บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง จงเรียกมันว่าความเสื่อม

จงเรียกมันว่าความเสื่อม (12)

——————————–

ตอน-มองภาษาไทย เห็นจิตใจของผู้คน

คำที่คนไทยพูดกันมากที่สุดเวลานี้เห็นจะเป็นคำว่า “พระเมรุมาศ”

“เมรุมาศ” อ่านว่า เม-รุ-มาด

ไม่ใช่ เมน-มาด

แต่ “เมรุ” ที่อยู่ท้ายคำ หรือที่ไม่ได้สมาสกับคำอื่น อ่านว่า เมน

เช่น

ชักศพขึ้นตั้งบนเมรุ –บน-เมน ไม่ใช่ –บน-เม-รุ

ทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ –บน-เมน ไม่ใช่ –บน-เม-รุ

เมรุวัดธาตุทอง เมน-วัด– ไม่ใช่ เม-รุ-วัด–

ผมเข้าใจว่าเด็กไทยสมัยนี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่สนใจหลักการอ่านคำสมาส

ชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้าอ่านตามหลักภาษา คือตามหลักการอ่านคำสมาส ต้องอ่านว่า –กะ-เสด-ตฺระ-สาด ไม่ใช่ กะ-เสด-สาด

แพทยศาสตร์ ต้องอ่านว่า แพด-ทะ-ยะ-สาด ไม่ใช่ แพด-สาด

ประวัติศาสตร์ ต้องอ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-ติ-สาด ไม่ใช่ ปฺระ-หฺวัด-สาด

คำที่ยกตัวอย่างมานี้ ไม่มีใครอ่านตามหลักภาษา แต่อ่านกันตามความสะดวกปาก คือ กะ-เสด-สาด / แพด-สาด / ปฺระ-หฺวัด-สาด

แม้แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเองก็พลอยยอมรับไปด้วย อย่างคำว่า “ประวัติศาสตร์” พจนานุกรมฯ บอกว่าอ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-สาด ก็ได้

ท่านอาจารย์เกษม บุญศรี กรรมการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ถึงแก่กรรมแล้ว) เคยพูดไว้ขำๆ ว่า อ่านว่า ปฺระ-หฺวัด-สาด ก็ได้ แต่ต้องหมายถึงประวัติของเสื่อ (สาด = เสื่อ) ไม่ใช่ “วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมา”

อีกคำหนึ่งที่ได้ยินแทบทุกวัน แต่ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงเลย คือคำว่า “บรมนาถบพิตร” อันเป็นวรรคสุดท้ายของพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

“บรมนาถบพิตร” อ่านให้ถูกต้องตามหลักภาษาต้องอ่านว่า บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด

มีคำว่า -ถะ- ระหว่าง นาถ + บพิตร

การอ่านแบบนี้ คำของ “น.ม.ส.” (พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ผู้นิพนธ์เรื่อง สามกรุง กนกนคร เป็นต้น) ท่านเรียกว่าอ่านอย่างมี “ลูกเก็บ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“ลูกเก็บ : (คำนาม) การบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดา, เก็บ หรือ ทางเก็บ ก็ว่า.)”

การอ่านอย่างมีลูกเก็บเป็นอลังการอย่างหนึ่งของภาษาไทย

อุปมาเหมือนสตรีงาม ที่แม้ไม่แต่งเติมอันใดก็งามอยู่แล้ว แต่ถ้ารู้จักแต่งเสริมเข้าไปอีกนิดหน่อยเท่านั้น ก็จะงามเด่นยิ่งขึ้น

ในประเทศไทยนี้ผมได้ยินคนอ่านว่า บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด อยู่ ๓ คน

๑ อาลักษณ์

๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

๓ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบัน

นอกนั้นอ่านกันว่า บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด (ไม่มีคำว่า -ถะ- ระหว่าง นาถ + บพิตร) ทั่วไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง

โดยเฉพาะผู้ประกาศข่าวทางสื่อทั้งหลาย ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ทุกสถานีทุกช่องในเมืองไทย อ่านว่า บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด กันอย่างคล่องแคล่ว

ไม่ใช่เพราะออกเสียงคำว่า “ถะ” ไม่เป็น หรือถ้าออกเสียงคำว่า “ถะ” แล้วลิ้นจะขาด

แต่เพราะรักง่าย ไม่รับรู้หลักภาษา และด้วยข้ออ้างว่า-เขาอ่านแบบนั้นกันทั้งบ้านทั้งเมือง

