บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๗]

—————————–

ตอนที่ ๓ – กรอบของพระภิกษุสามเณร

———

พึงทราบและยอมรับด้วยว่า ในบ้านเมืองของเรานี้พระภิกษุสามเณรต้องอยู่ในกรอบอย่างน้อยก็ ๔ กรอบ

๑ พระธรรมวินัย

๒ คำสั่งคณะสงฆ์

๓ กฎหมายบ้านเมือง

๔ จารีตประเพณี

ทั้ง ๔ กรอบนี้ พระธรรมวินัยสำคัญที่สุด อีก ๓ กรอบแม้จะสำคัญเพียงไรก็ต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัย

ที่มีปัญหาเยื้องแย้งบ่อยๆ ก็คือ จารีตประเพณี ซึ่งควรทำความเข้าใจให้ถูก

หลักของจารีตประเพณีก็เช่นเดียวกับกรอบอื่นๆ คือต้องไม่ขัดกับพระธรรมวินัย

พระสงฆ์ในบ้านเมืองเรามีจารีตบางอย่างที่ต่างจากพระสงฆ์ในบ้านเมืองอื่น ตัวอย่างเช่น –

พระไทยต้องโกนคิ้ว: หลักพระธรรมวินัยบอกแต่เพียงภิกษุต้องปลงผม โกนหนวด ไม่ได้กำหนดให้โกนคิ้ว

การโกนคิ้วไม่ได้กำหนดไว้ในพระธรรมวินัยก็จริง แต่พระธรรมวินัยก็ไม่ได้ห้ามโกนคิ้ว การโกนคิ้วจึงไม่ได้ขัดพระธรรมวินัย แต่เข้าหลัก “เกินดีกว่าขาด”

จะอ้างว่าเป็นการบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติ ก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะนี่เป็นการบัญญัติสิ่งที่เกื้อกูลแก่พระธรรมวินัย มิใช่ขัดขวางพระธรรมวินัย (เรื่อง “บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติ” นี้ ถ้าอ้างกันจริงๆ พระสงฆ์ปัจจุบันต้องกลับไปอยู่ในยุคพุทธกาล เพราะทุกวันนี้พระสงฆ์นำสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันมากมาย แต่นี่เป็นประเด็นย่อยที่แฝงอยู่ ขอตัดออกไป)

เพราะฉะนั้น แม้พระธรรมวินัยจะไม่ได้กำหนดให้โกนคิ้ว แต่เมื่อบวชในคณะสงฆ์ไทยก็ต้องโกนคิ้วตามจารีตของสงฆ์ไทย

พระไทยใช้ผ้ารับประเคนสิ่งของจากสตรี: ในพระวินัยบอกว่า เมื่อรับประเคนสิ่งของ (ไม่ว่าจากบุรุษหรือสตรี) จะรับด้วยกาย (เช่นใช้มือรับโดยตรง) ก็ได้ รับด้วยของเนื่องด้วยกาย (เช่นใช้ผ้าหรือสิ่งอื่นรองรับ) ก็ได้

ตามหลักนี้ พระสงฆ์สามารถรับของ-ส่งของจากมือสตรีได้โดยตรง

แต่เพื่อป้องกันร่างกายสัมผัสกันเพราะอาจพลั้งเผลอ คณะสงฆ์ไทยจึงใช้วิธี “ตัดไฟแต่หัวลม” คือสละสิทธิ์ที่จะรับด้วยกายโดยตรง แต่ขอใช้วิธีรับด้วยของเนื่องด้วยกายวิธีเดียว

การที่พระวินัยอนุญาตไว้ แต่ไม่ใช้สิทธิ์ ย่อมสามารถทำได้ ขอให้นึกเทียบกับข้าราชการมีสิทธิ์ลาพักร้อนหรือลาพักผ่อนประจำปี แต่เพราะความจำเป็นบางประการ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ เจ้าตัวอาจสละสิทธิ์งดลาพักร้อนเฉพาะคราวใดคราวหนึ่งก็ได้ ข้าราชการที่อุทิศเวลาให้แก่ทางราชการทำเช่นนี้กันทั่วไป

เพราะฉะนั้น เมื่อบวชในคณะสงฆ์ไทยก็ต้องใช้ผ้ารับประเคนของจากสตรีเพียงวิธีเดียวตามจารีตของสงฆ์ไทย

ขอตั้งข้อสังเกตแทรกไว้ตรงนี้ว่า ณ วันนี้พระเณรรับ-ส่งของโดยตรงจากมือสตรีมีให้เห็นชุกชุมขึ้น-พอๆ กับพระขับรถ นี่คือความย่อหย่อน ความประมาท และความมักง่าย เป็นการค่อยๆ ทำลายจารีตของตัวเองอย่างเลือดเย็น

อย่าอ้างพระพม่าพระลังกาหรือพระที่ไหนๆ เพราะที่นี่คือสังคมไทย

ที่ว่ามานี้คือตัวอย่างสิ่งที่เรียกว่า “จารีตประเพณี”

และที่พึงตระหนักด้วยก็คือ กรอบทุกกรอบเป็นกติกาของสังคมหรือองค์กร เมื่อเป็นสมาชิกของสังคมหรือองค์กรใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคมหรือองค์กรนั้น จะเอาความเห็นหรือความชอบไม่ชอบส่วนตัวมาอ้างไม่ได้

กฎกติกานั้นๆ จะมีเหตุผลมีความเป็นมาอย่างไร ใครอยากรู้ก็ศึกษาสืบค้นได้ แต่ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างได้ว่าเหตุผลความเป็นมาเช่นนั้นๆ ฟังไม่ขึ้น ไม่สมควรที่จะถือปฏิบัติอีกต่อไป

อ้างอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเราผ่านขั้นตอนนั้นมาแล้ว เรากำลังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตาม ถ้าจะแก้ไขในข้อใดๆ ก็ต้องพร้อมใจกันแก้ในระดับสังคมหรือระดับองค์กร ไม่ใช่แก้ตามความพอใจส่วนตัวของใคร

ถ้าเข้าใจหลักข้อนี้ ก็ไม่ต้องเถียงกันหรือไม่ควรต้องโต้แย้งว่า พระวินัยอนุญาตให้ทำได้ ไม่ผิด

ไม่ผิดพระวินัยก็จริง แต่ผิดจารีตประเพณีของสงฆ์ไทยอันเกื้อกูลแก่พระวินัย

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๓:๒๑

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๖]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3440236552736724

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๘]

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3440598406033872

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *