บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๙]

—————————–

ตอนที่ ๕ – หน้าที่ของชาวพุทธ

———

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่พระสงฆ์ทำลงไป และในส่วนที่ชาวบ้านวินิจฉัยไม่ได้ว่าผิดหรือถูก มีสาเหตุใหญ่มาจากการที่ชาวพุทธทุกวันนี้ส่วนมากไม่ศึกษาสอบสวนค้นคว้าเรียนรู้พระธรรมวินัย

ฝ่ายชาวบ้านมักอ้างว่าต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลา

แต่ข้ออ้างที่สำคัญคืออ้างว่า-ไม่ใช่หน้าที่

เชื่อหรือไม่ว่า-แม้แต่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของทางราชการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรงแท้ๆ ก็พลอยอ้างไปด้วยว่าไม่ใช่หน้าที่

เชื่อหรือไม่ว่า-เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรงแท้ๆ อันมีสำนักงานกระจายอยู่ทุกจังหวัดนั้น ส่วนมากขาดความรู้ในหลักพระธรรมวินัย ไม่ต้องพูดถึงเจ้าหน้าที่คนสุดท้ายในสำนักงาน นับตั้งแต่ตัวหัวหน้าสำนักงานลงไปนั่นเลย

ชาวบ้านทั่วไป-โดยเฉพาะชาวพุทธระดับรากหญ้า-นับตั้งแต่ที่มีบ้านเรือนอยู่รอบๆ วัดนั่นเลย ล้วนขาดความรู้ที่ถูกต้องในหลักพระธรรมวินัย

และผู้บริหารการพระศาสนาของเราก็ไม่มีนโยบาย หรืออาจจะมีบ้าง แต่ก็ไม่เคยมุ่งมั่นที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชาวพุทธระดับรากหญ้าของเรามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพระธรรมวินัยในระดับที่สามารถวินิจฉัยถูกผิดเบื้องต้นได้พอสมควร-ให้จงได้

ลองนึกดูเถิด ในหมู่ฆราวาสญาติโยมที่ช่วยกันคิดอ่านทำให้เกิดขบวนแห่กฐินที่ยกมาเป็นประเด็นนั้น ตั้งแต่ตัวฆราวาสที่นั่งคานหามลงไปจนถึงคนเดินตามขบวนคนสุดท้าย ไม่มีใครสักคนเลยหรือที่จะเฉลียวใจหรือที่จะออกมาทักท้วงว่า อย่าให้พระสงฆ์ต้องมาร่วมอยู่ในขบวนเลย ไม่ต้องว่าถึงเดินตามคานหามสตรีหรอก แม้แต่เดินนำก็ไม่ควร-ถ้าไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระสงฆ์ (เช่นกรณีพระสงฆ์นั่งเสลี่ยงอ่านพระธรรมในพิธีบางอย่าง)

เพราะไม่เรียนจึงไม่รู้ และเพราะไม่รู้ พอมีกรณีใดๆ เกิดขึ้น ก็ได้แต่ร้องถามกันว่าผิดหรือถูก แต่ไม่มีใครตอบได้

นี่คือผลที่เกิดจากการคิดว่า การศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน

อันที่จริงจะต้องบอกว่า เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยนั่นเองจึงวางอารมณ์หรือวางแนวคิดผิดไป ทั้งนี้เพราะในตัวพระธรรมวินัยนั่นเองที่แสดงไว้ชัดเจนว่า พุทธบริษัททั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์มีภาระหน้าที่เท่าเทียมกันในการรักษาสืบทอดพระศาสนา

ขอนำข้อความจากมหาปรินิพพานสูตรในพระไตรปิฎก (ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๕) มาสรุปไว้ในที่นี้เพื่อยืนยันว่า คฤหัสถ์คืออุบาสกอุบาสิกาก็มีหน้าที่ในการรักษาพระศาสนาเท่าๆ กับพุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต

……..

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว พญาวสวัตดีมารได้เข้าไปกราบทูลว่า บัดนี้พระองค์ก็ได้ตรัสรู้สมความปรารถนาแล้ว ไม่มีกิจที่จะต้องทำอีกต่อไปแล้ว ขอให้ปรินิพพานเสียเถิด

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ขอเวลาประกาศธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สักระยะหนึ่งก่อน เมื่อพุทธบริษัทมีความรู้ความสามารถที่จะรักษาพระศาสนาสืบต่อไปได้แล้วพระองค์ก็จะปรินิพพาน

พระพุทธองค์เสด็จประกาศพระศาสนาอยู่ ๔๕ พรรษา จนมีพุทธบริษัทแพร่หลายพรั่งพร้อมแล้ว พญาวสวัตดีมารก็ได้เข้าไปกราบทูลทวงสัญญา

ตามคำของมารที่กราบทูล เป็นอันพระพุทธองค์ทรงยอมรับว่า บัดนี้พุทธบริษัทมีความสามารถที่จะรักษาพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไปได้แล้ว ก็จึงตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

คำของมารที่กราบทูลเฉพาะความตอนที่แสดงคุณสมบัติของพุทธบริษัทมีว่าดังนี้ –

………

เอตรหิ  โข  ปน  ภนฺเต  ภิกฺขู  ภควโต  สาวกา

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็บัดนี้ ภิกษุ (ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

วิยตฺตา เป็นผู้ฉลาด

วินีตา ได้รับแนะนำดีแล้ว

วิสารทา เป็นผู้แกล้วกล้า

พหุสฺสุตา เป็นพหูสูต

ธมฺมธรา เป็นผู้ทรงธรรม

ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

สามีจิปฏิปนฺนา เป็นผู้ปฏิบัติชอบ

อนุธมฺมจาริโน ประพฤติตามธรรม

สกํ  อาจริยกํ  อุคฺคเหตฺวา เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว

อาจิกฺขนฺติ  เทเสนฺติ  ปญฺญเปนฺติ  ปฏฺฐเปนฺติ  วิวรนฺติ  วิภชนฺติ  อุตฺตานีกโรนฺติ

ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นได้

อุปฺปนฺนํ  ปรปฺปวาทํ  สหธมฺเมน  สุนิคฺคหิตํ  นิคฺคเหตฺวา  สปฺปาฏิหาริยํ  ธมฺมํ  เทเสนฺติ

แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ข่มขี่ปรัปวาทที่เกิดขึ้นได้โดยสหธรรมเรียบร้อย

………

ความในพระไตรปิฎกถอดความออกมาเป็นหลักปฏิบัติหรือหน้าที่ของชาวพุทธได้ว่า –

๏ ศึกษาเล่าเรียน

๏ พากเพียรปฏิบัติ

๏ เคร่งครัดบำรุง

๏ มุ่งหน้าเผยแผ่

๏ แก้ไขให้หมดจด

หน้าที่เหล่านี้ต้องทำทั้งชาววัดและชาวบ้าน

แต่เรากลับบอกกันว่า การศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน

แล้วถ้าชาววัดคือพระภิกษุสามเณรก็ไม่เอาธุระกับการศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย (ดังที่กำลังเป็นไปอยู่ในบัดนี้) ไปเสียอีก พระศาสนาจะเป็นเช่นไร

การโยนภาระศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยไปให้พระสงฆ์ฝ่ายเดียวจึงเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง

ตัวชาวบ้านเองทำผิด ก็ไม่รู้

เห็นพระสงฆ์ทำผิด ก็วินิจฉัยไม่ได้

(ต้องโยนปัญหาไปให้คนอื่นวินิจฉัย เช่นโยนมาให้ทองย้อยวินิจฉัยเป็นต้น)

ถ้าไม่ปรับทัศนคติ “การศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน” เสียใหม่ การพระศาสนาของเราก็อวสานเร็วขึ้น

ทีนี้ดูฝ่ายพระสงฆ์ มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาทุกวันนี้ไม่ได้มีอุตสาหะในการที่จะขวนขวายศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยอย่างเป็นกิจสำคัญ

และการไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยซึ่งเป็นการละเลยหรือละทิ้งหน้าที่นี้กลับมองกันว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่เห็นเป็นความบกพร่อง ไม่รู้สึกว่าเป็นความเสียหาย

มิหนำซ้ำยังช่วยกันแก้แทนกันว่า นิสัย อัธยาศัย ความถนัด ความสามารถของแต่ละคนไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน จะมากะเกณฑ์ให้ทำอะไรได้เหมือนกันนั้นไม่ได้

ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรทำและขอให้ทำนั้นเป็นหน้าที่พื้นฐานแท้ๆ ไม่ใช่เรื่องเกินวิสัยเลย

ที่ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรก็อ้างดื้อๆ – ยุคเสื่อมมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะมาเอาอะไรกันนักกันหนา

พระภิกษุที่เดินในขบวนแห่กฐินตามที่ยกขึ้นเป็นประเด็นนี้ย่อมเป็นพยานในคำกล่าวนี้ เพราะถ้าศึกษาสอบสวนค้นคว้าเรียนรู้พระธรรมวินัยมาเป็นอย่างดีแล้ว พระคุณท่านก็จะไม่ทำเช่นนั้น

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๕:๕๘

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๘]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3440598406033872

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๐]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3443364045757308

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *