่เป็นคำอธิบายแบบ “หวยออกแล้วทำนายฝัน” คือเห็นคำตอบอยู่แล้วอธิบายเหตุลากเข้ามาหาผล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วงศาคณาญาติ : (คำนาม) ญาติพี่น้อง.”

ตามคำนิยามของพจนานุกรมฯ ฟังเป็นว่าต้องเป็นญาติพี่น้องกันจึงจะเรียกว่า “วงศาคณาญาติ” ได้ นับว่าจำกัดอยู่ในวงแคบ

ไทยเรามีวัฒนธรรมการนับญาติ คือเรียกขานคนทั่วไปเหมือนเป็นญาติพี่น้อง คนคราวไหนก็เรียกตามสมควรแก่วัย เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย ลูก หลาน

แม้แต่สมณโวหารเช่นคำว่า “โยม” เรียกคนทั่วไปว่า “โยม” คำเดียวก็ใช้ได้อยู่แล้ว แต่พระท่านก็ยังอุตส่าห์เติมวัฒนธรรมนับญาติเข้าไปด้วย เรียกเป็น “โยมพ่อ” “โยมแม่” “โยมป้า” “โยมพี่” อนุรูปแก่วัยของผู้ที่ท่านเรียก ฟังดูสนิทสนมนุ่มนวลขึ้นเป็นอันมาก

วงการธุรกิจแบบไทย พ่อค้าแม่ขายของเราก็เรียกคนซื้อของตามวัฒนธรรมนับญาติกันทั่วไป

แต่เดี๋ยวนี้ตามห้างหรูเราจะได้ยินพนักงานขายเรียกคนซื้อของด้วยคำว่า “คุณลูกค้า” หรือบางทีก็ห้วนแค่ “ลูกค้า” เฉยๆ

ความสัมพันธ์ผูกพันเสมือน “วงศาคณาญาติ” หายวับไปกับหู!

…………..

ดูก่อนภราดา!

จงดูพลังแห่งวัฒนธรรมการนับญาติของไทย

: แค่เติมความจริงใจลงไปในคำเรียกขาน

: ทั่วท้องจักรวาลก็เป็นวงศาคณาญาติกันทันที

#บาลีวันละคำ (3,060)

28-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย