บาลีวันละคำ

ชั่วกาลปาวสาน – ไม่มี (บาลีวันละคำ 2,726)

ชั่วกาลปาวสาน – ไม่มี

มีแต่ “ชั่วกัลปาวสาน”

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านข้อความของญาติมิตรท่านหนึ่ง พบคำที่ท่านเขียนว่า “ชั่วกาลปาวสาน”

ญาติมิตรท่านนี้มีความรู้ทางภาษาดีมาก ไม่ทราบว่าท่านสะกดอย่างนี้เพราะเห็นว่าถูกต้อง หรือท่านรู้ว่าคำที่ถูกต้องสะกดอย่างไร แต่ท่านจงใจสะกดอย่างนี้ด้วยเจตนาบางอย่าง

ขอถือโอกาสอธิบายคำนี้เพื่อประโยชน์แก่ญาติมิตรทั่วไป

……………

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “กัลปาวสาน” บอกไว้ว่า –

กัลปาวสาน : (คำนาม) ที่สุดแห่งระยะเวลากัลป์หนึ่ง คือ ช่วงเวลา ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์. (ส. กลฺป + อวสาน).”

กัลปาวสาน” อ่านว่า กัน-ละ-ปา-วะ-สาน แยกศัพท์เป็น กัลป + อวสาน

(๑) “กัลป

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “กปฺปฺ” (กับ-ปะ) รากศัพท์มาจาก กปฺปฺ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: กปฺปฺ + = กปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขากำหนดขึ้น

กปฺป” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง คือ –

(1) เหมาะสม, สมควร, ถูกต้อง, เหมาะเจาะ (fitting, suitable, proper)

(2) จุดสีดำเล็กๆ (a small black dot)

(3) ทำเลศนัย (a making-up of a trick)

(4) คำสั่ง, คำสั่งสอน, กฎ, ข้อปฏิบัติ, มรรยาท (ordinance, precept, rule; practice, manner)

(5) เวลาที่แน่นอน (a fixed time); เวลาที่กำหนดไว้ชั่วกัปหนึ่ง (time with ref. to individual and cosmic life)

บาลี “กปฺป” สันสกฤตเป็น “กลฺป” เราใช้อิงสันสกฤสตเป็น “กัลป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กัลป-, กัลป์ : (คำนาม) กัป, อายุของโลกตั้งแต่เมื่อพระพรหมสร้างเสร็จจนถึงเวลาที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ซึ่งได้แก่ช่วงเวลากลางวัน วันหนึ่งของพระพรหม คือ ๑,๐๐๐ มหายุค (เท่ากับ ๔,๓๒๐,๐๐๐,๐๐๐ ปีมนุษย์) เมื่อสิ้นกัลป์ พระอิศวรจะล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ โลกจะไร้สิ่งมีชีวิตและอยู่ในความมืดมนจนถึงรุ่งเช้าของวันใหม่ แล้วพระพรหมก็จะสร้างโลกเป็นการขึ้นต้นกัลป์ใหม่ โลกจะถูกสร้างและถูกทำลายเช่นนี้สลับกันตลอดอายุของพระพรหม ทั้งนี้ตามคติของพราหมณ์, บางทีใช้เข้าคู่กับคํา กัป เช่น ชั่วกัปชั่วกัลป์ นานนับกัปกัลป์พุทธันดร. (ส.; ป. กปฺป).”

(๒) “อวสาน

บาลีอ่านว่า อะ-วะ-สา-นะ รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง) + สา (ธาตุ = จบ, สิ้นสุด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น “อน” (อะ-นะ)

: อว + สา = อวสา + ยุ > อน = อวสาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การสิ้นสุดลง” หมายถึง การจบลง; การสิ้นสุด, การจบเสร็จ, การลงเอย (stopping ceasing; end, finish, conclusion)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อวสาน : จบ, สิ้นสุด; การสิ้นสุด, ที่สุด. (ป., ส.).”

อวสาน” มักเขียนผิดเป็น “อวสานต์

อวสานต์” อาจแยกศัพท์เป็น อวสา = จบ + อันต = ที่สุด = อวสานต์ (ขอย้ำว่าเขียนผิด ไม่มีศัพท์เช่นนี้) = ที่สุดของจบ > เวลาของการจบนั้นสิ้นสุดลงแล้ว ต่อจากนี้ไปจะเป็นเวลาของการไม่จบ > ดำเนินต่อไป > ยังไม่จบ

เพราะฉะนั้น โปรดทราบว่า “อวสาน” ไม่ต้องมี ต์ การันต์

กปฺป + อวสาน = กปฺปาวสาน > กัลปาวสาน แปลตามศัพท์ว่า “การสิ้นสุดแห่งกัป

เป็นอันว่าในภาษาไทย มีแต่คำว่า “กัลปาวสาน” ไม่มี “กาลปาวสาน

กัลป” อาจพูดลากเสียงเป็น “กาลป” แต่เวลาเขียนจะสะกดแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีรูปคำเช่นนี้

กัลป” คำนี้ ไม่ใช่คำเดียวกับ “กาล” ที่หมายถึงกาลเวลา

ชั่วกาล” มี เช่น “ชั่วกาลนาน” หมายถึงตลอดเวลาอันยาวนาน

แต่ “ชั่วกาลปาวสาน” ไม่มี มีแต่ “ชั่วกัลปาวสาน

จะบอกว่า ชั่วกาล + ปาวสาน ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะ “ปาวสาน” ไม่รู้ว่ามาจากคำอะไร

สรุปว่า ถ้าจะเขียนคำนี้ โปรดสะกดเป็น “ชั่วกัลปาวสาน” ไม่ใช่ “ชั่วกาลปาวสาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน

: ก็ต้องทุกข์ไปชั่วกัลปาวสาน

#บาลีวันละคำ (2,726)

29-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย