บาลีวันละคำ

ปัญหาคม (บาลีวันละคำ 3,545)

ปัญหาคม

ไม่ใช่คำถามคมๆ

อ่านว่า ปัน-หา-คม

แยกศัพท์เป็น ปัญหา + อาคม

(๑) “ปัญหา

อ่านว่า ปัน-หา เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺหา” อ่านว่า ปัน-หา รากศัพท์มาจาก ปญฺห (ธาตุ = ถาม; ต้องการ) + (อะ) ปัจจัย

: ปญฺห + = ปญฺห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้อที่พึงถาม” (2) “ข้ออันคนอยากรู้” 

ปญฺห” ในบาลีก็คือที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “ปัญหา” นั่นเอง “ปญฺห” ในบาลีเป็นปุงลิงค์ ถ้าแจกวิภัตติสามัญ คือวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ ก็จะเป็น “ปญฺโห” พหูพจน์เป็น “ปญฺหา” 

ภาษาไทยไม่ใช้ “ปัญหะ” ตามรูปเดิมในบาลี และไม่ใช้ “ปัญโห” ตามรูปเอกพจน์ แต่ใช้เป็น “ปัญหา” ตรงกับพหูพจน์ในบาลี 

คิดให้เป็นปริศนาธรรม ก็เหมือนจะบอกว่า ธรรมชาติของปัญหาต้องมีมาก เรื่องมาก ยุ่งยากมากเสมอ

ปญฺห” “ปญฺโห”หรือ “ปญฺหา” คำที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา แต่มีความหมายมากกว่าที่เราคิด คือหมายถึง –

(1) คำถาม, ระบบคำถาม, แบบสอบถาม (a question, a system of questions, questionnaire)

(2) วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)

(3) การถาม, การสอบถาม, การไต่ถาม (asking, enquiring, questioning)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญหา : (คำนาม) ข้อสงสัย, ข้อขัดข้อง, เช่น ทําได้โดยไม่มีปัญหา, คําถาม, ข้อที่ควรถาม, เช่น ตอบปัญหา, ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาทางการเมือง. (ป.).”

(๒) “อาคม

บาลีอ่านว่า อา-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก อา + คมฺ (ธาตุ = ไป) + (อะ) ปัจจัย

: อา + คมฺ = อาคม + = อาคม แปลตามศัพท์ว่า “การมา” “สิ่งที่มา”

เสริมความรู้ :

อา” เป็นคำจำพวกที่เรียก “อุปสรรค” คือใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ

ในที่นี้ “อา” ใช้ในความหมายว่า “กลับความ

กลับความ” หมายความว่า คำที่อยู่หลัง (โดยมากเป็นธาตุ คือรากศัพท์) มีความหมายอย่างไร เมื่อมี “อา-” มานำหน้า ก็จะเปลี่ยนความหมายเป็นตรงกันข้าม เช่น –

ทา ธาตุ หมายถึง “ให้” ถ้ามี “อา” นำหน้า เป็น “อาทา”  เช่นคำว่า “อาทาน” ก็กลับความหมายจาก ให้ เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น เอา, รับ, จับ, ถือ

นี ธาตุ หมายถึง “นำไป” ถ้ามี “อา” นำหน้า เป็น “อานี” เช่นในคำว่า “อานีต” ก็กลับความหมายจาก นำไป เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น นำมา

ดังนั้น คมฺ ธาตุ หมายถึง “ไป” เมื่อมี “อา” นำหน้าเป็น “อาคม” ก็กลับความหมายจาก “ไป” เป็นตรงข้าม คือกลายเป็น “มา

แต่พึงทราบว่า คำที่ “อา” ไปนำหน้ามิใช่จะ “กลับความ” ไปหมดทุกคำ 

อา” อาจจะมีความหมายว่า “ทั่วไป” หรือ “ยิ่งขึ้น” ก็ได้ 

คำไหนจะกลับความหรือไม่กลับความ ขึ้นอยู่กับความหมายที่ลงตัวแล้วของคำนั้นๆ

อาคม” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การมา, การเข้าใกล้, บรรลุผล (coming, approach, result) 

(2) สิ่งที่คนอาศัย, ทรัพยากร, หนทาง, ที่อ้างอิง, แหล่งสำหรับอ้างอิง, ตำรา, คัมภีร์, พระบาลี (that which one goes by, resource, reference, source of reference, text, Scripture, Canon)

(3) กฎ, ข้อปฏิบัติ, วินัย, การเชื่อฟัง (rule, practice, discipline, obedience)

(4) ความหมาย, ความเข้าใจ (meaning, understanding)

(5) การใช้คืน (ซึ่งหนี้สิน) (repayment [of a debt])

(6) เป็นศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ = “เพิ่มเข้าไป”, พยัญชนะหรือพยางค์ที่เพิ่มขึ้นหรือใส่เข้าไป (as gram. = “augment”, a consonant or syllable added or inserted)

ตัวอย่างความหมายในข้อ (6) เช่น :

ยทิทํ (ยะ-ทิ-ทัง, ในบทสวดสังฆคุณ-ยทิทํ จตฺตาริ …) มาจากคำว่า ยํ + อิทํ จะเห็นว่าไม่มี ทหาร เมื่อสนธิกันควรจะเป็น “ยํอิทํ” หรือ “ยอิทํ” แต่เป็น “ยทิทํ” เพราะเพิ่ม ทหารลงไประหว่าง ยํ กับ อิทํ 

ทหาร ที่เพิ่มเข้าไปนี้คือ “อาคม” เรียกว่า ท-อาคม

จริต ประกอบด้วย จรฺ ธาตุ + ปัจจัย ควรเป็น “จรต” แต่เป็น “จริต” เพราะเพิ่มสระ อิ ที่ –– 

สระ อิ ที่เพิ่มเข้ามานี้คือ “อาคม” เรียกว่า อิ-อาคม

ในภาษาไทย “อาคม” อ่านว่า อา-คม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาคม : (คำนาม) เวทมนตร์, บางทีใช้คู่กับ คาถา เป็น คาถาอาคม; การมา, การมาถึง, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น มีนาคม คือ มีน + อาคม แปลว่า การมาถึงราศีมีน. (ป., ส.).”

ปญฺหา + อาคม = ปญฺหาคม (ปัน-หา-คะ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่มารวมแห่งปัญหา

ปญฺหาคม” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญหาคม” อ่านว่า ปัน-หา-คม

อภิปรายขยายความ :

ปญฺหาคม” = “ปัญหาคม” เป็นคุณศัพท์แสดงลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้านั้น “เป็นที่มารวมแห่งปัญหา” หมายความว่า ใครมีข้อสงสัยอะไร อยากรู้เรื่องอะไร ขัดข้องด้วยเรื่องใดๆ ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบได้ที่ไหน ไม่รู้ว่าจะไปถามใคร ก็ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมีคำตอบทุกคำถาม พระพุทธเจ้าพร้อมที่จะตอบทุกถาม ผู้ที่มาเฝ้าเพื่อถามข้อสงสัยก็คือผู้นำเอาปัญหามารวมไว้-เสมือนสายน้ำไหลมารวมกันที่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสามารถตอบได้ทั้งหมด ผู้นำคำตอบของพระองค์ไปปฏิบัติอย่างถูกต้องย่อมสามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จ

ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ พระพุทธเจ้าจึง “เป็นที่มารวมแห่งปัญหา” กล่าวอีกนัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักแก้ปัญหา ไม่ทรงปฏิเสธปัญหา ไม่มีปัญหาใดๆ ที่ทรงตอบไม่ได้

โดยนัยเช่นนี้ “ปญฺหาคม” = “ปัญหาคม” จึงหมายถึง ผู้มีความรอบรู้

ปญฺหาคม” มีใช้ในคัมภีร์  แต่ “ปัญหาคม” ยังไม่มีใช้ในภาษาไทย

เวลาจะกล่าวสรรเสริญหรือเจริญพระพุทธคุณ นอกจากถ้อยคำในบท “อิติปิ โส” เช่น อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น ที่เราคุ้นกันดีแล้ว ขอฝากคำว่า “ปญฺหาคโม = ปัญหาคม = ผู้ทรงเป็นที่มารวมแห่งปัญหา”กล่าวคือทรงมีความรู้รอบตอบคำถามได้ทุกข้อ-ไว้เป็นอลังการแห่งพระพุทธคุณอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เห็นปัญหาแล้วรู้คำตอบ นับว่าเด็ด

: แก้ปัญหาได้สำเร็จ จึงจะนับว่าเด็ดขาดจริงๆ

#บาลีวันละคำ (3,545)

25-2-65 

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *