บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๒]

—————————–

ตอนที่ ๗ – คุณสมบัติของอุบาสกอุบาสิกา (ต่อ)

———

ขอนำคำของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต จากหนังสือ “จาริกบุญ – จารึกธรรม” ตอน “ความยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ทั้งเจริญและเสื่อม” ส่วนหนึ่งมาเสนอไว้ที่นี้เพื่อได้โปรดช่วยกันตระหนัก

พึงตั้งใจสดับ –

…………………….

พระพุทธศาสนาในมือของพุทธบริษัท

การสูญสิ้นของพระพุทธศาสนานี้ เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่าหลักสำคัญที่สุดที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ก็คือ พุทธบริษัททั้ง ๔ ของเรา จะต้องมีความมั่นคงในหลักการของพระพุทธศาสนา และจะต้องสำนึกในความมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนา จะต้องยึดถือหลักการเป็นสำคัญ และพัฒนาตนเองให้เป็นชาวพุทธที่มีคุณภาพ

เวลานี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ คนที่มีชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนมักมีความรู้สึกคล้ายๆ จะแบ่งกัน เช่น ชาวบ้านก็มองว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบพระพุทธศาสนาคือพระ

เวลามีพระทำอะไรไม่ดี โยมก็บอกว่า เออ พระพุทธศาสนานี่อะไรกัน พระไม่ดี ไม่ได้ความ ไม่น่านับถือ ก็พาลจะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา หาได้คิดไม่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นของบริษัท ๔

ถ้าพระเสียแต่โยมยังอยู่ อุบาสก-อุบาสิกาก็ต้องรักษาพระพุทธศาสนาไว้ ยามใดที่พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำ อุบาสก-อุบาสิกาต้องเป็นหลักกลับมาช่วยฟื้นฟูหนุนให้มีพระดีมารักษาพระพุทธศาสนา

คติอย่างหนึ่งก็คือ การวางท่าทีต่อสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาให้ถูกต้อง เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นมา ชาวพุทธจะต้องมองอีกแบบหนึ่ง คือจะต้องมองว่า พระพุทธศาสนาเป็นสมบัติของชาวพุทธ เป็นสมบัติของประเทศชาติ ของสังคม และของเรา พระพุทธศาสนามีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติของเรา ได้ให้อะไรๆ แก่สังคมของเรามามาก ทำให้สังคมของเรามีวัฒนธรรม มีความเจริญรุ่งเรือง มีสันติสุขมานานแล้ว บัดนี้ พระพุทธศาสนาของเราตกต่ำ มีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เราชาวพุทธจะต้องช่วยเหลือกัน เราจะช่วยพระพุทธศาสนาของเราอย่างไรดี

เมื่อเกิดมีปัญหา ไม่ควรจะคิดว่า เอ้อ พระไม่ดีแล้ว พระพุทธศาสนาไม่ได้ความ แต่ควรจะคิดว่า เวลานี้ พระพุทธศาสนาของเราเพลี่ยงพล้ำ เราจะช่วยได้อย่างไร คือ ชาวพุทธต้องมองในแง่ว่าเราจะช่วยพระพุทธศาสนาของเราอย่างไร ถ้าตั้งท่าทีอย่างนี้ เราจะมีความเข้มแข็งขึ้น เท่าที่เป็นมาในอดีต ท่าทีของชาวพุทธเป็นอย่างนี้ เราจึงรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้

ในการที่จะรักษาพระพุทธศาสนานั้น นอกจากมีจิตสำนึกที่จะไม่ประมาท มีความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน และมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของด้วยแล้ว ตัวเราเองจะต้องมีคุณสมบัติที่จะรักษาพระศาสนาได้ด้วย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักนี้ไว้ให้แล้วในมหาปรินิพพานสูตรว่า พระองค์จะปรินิพพาน ต่อเมื่อพุทธบริษัททั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม ไม่ใช่แต่เฉพาะพระสงฆ์ ต้องมีคุณสมบัติ ๓ ข้อต่อไปนี้คือ (ที.ม.๑๐/๑๐๒)

๑. ในด้านส่วนตัว แต่ละคนจะต้องมีความแกล้วกล้ามั่นใจในธรรม ครบทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ

๑) รู้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

๒) ปฏิบัติตามหลักธรรมนั้นได้ถูกต้อง

๒. ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็มีความรู้เพียงพอ และมีเมตตาธรรม มีน้ำใจเผื่อแผ่ สามารถแนะนำสั่งสอนธรรมนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เช่น เป็นคุณพ่อคุณแม่ ก็เอาธรรมไปสั่งสอนลูก อบรมลูก เป็นครูอาจารย์ก็สั่งสอนลูกศิษย์ เป็นเพื่อนก็แนะนำแก่เพื่อน เป็นผู้ใหญ่ก็แนะนำแก่ผู้น้อย ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น เป็นการทำหน้าที่ต่อสังคมและต่อพระพุทธศาสนา

เป็นอันว่า คุณสมบัติประการที่สอง คือทำหน้าที่ต่อผู้อื่นด้วยความมีน้ำใจ และมีความสามารถที่จะแนะนำให้ความรู้ธรรมแก่เขาได้

๓. ในแง่หลักการ ก็สามารถรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาไว้ได้ เมื่อมีใครพูดจาผิดพลาด ปฏิบัติผิดพลาดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีวาทะกล่าวร้ายต่อพุทธศาสนา ทำให้พระธรรมวินัยคลาดเคลื่อน ต้องสามารถที่จะชี้แจงแก้ไขได้ ท่านเรียกว่า กำราบปรัปวาทได้

พุทธบริษัททุกคนถือว่ามีหน้าที่จะต้องศึกษา จนมีคุณสมบัติครบ ๓ อย่างนี้ ขอย้ำอีกทีหนึ่ง

๑. ในแง่ตนเอง ก็ทั้งรู้ และปฏิบัติได้ถูกต้อง

๒. ในแง่สัมพันธ์กับผู้อื่น ก็มีความรู้ความสามารถ และมีน้ำใจเมตตาที่จะเผื่อแผ่ให้ความรู้ธรรมแก่เขา

๓. ในแง่หลักการ ก็สามารถรักษาหลักการของพระพุทธศาสนาชี้แจงแก่ผู้ที่มาพูดกล่าวร้าย หรือแก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อพระพุทธศาสนาได้

ถ้าทุกคนที่เป็นชาวพุทธ อยู่ในพุทธบริษัท ๔ เป็นอุบาสิกา เป็นอุบาสก เป็นภิกษุณี เป็นภิกษุ ที่มีความสามารถเช่นนี้ แล้วช่วยกันรับผิดชอบ ก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้แน่นอน เราจะไม่มีปัญหา

แต่เมื่อใดความเสื่อมเกิดขึ้น และรุกเข้ามาจนถึงจุดศูนย์กลาง กล่าวคือ แม้แต่ความรู้และการปฏิบัติต่อพระพุทธศาสนาที่เป็นส่วนของพระเองก็พลอยคลาดเคลื่อน หรือพระเองก็ไม่มีคุณสมบัติ เมื่อนั้นพระพุทธศาสนาก็จะเสื่อมโทรมลง

…………………….

จาริกบุญจารึกธรรม ตอน “ความยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ทั้งเจริญและเสื่อม”

โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

พิมพ์ครั้งที่ ๕๒: กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หน้า ๑๐๙-๑๑๑

…………………….

ท่านว่า “ยามใดที่พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำ อุบาสก-อุบาสิกาต้องเป็นหลักกลับมาช่วยฟื้นฟูหนุนให้มีพระดีมารักษาพระพุทธศาสนา

ไม่ใช่ปล่อยเฉย

อ้างว่าไม่ใช่หน้าที่

อ้างว่าพระเณรประพฤติไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องของพระ

ท่านมีเจ้าคณะปกครองดูแลกันอยู่แล้ว ให้ท่านจัดการกันเอง

เราชาวบ้านอย่าเข้าไปยุ่ง

ขอแย้งย้ำว่า-เราชาวบ้านต้องเข้าไปยุ่งด้วยครับ แต่ต้องอยู่ในกรอบขอบเขตที่เหมาะสม ต้องทำด้วยเมตตาไมตรีจิต

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องอย่าหย่อนความเคารพทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ตรงความเคารพพระสงฆ์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจนี่แหละที่ผมสังเกตเห็นว่า ชาวเราทุกวันนี้หย่อนกันมากๆ

สมัยก่อน เห็นพระเดินสวนมา เรานั่งลง ประนมมือ รอจนพระท่านผ่านไปแล้วจึงลุกขึ้นไป

ต่อมา สภาพถนนหนทางไม่อำนวย เห็นพระเดินสวนมา เราแค่หลีกทาง หยุดยืนประนมมือให้ท่านผ่าน

สมัยนี้ สภาพสังคมไม่เอื้ออำนวย เห็นพระเดินสวนมา เราแค่หลีกทางให้ท่านด้วยกิริยาเคารพ ก็สามารถทำได้

แต่คนส่วนมากในสมัยนี้ก็ไม่ทำ

ซ้ำเดินทื่อเข้าใส่

พระต้องหลีกให้โยม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของการหย่อนความเคารพ

สังฆคารวตาหายไปจนหมดสิ้น

ในขณะที่มีข้ออ้างสารพัด

ที่ได้ยินอ้างกันประจำก็คือ-พระแบบนี้ไม่อยากไหว้ให้เสียมือ

โบราณท่านชี้ทางออกไว้ให้แล้วในคำที่ท่านพูดกันมาว่า

“ไม่อยากไหว้คน ก็ให้นึกเสียว่าไหว้ผ้าเหลือง”

ผ้าเหลือง-ผ้ากาสาวพัสตร์เป็นธงชัยของพระอรหันต์

ถวายสังฆทาน แม้พระที่มารับถวายจะเป็นพระทุศีล แต่เมื่อผู้ถวายตั้งใจจำนงตรงไปถึงพระอริยสงฆ์ พระพุทธองค์ยังตรัสรับรองว่า สังฆทานนั้นย่อมมีอานิสงส์นับไม่ถ้วน-ยิ่งกว่าทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะองค์พระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำ

ไหว้ธงชัยของพระอรหันต์ แม้ผู้ทรงธงชัยนั้นจะเป็นผู้ทุศีล แต่เมื่อผู้ไหว้ตั้งใจจำนงตรงไปถึงพระอรหันต์ การไหว้นั้นย่อมเป็นบุญประเสริฐแก่ผู้ไหว้

เราชาวบ้านจึงควรต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบร่วมกับพระ

แต่ต้องไม่หย่อนความเคารพทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๗:๑๗

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๑]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3443554945738218

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑๓]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3443703475723365

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *