นวัคคหายุสมธัมม์ (บาลีวันละคำ 1,166)
นวัคคหายุสมธัมม์
อ่านว่า นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ
แยกศัพท์เป็น นว + คห + อายุ + สม + ธัมม์
(๑) “นว” (นะ-วะ)
บาลีแปลว่า เก้า (จำนวน 9)
(๒) “คห” (คะ-หะ)
รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + อ ปัจจัย
: คหฺ + อ = คห แปลตามศัพท์ว่า “ผู้จับ” แปลทับศัพท์ว่า “เคราะห์”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลและไขความคำว่า “คห” ไว้ว่า –
คห : “seizer”, seizing, grasping, a demon, any being or object having a hold upon man. – “ผู้จับ”, การจับ, การคว้า, เป็นคำใช้แทนสิ่งของหรือวัตถุที่คนต้องตกอยู่ใต้บังคับ.
“คห” สันสกฤตเป็น “คฺรห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“คฺรห : (คำนาม) การถือเอา, การจับ, การรับ; สูรยคราสหรือจันทรคราส; ดาวพระเคราะห์; พระเคราะห์; นามของราหุหรืออุทัสบาต; อุตสาหะในการรบ; เพียร; การย์, เหตุ, อรรถ, ความคิด, ความตั้งใจ; อุปการะ; อนุกูล; taking, seizure, acceptance; an eclipse or seizure of the sun or moon b Rāhu; a planet; the place of a planet in the fixed zodiac; a movable point in the heavens; a name of Rāhu, or ascending node; effort in battle; perseverance; purpose, design, intention, favour, patronage.”
คห > คฺรห ใช้ในภาษาไทยว่า “เคราะห์”
“เคราะห์” ในที่นี้เป็นคำที่ใช้ในโหราศาสตร์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
(1) เรียกดาวเฉพาะ ๙ ดวง เรียงตามลำดับมหาทักษา คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ ซึ่งถือกันว่ามีเทวดาประจําแต่ละดวง ว่า ดาวพระเคราะห์, เรียกดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ ดวงอย่างรวม ๆ ว่า ดาวนพเคราะห์ ถือว่าเป็นดาวที่ยึดโชคของคน.
(2) สิ่งที่นําผลมาให้โดยไม่ได้คาดหมาย เช่น เคราะห์ดี เคราะห์ร้าย, มักนิยมใช้ในทางไม่ดี เช่น มีเคราะห์ ฟาดเคราะห์. (ป. คห; ส. คฺรห ว่า ยึด).
คนส่วนมากนึกถึงคำว่า “เคราะห์” ตามความหมายในข้อ (2) และมักเชื่อว่าเคราะห์ดี เคราะห์ร้ายเกิดจากอำนาจลึกลับเป็นผู้กระทำ หรือดวงดาวบันดาล จึงมีผู้คิดวิธีแก้เคราะห์ต่างๆ ส่วนใหญ่แก้ที่เหตุภายนอก
นว + คห ซ้อน คฺ : นว + คฺ + คห = นวคฺคห > นวัคคห
นวัคคห คำนี้คือที่ใช้ในภาษาไทยว่า “นพเคราะห์” (นบ-พะ-เคฺราะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นพเคราะห์ : (คำที่ใช้ในโหราศาสตร์) (คำนาม) ดาวพระเคราะห์ทั้ง ๙ คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ เสาร์ พฤหัสบดี ราหู ศุกร์ เกตุ.”
(๓) “อายุ” (อา-ยุ)
รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณุ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ เป็น อย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ เป็น อา (อิ > อย > อาย)
: อิ > อย > อาย + ณุ = อายณุ > อายุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุดำเนินไปแห่งสัตวโลก” หมายความว่า สัตวโลกดำเนินไปได้ด้วยสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้นหมดลง การดำเนินไปของสัตวโลกก็หยุดลงเพียงนั้น (ถ้างง กลับไปอ่านคำแปลอีกครั้ง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “อายุ” ไว้ว่า –
1 เวลาที่ดํารงชีวิตอยู่, เวลาชั่วชีวิต
2 ช่วงเวลานับตั้งแต่เกิดหรือมีมาจนถึงเวลาที่กล่าวถึง
3 ระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น อายุใบอนุญาต ยานี้หมดอายุแล้ว
4 ระยะเวลาที่กําหนดรู้ความยั่งยืนของสิ่งนั้น ๆ เช่น อายุของหิน
ฝรั่งแปลคำว่า “อายุ” ว่า –
life (ชีวิต), vitality (ความสามารถดำรงชีวิต), duration of life (การกำหนดอายุ), longevity (ความมีอายุยืน)
ผู้รู้อธิบายความหมายว่า –
“อายุ” คือสภาวธรรมที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่หรือเป็นไป, พลังที่หล่อเลี้ยงดำรงรักษาชีวิต, พลังชีวิต, ความสามารถของชีวิตที่จะดำรงอยู่และดำเนินต่อไป; ช่วงเวลาที่ชีวิตของมนุษย์สัตว์ประเภทนั้นๆ หรือของบุคคลนั้นๆ จะดำรงอยู่ได้, ช่วงเวลาที่ชีวิตจะเป็นอยู่ได้ หรือได้เป็นอยู่.
ในภาษาไทย อายุ มีความหมายเพี้ยนไปในทางที่ไม่น่าพอใจ เช่นกลายเป็นความผ่านล่วงไปหรือความลดถอยของชีวิต
(๔) “สม” (สะ-มะ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อยย้อย) + อ ปัจจัย
: สมฺ + อ = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” คืออยู่เคียงคู่กัน หมายถึง เสมอกัน, อย่างเดียวกัน, เท่าเทียมกัน, มีลักษณะ นิสัยใจคอ รสนิยม แนวโน้ม ฯลฯ ไปในทางเดียวกัน
อายุ + สม = อายุสม (อา-ยุ-สะ-มะ) แปลว่า “เท่ากับอายุ”
(๕) “ธมฺม” (ทำ-มะ)
รากศัพท์มาจากว่า ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก คือ :
สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
ในที่นี้ “ธมฺม” หมายถึง หลักคำสอน เขียนอิงรูปเดิมเป็น “ธัมม์”
นว + คห = นวัคคห
อายุ + สม = อายุสม
นวัคคห + อายุสม = นวัคคหายุสม (ห + อา = หา)
นวัคคหายุสม + ธัมม์ = นวัคคหายุสมธัมม์ แปลว่า หลักคำสอนที่เสมอกับอายุของดาวนพเคราะห์
หมายความว่า ดาวนพเคราะห์แต่ละดวงมีกำลังวันเท่าไร (เช่นพระอาทิตย์มีกำลังวัน 6 พระจันทร์มีกำลังวัน 15) ก็คัดเลือกหลักธรรมมาเป็นจำนวนหัวข้อเท่ากับกำลังวันนั้นๆ
นวัคคหายุสมธัมม์ เป็นบทนิพนธ์ภาษาบาลีของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ ได้ทรงจัดแบบพิธีสวดนพเคราะห์ขึ้นถวายใหม่แทนการสวดนพเคราะห์แบบเดิม และริเริ่มธรรมเนียมการสวดในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นเมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันษาครบ 50 ในปี พ.ศ.2412
: คนฉลาดทำสิ่งที่ไม่มีสาระให้มีสาระขึ้นมาได้
: แต่คนเขลา แม้สิ่งที่มีสาระอยู่แล้วก็ยังมองไม่เห็นสาระ
———–
(ตามความประสงค์ของ Chaiwat Oungkiros)
8-8-58