แม้แต่คำแนะนำการอ่านพระปรมาภิไธยของราชบัณฑิตยฯ ก็บอกให้อ่านแบบนั้น

ราวกับว่าหลักการอ่านคำสมาสถูกลบทิ้งไปแล้วจากภาษาไทย

ถ้าใครสังเกตพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 จะเห็นความจริงที่น่าตกใจว่า การอ่านคำต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งผู้รู้ท่านเคยบอกไว้ว่าเป็นการอ่านผิด บัดนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ยอมรับว่าเป็นการอ่านถูกไปแล้วเป็นอันมาก โดยอ้างว่าเป็นการอ่าน “ตามความนิยม”

อ่านตามความนิยม เกิดจากความไม่รู้หลักภาษาอย่างหนึ่ง และเกิดจากความรักง่ายอย่างหนึ่ง

ในภาษาไทย “มัก” หมายถึง “รัก”

รักง่าย ก็คือมักง่าย

แทนที่จะช่วยกันพัฒนาความรู้ขึ้นไปหามาตรฐาน

กลับดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้

นี่แค่เรื่องอ่านออกเสียงเรื่องเดียว

ยังไม่ได้พูดถึงการเขียนผิด สะกดการันต์ผิด การสะกดคำแบบวิปริตผิดภาษา

การใช้คำผิดความหมาย (เช่น “จำวัด” หมายถึงพระนอนหลับ เวลานี้พากันใช้ไปว่า-จำวัดหมายถึงพระอยู่วัดนั้นวัดนี้ เช่น “พระ ก. จำวัดที่วัด ข.” หมายถึงพระ ก.พำนักอยู่ที่วัด ข. – อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งผิดความหมายไปคนละโลก)

การเรียงประโยคประธานไม่เป็นภาษา (เขียนเรียงความไม่เป็น) ไม่รู้หลักวากยสัมพันธ์ คือไม่รู้ว่าคำไหนทำหน้าที่อะไรในประโยค

และที่เป็นโรคใหม่ที่สังเกตเห็นได้ทั่วไปคือ การแบ่งวรรคตอนไม่เป็น กล่าวคือ ควรเว้นวรรค แต่ไปเขียนติดกัน ควรติดกัน แต่ไปเว้นวรรค อันเนื่องมาจากจัดระเบียบความคิดไม่เป็น

ภาษาไทยของเราจึงเรียวลงอย่างน่าใจหาย

ยิ่งถ้าไม่สามารถอ่านหนังสือได้เกินครั้งละ ๘ บรรทัด-อย่างที่ว่าๆ กันด้วยแล้ว ความงดงามอลังการของภาษาไทยก็ไม่เหลือ

——————-

ความประพฤติ ระดับจิตใจ หรือค่านิยมของผู้คนสมัยนี้ก็ทรามลงไป ไม่ต่างอะไรกับภาษา

นักเลงสมัยก่อนตีกันพอ “ยางแตง” ออก ให้ได้อาย นักเลงโตสมัยโน้นบ้วนน้ำหมากใส่ก้านมะละกอตีหัวคู่อริให้แดงเถือก พอให้ได้ชื่อว่าเสียเชิง

นักเลงสมัยนี้-ถามกันว่าเอาไปวัดไหน เผาหรือฝัง

โจรสมัยโน้นถือหลักว่า ของวัดของสงฆ์จะไม่แตะต้อง

โจรสมัยนี้ ยิ่งของวัด ยิ่งชอบ

หัวขโมยสมัยโน้นถือคติ “เขี่ยเข้า ไม่เขี่ยออก” คือไม่รบกวนในหมู่บ้าน แต่ไปหากินไกลนอกหมู่บ้าน

หัวขโมยสมัยนี้ ยิ่งบ้านใกล้เรือนเคียง ยิ่งหากินสะดวก

สมัยก่อน ผู้ชายคนไหนยังไม่ได้บวช ถือกันว่าเป็นคนดิบ ไปขอลูกสาวบ้านไหน ไม่มีใครยอมยกให้

ชายไทยสมัยนี้ บวชหรือไม่บวช ดิบหรือสุก ไม่ต่างกัน

เมื่อก่อน บวชกันอย่างน้อยที่สุดก็ต้อง ๑ พรรษา บวชถึง ๒ หรือ ๓ พรรษามีให้เห็นทั่วไป สึกออกมาแล้วบุคลิกเปลี่ยนไปเป็นสุขุมลุ่มลึก พร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว

เดี๋ยวนี้ ยังมีบวชกันอยู่ก็จริง แต่บวชแค่ ๗ วัน ดีหน่อยก็ ๑๕ วัน บวชเดือนหนึ่งก็หายากแล้ว บวชเอาพรรษาหาแทบไม่พบ

สึกออกมาแล้ว ลักษณะนิสัยเหมือนเดิมทุกประการ

ความอุตสาหะในการท่องบ่นมนต์พรก็ลดลง

พระเณรสมัยก่อนลงทำวัตรสวดมนต์มือเปล่า เจ็ดตำนานจบ สิบสองตำนานแม่น สวดออกมาจากความจำ

ลงทำวัตรสวดมนต์ รูปไหนเอาหนังสือสวดมนต์ติดมือไปด้วย จะถูกมองอย่างรังเกียจ

เดี๋ยวนี้ ถือหนังสือสวดมนต์ไปด้วย กลายเป็นรูปแบบที่ดีงาม ถือว่าขยัน

คำว่า “สวดมนต์” ของคนสมัยนี้หมายถึงกางหนังสืออ่าน ไม่ใช่ท่องบ่นได้จากความทรงจำเหมือนกับที่คนรุ่นผมเข้าใจ

มนต์ทุกบทฝากไว้ในหนังสือ

ลักษณะนิสัยหลายๆ อย่างของผู้คนก็ทรามลง

คนสมัยก่อนเจอพระ นั่งลง ยกมือไหว พระผ่านไปแล้วจึงลุกไปต่อ

อย่างทรามที่สุดก็หยุดยืนเฉยๆ หลีกทางให้ท่านไปก่อน

คนสมัยนี้ พระต้องหลีกทางให้ มิเช่นนั้นจะเดินชนพระ

คติสำหรับสตรีก็เปลี่ยนไป

ถ้าเอา “สุภาษิตสอนสตรี” ขึ้นตั้งเป็นแบบฉบับ ก็เหมือนอยู่คนละโลก

ผมจำกลอนสอนสตรีวรรคหนึ่งได้ติดปาก – อย่าหวีผมกลางทางหว่างวิถี

หมายความว่า จะออกจากบ้าน แต่งเนื้อแต่งตัวให้สวยงามเรียบร้อยจนพอใจเท่านั้นพอ ไม่ต้องไปแต่งในที่สาธารณะที่ไหนอีก

เดี๋ยวนี้ แม้แต่ตามป้ายรถประจำทางก็ควักกระจกยกหวีขึ้นมาแต่งกันเกร่อไปหมด

พูดอย่างนี้สุภาพสตรีอย่าเพิ่งโกรธ ผมไม่ได้บอกว่าผิดว่าเสียหาย เพียงแต่บอกว่า สิ่งที่ “เขาถือกัน” ในสมัยก่อน สมัยนี้เขาไม่ถือกันแล้ว

แต่งแล้วหย่าร้าง สมัยก่อนถือว่าเสียหาย

สมัยนี้เป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่งแล้วไม่หย่าสิผิดปกติ

มองไกลไปที่ระบบวิถีชีวิต สมัยก่อนผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือน

สมัยนี้ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องหุงข้าวทำกับข้าวเป็น เพราะทุกมื้อซื้อกิน สะดวกกว่า

ผู้คนกำลังจะนิยม-เอาโรงแรมเป็นบ้าน เอาร้านอาหารเป็นครัว

มีลูกไม่ต้องเลี้ยงเอง

แม่สมัยนี้อุ้มลูกแบบฝรั่งกันแล้ว

เอาลูกเข้าถุงสะพาย หรือไม่ก็ใส่รถ

อุ้ม “เข้าสะเอว” แบบแม่ไทยไม่เป็นแล้ว

สมัยก่อน ครอบครัว-คือพ่อแม่เป็นหลักในการทำหน้าที่อบรมสั่งสอนลูก จนมีคำพูดตำหนิคนที่ประพฤติชั่วเลวทรามว่า “พ่อแม่ไม่สั่งสอน”

เวลานี้ เด็กไทยไม่มีใครอบรมสั่งสอน

บ้าน-ก็ไม่ได้เลี้ยงลูกเอง

วัด-ก็มุ่งแต่ทำพิธีกรรม

โรงเรียน-ก็สอนแต่วิชาการ

เวลานี้ เด็กไทยรุ่นที่ไม่มีใครอบรมสั่งสอนคุณธรรมจริยธรรมดังกล่าวนี้ บัดนี้กำลังเติบโตทยอยกันเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองอยู่ในตำแหน่งต่างๆ

มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า –

โน  เจ  อสฺส  สกา  พุทฺธิ

วินโย  วา  สุสิกฺขิโต

วเน  อนฺธมหึโสว

จเรยฺย  พหุโก  ชโน.

แปลตามสำนวนของผมเองว่า –

สำนึกที่จะทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องก็ไม่มี

กติกามารยาทก็ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน

ถ้าเป็นอย่างนี้ สังคมก็ไม่ผิดอะไรกับควายป่าตาบอด

…………..

จะไปทางไหนกันละทีนี้ ?

——————-

ญาติมิตรที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงนึกว่าผมกำลังหวนละห้อยโหยหาอดีต แบบคนหลงยุค ไม่ยอมรับความจริง และกำลังยึดมั่นถือมั่น

ผมเข้าใจดี และไม่เคยลืมหลักสัจธรรม

อุปปาทะ – เกิดขึ้น

ฐิติ – ตั้งอยู่

ภังคะ – ดับไป

และ –

สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย

สภาพทั้งปวงไม่ควรแก่การยึดมั่นถือมั่น

(จูฬตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๑๒/๔๓๔ เป็นต้น)

คนระลึกถึงความตาย ไม่ได้แปลว่าเขากำลังอกสั่นขวัญหาย พยายามวิ่งหนีความตาย หรือหดหู่ หมดกำลังใจ นั่งนอนรอความตาย

การเจริญมรณสติ กับการซบเซานอนรอความตาย เป็นคนละเรื่องกัน

การบอกว่า-อย่าไปคิดถึงมัน ลืมๆ มันไปเสีย หาเรื่องอื่นมาทำดีกว่า … ผมว่านั่นคือการหลบปัญหา ซึ่งไม่ใช่วิธีของพระพุทธเจ้า

วิธีของพระพุทธเจ้า คือ ทำความรู้จักกับปัญหา เผชิญหน้ากับมันอย่างรู้เท่าทัน ทำเหตุให้สมควรแก่ผล และยอมรับผลที่สมควรแก่เหตุ

คนที่รู้ว่าคนที่รักตายจากไปเมื่อวาน แต่วันนี้ยังคงทำงานประจำวันได้ตามปกติ

กับคนที่ทำงานประจำวันได้ตามปกติ เพราะยังไม่รู้ว่าคนที่รักตายจากไปเมื่อวาน

คนไหนไว้วางใจได้มากกว่ากัน คนไหนปลอดภัยกว่ากัน

การเอาสภาพที่เกิดขึ้นมาตรึกตรองให้เห็นความเป็นจริงอย่างที่ผมสาธยายมาทั้งหมดข้างต้นโน้น ไม่ได้แปลว่าผมหวนละห้อยโหยหาอดีต แล้วขัดเคืองกับปัจจุบัน

ผมเพียงพยายามชวนให้ทำความเข้าใจกับสภาพความเป็นจริง เพื่อใช้สติปัญญากำหนดท่าที่ของเราต่อปัญหานั้นๆ ให้ถูกให้ควร

ต่อจากนั้น เมื่อเห็นว่าควรทำอะไร ควรทำอย่างไร หรือไม่ควรทำอะไรอย่างไร ก็จะได้ช่วยกันลงมือทำ หรือช่วยกันไม่ทำ ตามที่ถูกที่ควร และตามที่แต่ละคนสามารถทำได้

การคิดว่า อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน เพราะมันไม่เที่ยง และทุกอย่างไม่ควรยึดมั่นถือมั่น – แล้วไม่ทำอะไรเลย

แบบนี้ นอกจากจะเข้าข่ายไม่รับผิดชอบแล้ว ก็น่าจะไม่เรียกว่าความฉลาดหรอกครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

๑๔:๐๙

—————-

ภาพประกอบ: จาก google

……………..

ตอน 13 ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1594375980656133

……………..

ตอน 11 นักฉวยโอกาสที่น่ารังเกียจ

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1540125379414527

……………..

—————-

บทความชุด “จงเรียกมันว่าความเสื่อม”

ตอน 11 นักฉวยโอกาสที่น่ารังเกียจ

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1540125379414527

ตอน 10 ท่าทีของเพื่อนแท้

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1534716069955458

ตอน 9 คุณสมบัติของผู้บริหารบ้านเมือง

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1530504263709972

ตอน 8 ความโง่ของคนฉลาด

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1528639600563105

ตอน 7 แผน “กันที่ไว้รอท่า”

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1527902893970109

ตอน 6 ต้นแบบของคนดี

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1524320874328311

ตอน 5 นะจังงัง

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1523441074416291

ตอน 4 กฎหมายคือพระเจ้า

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1520872188006513

ตอน 3 มุมที่ลืมมอง

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1519124098181322

ตอน 2 โยนหินถามทาง

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1517321381694927

ตอน1 เป็นพระทำงี้ได้ไง

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1516605941766471

———–

ลูกเก็บ

 น. การบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดา, เก็บ หรือ ทางเก็บ ก็ว่า.

เก็บ ๒

 น. เรียกวิธีการบรรเลงเครื่องดนตรีดำเนินทำนองทั่วไปที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นมากกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดาว่า ทางเก็บ.

เก็บ ๒

น. วิธีบรรเลงเครื่องดนตรีดำเนินทำนองทั่วไปที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกให้มีพยางค์ถี่ขึ้นมากกว่าทำนองเนื้อเพลงธรรมดา, ทำนองเก็บ หรือ ลูกเก็บ ก็เรียก.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *