บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๑]

—————————–

ตอนที่ ๗ – คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา

———

การที่พวกเราอุบาสกอุบาสิกาก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัยด้วยนั้น ไม่ได้หมายความจะต้องทำตัวเหมือนพระหรือใช้ชีวิตเหมือนพระ

ไม่มีใครมาบังคับเราให้ต้องปฏิบัติตัวเหมือนพระ เรายังคงเป็นชาวบ้านธรรมดาเหมือนกับที่เป็นอยู่นี่แหละ เพียงแต่พัฒนาตัวเองให้มีคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกาให้พร้อม

สมบัติหรือคุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกามีอะไรบ้าง ก็ศึกษาจากพระธรรมวินัยนั่นเอง

ขอนำเรื่อง “อุบาสกธรรม” หรือคุณสมบัติของอุบาสก (หมายรวมถึงอุบาสิกาด้วย) ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกมาเสนอไว้ในที่นี้

(คำอธิบายภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ข้อ [259] และข้อ [260] ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ในที่นี้ขออนุญาตปรับแต่งเพิ่มคำบาลีลงไปด้วย)

………………….

อุบาสกธรรม ๕: ธรรมของอุบาสกที่ดี, สมบัติ หรือองค์คุณของอุบาสก อย่างเยี่ยม (qualities of an excellent lay disciple)

๑. สทฺโธ  โหติ.

มีศรัทธา (to be endowed with faith)

๒. สีลวา  โหติ.

มีศีล ( to have good conduct)

๓. อโกตุหลมงฺคลิโก  โหติ  กมฺมํ  ปจฺเจติ  โน  มงฺคลํ.

ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)

๔. น  อิโต  พหิทฺธา  ทกฺขิเณยฺยํ  คเวสติ.

ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)

๕. อิธ  จ  ปุพฺพการํ  กโรติ.

กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)

ที่มา: อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๕

………………….

“อุบาสกธรรม” อีกชุดหนึ่งมี ๗ ประการ ดังนี้

………………….

อุบาสกธรรม ๗: ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก (qualities conducive to the progress of a lay disciple)

๑. ภิกฺขุทสฺสนํ  น  หาเปติ.

ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ

(not to fail to see the monks)

๒. สทฺธมฺมสฺสวนํ  นปฺปมชฺชติ.

ไม่ละเลยการฟังธรรม

(not to neglect to hear the Teaching)

๓. อธิสีเล  สิกฺขติ.

ศึกษาในอธิศีล

(to train oneself in higher virtue)

๔. ปสาทพหุโล  โหติ  ภิกฺขูสุ  เถเรสุ  เจว  นเวสุ  จ  มชฺฌิเมสุ  จ.

มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ นวกะ และปูนกลาง

(to be full of confidence in the monks, whether elder, newly ordained or mid-term)

๕. อนุปารมฺภจิตฺโต  ธมฺมํ  สุณาติ  น  รนฺธคเวสี.

ไม่ฟังธรรมด้วยตั้งใจจะคอยเพ่งโทษติเตียน

(to listen to the Dhamma not in order to criticize)

๖. น  อิโต  พหิทฺธา  ทกฺขิเณยฺยํ  คเวสติ.

ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้

(not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)

๗. อิธ  จ  ปุพฺพการํ  กโรติ.

กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

(to do his first service in a Buddhist cause)

ที่มา: อังคุตรนิกาย สัตตกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๗, ๒๘

—————

เป็นเพราะไม่ศึกษาพระธรรมวินัย คุณสมบัติของตัวเองมีอะไรบ้างก็ไม่รู้

ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ก็เพราะฝังหัวกันผิดๆ มาว่า การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่ของพระ ไม่ใช่ของชาวบ้าน

ชาวบ้านคนไหน-เช่นผมเป็นต้น-ไปพูดเรื่องพระธรรมวินัย เรื่องความประพฤติของพระภิกษุสามเณร ก็จะมีคนบอกว่า –

ไม่ใช่ธุระของชาวบ้านสักหน่อย เอามาพูดทำไม

เรื่องของพระก็ให้พระท่านว่ากล่าวกันเอง

พระประพฤติไม่ถูกไม่ควร ท่านมีเจ้าคณะปกครองดูแลกันอยู่แล้ว ชาวบ้านไปยุ่งอะไรด้วย

ชาวบ้านตรวจสอบศีลของตัวเองดีแล้วหรือจึงไปเที่ยวว่าพระเณร

ว่างมากนักเรอะ

ตอนบวชอยู่น่ะประพฤติเรียบร้อยดีนักเรอะ

รู้ดีอย่างนี้น่าจะไปบวชนะ

รู้ดีนักสึกออกมาทำไม

ฯลฯ

ความเห็นเช่นนี้ก็มีต้นเหตุมาจากความเห็นผิดคิดว่า ความเป็นไปของพระศาสนาเป็นหน้าที่ของฝ่ายบรรพชิตข้างเดียว ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายคฤหัสถ์นั่นเอง

ในสำนวนไทยมีคำว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์”

เมื่อไม่กี่ปีก่อนในวงการบ้านเมืองของเราเคยมีคนผูกคำพูดขึ้นมาว่า –

“ไม่ได้นุ่งลายอย่าพูดการเมือง

ไม่ได้นุ่งเหลืองอย่าพูดการวัด”

พระเถระที่ดุๆ บางรูปยังเคยใช้คำว่า “พวกหัวดำ” ไม่ต้องมายุ่ง!

เหล่านี้ล้วนมีเหตุมาจากทัศนคติผิดๆ อันเกิดจากไม่ได้ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยให้เข้าใจนั่นแล้ว

จะต้องเลิกทัศนคติผิดๆ เช่นนี้

ชาวบ้านนั่นแหละต้องศึกษาพระธรรมวินัย ต้องศึกษาเรื่องของพระด้วย จะได้ปฏิบัติต่อพระได้อย่างถูกต้อง เห็นพระทำไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต้องสามารถทักท้วงได้ ไม่ใช่พลอยสนับสนุน หรือลงมือทำสิ่งที่ผิดวินัยร่วมกับพระเสียเอง

พระออกบิณฑบาตเงิน (รับเฉพาะเงิน ใครเอาอาหารใส่บาตรไม่รับ) คนก็ใส่กันทั่วไปหมด แล้วก็พากันหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าเอาเงินใส่บาตรนั้นเหมาะสมถูกต้องเพราะอย่างนี้ๆ

นี่ก็เกิดจากการที่ชาวบ้านไม่ศึกษาพระธรรมวินัย

ครั้นทำกันมากเข้า เห็นดีเห็นงามกันมากขึ้น หาเหตุผลมาสนับสนุนได้มากขึ้น การเอาเงินใส่บาตรกลายเป็นเรื่องดีงามถูกต้อง

พระพุทธบัญญัติถูกมองว่าไม่เข้ากับสภาพสังคม

สิกขาบทข้อนี้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเพราะล้าสมัยแล้ว

เรื่องรับเงินแม้จะผิดก็เป็นเรื่องเล็กน้อย

ซ้ำอ้างพุทธานุญาตเอามาสำทับเสียด้วยก็ยังได้ว่า ทรงมีพุทธานุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้

เห็นว่าสิกขาบทข้อนี้เล็กน้อยหรือล้าสมัยได้ข้อหนึ่ง ต่อไปก็จะลามไปถึงข้ออื่นๆ อีก และจะลามไปเรื่อยๆ จนหมดทุกสิกขาบท

เรื่องนี้พระอรหันตเถระท่านจำลองเหตุการณ์ให้ดูแล้วในการทำปฐมสังคายนา มีบันทึกไว้ในปัญจสติกขันธกะ คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐ ดังที่นำเสนอไว้ในบท “นำร่อง” ข้างต้น

ผมเชื่อว่า-รายละเอียดในเรื่องนี้พระภิกษุสามเณรและชาวบ้านสมัยนี้ส่วนมากไม่รู้

ที่ไม่รู้ก็เพราะไม่ได้ศึกษา

พระไตรปิฎกเล่มที่ผมอ้างก็หาอ่านได้ทั่วไป ไม่ใช่ของลี้ลับ ไม่ใช่ของต้องห้าม

แต่ไม่มีใครศึกษา

เมื่อไม่รู้จนด้านชินชาเข้าเสียแล้ว ต่อมาแม้มีใครยกมาบอกให้รู้ก็จะไม่รับรู้ มีพุทธบัญญัติก็มีไปสิ แต่ข้าพเจ้าจะทำอย่างนี้ ใครจะทำไม ใครๆ เขาทำกันทั้งนั้น

ขอย้ำว่า ชาวบ้านนั่นแหละก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัยด้วย และต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันทักท้วงด้วย-เมื่อเห็นพระเณรทำอะไรที่ไม่เหมาะ

การกระทำอย่างนี้ไม่ได้แปลว่า จะให้ฆราวาสปกครองพระอย่างที่ตั้งป้อมค้านกัน

ฆราวาสช่วยเหลือพระเป็นคนละอย่างกับฆราวาสที่คิดจะปกครองพระ

ต้องแยกให้ออก

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๖:๓๗

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๐]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3443364045757308

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๒]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3443628592397520

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *