บาลีวันละคำ

กลาโหม (บาลีวันละคำ 427)

กลาโหม

อ่านว่า กะ-ลา-โหมฺ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “กลาโหม” ไว้ว่า –

1. ชื่อกรมที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยโบราณ มีสมุหพระกลาโหมเป็นประธาน

2. ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ

3. การชุมนุมพลรบ

มีปัญหาว่า คำว่า “กลาโหม” มาจากภาษาอะไร ?

1. บางท่านว่า กลา + โหมกลา” แปลว่า ส่วน, เสี้ยวที่สิบหกของพระจันทร์โหม” คำไทย แปลว่า ทำให้แรงขึ้น (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)

2. บางท่านว่า “กลาโหม” เป็นพิธีของพราหมณ์ แปลว่า “กองไฟ” เวลาจะไปทัพต้องทำพิธีนี้ จึงเอามาใช้เป็นคำเกี่ยวกับทหาร (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)

3. บางท่านว่า “กลา” เป็นคำสันสกฤต “โหม” คำไทย แปลว่า รบกลาโหม” คือกองรบ (พระวรเวทย์พิสิฐ รวบรวม)

4. บางท่านว่า มาจากบาลีว่า“กลห” (กะ-ละ-หะ) แปลว่า วิวาท, ทะเลาะกัน, วุ่นวาย, รบประจัญบาน (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

5. บางท่านว่า มาจากคำเขมรว่า กฺรฬาโหมกฺรฬา” แปลว่า สังเวียน, ลาน, บริเวณ, ปริมณฑล, กระทงจีวร (ผ้าท่อนหนึ่งๆ ของจีวร มีลักษณะเหมือนกระทงนา ซึ่งมีรูปสี่เหลี่ยม)โหม” แปลว่า การบูชาไฟกฺรฬาโหม” แปลว่า “สังเวียนแห่งการบูชาไฟ” เขมรโบราณเวลาจะไปทัพ พวกพราหมณ์จะต้องทำพิธีนี้ ไทยรับธรรมเนียมนี้มาจากเขมร (จิตร ภูมิศักดิ์)

ขอเสนอคำบางคำในภาษาบาลีเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้ –

1. “กลา” (กะ-ลา) บาลีมีความหมาย 2 อย่างคือ (1) เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม (นัยเดียวกับที่ว่า “กฺรฬา” แปลว่า “กระทงจีวร” คือผ้าชิ้นเล็กๆ ที่ประกอบกันเป็นจีวรเต็มผืน) (2) อุบาย (an art), การหลอกลวง (a trick)

2. “กล” (กะ-ละ ไทยอ่านว่า กน กร่อนมาจาก “กลา”) พจน.42 บอกความหมายไว้ดังนี้

– การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล

– เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง

– เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล

– เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์ เช่น ช่างกล

– เช่น, อย่าง, เหมือน เช่น เหตุผลกลใด

– เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ

จะเห็นได้ว่า เป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “การหลอกลวง” นั่นเอง

ส่วนที่หมายถึงเครื่องจักรเครื่องยนต์ ก็สามารถ “ลากเข้าความ” ได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบกันเข้านั่นเองจึงเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์ อันเป็นความหมายของ “กลา” ที่ว่า “เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม

3. คำที่ออกมาจาก “กล” คำหนึ่งที่ชัดเจนมาก คือ “กลยุทธ์” (กน-ละ-ยุด) หมายถึงการรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่าง ๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้ “กล” ในคำนี้มีที่มาจากภารกิจของทหารโดยตรง

จะเห็นได้ว่า “กล-กลา” มีความหมายเกี่ยวกับกองทัพกองทหารได้ด้วย

4. “โหม” บาลีอ่านว่า โห-มะ แปลว่า เครื่องเซ่น, เครื่องบวงสรวง, การบูชา, การสังเวย, บูชายัญ, บูชาไฟ

ถ้า “กลาโหม” จะมาจากคำบาลี ก็แปลได้ว่า “พิธีเซ่นสรวงสังเวยในเวลาออกรบ” แล้วคลี่คลายกลายมาเป็นชื่อเรียกหน่วยงานของทหารดังที่ใช้ในปัจจุบัน

: รบกันด้วยกำลังความคิด มีผลศักดิ์สิทธิ์กว่าใช้กำลังอื่นใด

———————-

(เนื่องมาจากคำถามของ Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya

และขออภัยที่บาลีวันละคำวันนี้ยาวเกินปกติ)

บาลีวันละคำ (427)

16-7-56

ตอบคำถามของ

Surabhob Sanidvongs Na Ayuthaya

กลา = เสี้ยว, ส่วน (เทียบจากดวงจันทร์เต็มดวงซึ่งมี ๑๖ เสี้ยว) (ศัพท์วิเคราะห์)

กลียเต เอกาทินา สงฺขฺยายเตติ กลา ส่วนอันเขานับด้วย ๑ เป็นต้น

กลฺ ธาตุ ในความหมายว่านับ, คำนวณ อ ปัจจัย, อา อิต.

โหม = เครื่องเซ่น, เครื่องบวงสรวง, การบูชา, การสังเวย (ศัพท์วิเคราะห์)

หุยฺยเตติ โหโม วัตถุอันเขาบวงสรวง

หุ ธาตุ ในความหมายว่าบวงสรวง ม ปัจจัย พฤทธิ์ อุ เป็น โอ

หวนํ โหโม การบวงสรวง (เหมือน วิ.ต้น)

กลา (บาลี-อังกฤษ)

(เวท. กลา Vedic kalā *squel, to Lat scalpo, Gr. ska/llw, Ohg scolla, scilling, scala. ธา.ป. (no 613) อธิบาย กล ด้วย “สงฺขฺยาเน” The Dhtp. (no 613) expls kala by “sankhyāne.”)

๑. เสี้ยวเล็กๆ ของส่วนที่เต็ม a small fraction of a whole, = ๑ ใน ๑๖, ส่วนที่เล็กน้อยเหลือประมาณ generally the 16th part; the 16th part of the moon’s disk; often the 16th part again subdivided into 16 parts and so on: one infinitesimal part (see VvA 103; DhA ii.63),

๒. ศิลปะ, การหลอกลวง an art, a trick (ตามตัว. ส่วน. วาระ lit. part, turn)

โหม (บาลี-อังกฤษ)

(จาก หุ, ชุหติ) การสังเวย หรือของสังเวย oblation

ชุหติ = เท (ลงไปในไฟ), บูชายัญ, ถวาย, ให้, อุทิศ

กล, กล-

  [กน, กนละ-] น. การลวงหรือล่อลวงให้หลงหรือให้เข้าใจผิดเพื่อให้ฉงนหรือเสียเปรียบ เช่น เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม เช่น กลโกง; เรียกการเล่นที่ลวงตาให้เห็นเป็นจริงว่า เล่นกล; เครื่องกลไก, เครื่องจักร, เครื่องยนต์, เช่น ช่างกล.ว. เช่น, อย่าง, เหมือน, เช่น เหตุผลกลใด; เคลือบแฝง เช่น ถ้าจําเลยให้การเป็นกลความ. (กฎหมาย).

กลยุทธ์

  [กนละ-] น. การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่าง ๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้.

กลา

  [กะลา] (แบบ) น. เสี้ยวที่ ๑๖ แห่งดวงเดือน, ดวงเดือน; ระเบียบพิธีของการบูชา เช่น ไปคํานับศาลสุรากลากิจ. (อภัย), ใช้ว่า กระลา ก็มี. (ป., ส.).

โหม ๑, โหม-

  [โหมะ-] น. การเซ่นแก่เทพดาของพวกพราหมณ์โดยใช้เนยเผาในไฟ; การบูชายัญ, การเซ่นสรวงทั้งปวง. (ป., ส.).

โหม ๒

  [โหมฺ] ก. ระดม เช่น โหมกําลัง โหมไฟ.

โหมกรรม

  น. พิธีเซ่นสรวง. (ส. โหม + กรฺมนฺ).

โหมกูณฑ์

  น. พิธีพราหมณ์เกี่ยวแก่การบูชาไฟ. (ส.).

กลาโหม

  [กะลาโหมฺ] น. ชื่อกรมที่ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ในสมัยโบราณ มีสมุหพระกลาโหมเป็นประธาน; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ; การชุมนุมพลรบ.

พระวรเวทย์พิสิฐเคยประมวลความเห็นของนักปราชญ์ต่างๆ มาสรุปไว้แห่งเดียวกันว่า

 “กลาโหม ลองตัดคำนี้ออกเป็น กลาคำ ๑ โหมคำ ๑ กลา แปลว่า ส่วน เสี้ยวที่ ๑๖ ของพระจันทร์ ตามความหมายของภาษาบาลีอย่างหนึ่ง โหม คำไทยแปลว่า ทำให้แรงขึ้น เช่นโหมไฟและหักโหม รวมทั้ง ๒ คำก็ยังไม่ได้ความ มีบางท่านให้ความเห็นว่า กลาโหมเป็นพิธีของพราหมณ์แปลว่ากองไฟ เวลาจะไปทัพต้องทำพิธีนี้ และคำนี้โบราณเลยเอามาใช้เป็นคำเกี่ยวกับทหาร เช่น เจ้าพระยากลาโหมว่าฝ่ายทหาร กระทรวงกลาโหม กระทรวงทหาร บางท่านว่า กลา เป็นคำสันสกฤต โหมคำไทยแปลว่ารบ กลาโหมคือกองรบ”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า

“ได้ลองค้นดูในหนังสือพจนานุกรมภาษาบาลี ของอาจารย์ชิลเดอร์ พบคำ “กลาโหม” Kalaho อยู่ในนั้น แปลความว่า “วิวาท” Quarrel อย่างหนึ่ง ว่า “วุ่นวาย” Strife อย่างหนึ่ง ว่า “รบประจัญบาน” Battle อย่างหนึ่ง ดูสมกับที่เอามาใช้เป็นชื่อกรมฝ่ายทหาร”

ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน รวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า ๑๒๑ –๑๗๓

คำ “กระลา” เขมรปัจจุบันเขียน “กฺรฬา” พจนานุกรมแปลว่า ลาน, ตาราง อย่างตาหมากรุกเรียก “กรฺฬาเฌี ตฺรง” (เฌอ ตรง คือหมากรุก เขมรเรียกตามสันสกฤต จตุรงค์ แต่เพี้ยนไปจนถ้าแปลก็ขำคือ เฌอตรงแปลว่าต้นไม้ต้น) เสด็จในกรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากรทรงแปลคำนี้แปลว่า “สังเวียน” ซึ่งเป็นความหมายที่เหมาะเจาะทีเดียวในที่นี้กะลายังแปลเป็นไทยได้อีกหลายนัยแล้วแต่ความ จะหาคำแปลเฉพาะไม่ได้ บางแห่งต้องแปลว่าบริเวณ ปริมณฑล ที่ต้องแปลว่า กระทง ก็มีเช่น จีวรมี ๙ กระทง เขมรก็เรียก ๙ กฺรฬา อย่างไรก็ดี พระกระลาโหมก็คือ “พระสังเวียนแห่งการบูชาไฟ” เป็นความหมายที่ถูกต้องโดยศัพท์ไม่ผิดพลาด มิได้มีความหมายเป็นอย่างอื่น

“กฺรฬาโหม” ปรากฏในจารึกสดกกักธม ในหน้า ๔ แห่งศิลา บรรทัดที่ ๒๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย