บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย

ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๑๐) – สรุป

————————-

ผมคันคว้าหลักวิชาในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึง “ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย” หรือที่ตั้งเป็นคำถามว่า ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย ได้พบคำตอบในคัมภีร์ ดังนี้ –

(๑)

อภยสูตร คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๘๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่กลัวตายมี ๔ แบบ คือ –

๑ ผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะยานอยากในกายในกามทั้งหลาย ( = ของกู)

๒ ผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความเร่าร้อน ความทะยานอยากในกาย ( = ตัวกู)

๓ ผู้พิจารณาตนแล้วเห็นประจักษ์ว่าไม่ได้ทำชั่ว ทำแต่ความดี และเจริญธรรมเครื่องป้องกันความกลัวอยู่แล้วเป็นอันดี

๔ ผู้ที่หมดความสงสัยเคลือบแคลงในพระรัตนตรัย ปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจนประลุถึงจุดสูงสุดในพระสัทธรรม

(๒)

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ (ฉพฺพคฺคิยภิกฺขุวตฺถุ เรื่องที่ ๑๐๗) แสดงรายการ “สัตว์” ที่ไม่กลัวตายไว้ ๔ จำพวก คือ –

หตฺถาชาเนยฺโย = ช้างอาชาไนย

อสฺสาชาเนยฺโย = ม้าอาชาไนย

อุสภาชาเนยฺโย = โคอุสภอาชาไนย

ขีณาสโว = พระขีณาสพ

(๓)

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๖ (เปสการธีตุวตฺถุ เรื่องที่ ๑๔๓) แสดงเป็นพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าว่า คนที่หมั่นเจริญมรณสติอย่างถูกวิธีย่อมไม่กลัวตาย

…………………

หลักการก็คือ คำตอบที่พบในคัมภีร์ต้องยกขึ้นเป็นคำตอบหลัก หมายความว่า เมื่อมีการถามกันขึ้นว่า ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย ก็ต้องเอาผลการค้นคว้าในคัมภีร์เป็นหลักในการตอบก่อน

ต่อจากนั้น จะอ้างผลการค้นคว้าของใครที่ไหนอีก ถ้ามี ก็ยกมา

ต่อจากนั้นอีก ถ้าเราหรือใครมีความเห็นเป็นประการไร และถ้าปรารถนาจะแสดงความเห็นนั้น ก็มีสิทธิ์ทำได้อย่างเต็มที่

จะเห็นตามหรือเห็นต่าง ก็แสดงได้อย่างเต็มที่

หรือใครจะขลังจัด ประกาศความเห็นของตนยกเป็นศาสนาอย่างใหม่อีกศาสนาหนึ่งแยกออกไปจากพระพุทธศาสนา ก็ย่อมทำได้เต็มที่เช่นกัน แต่ควรทำอย่างผู้กล้าหาญไม่กลัวตาย อย่าทำแบบกางมุ้งเล็กในมุ้งใหญ่

…………………

คำตอบที่พบทั้ง ๓ แห่งนี้ เป็นผลการค้นคว้าในเวลาจำกัด ถ้าค้นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ให้ละเอียดต่อไปอีก อาจพบคำตอบในที่อื่นๆ อีก

งานศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยเป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุสามเณร

เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทนั่นแหละ ใช่ แต่น้ำหนักโดยตรงอยู่ที่พระภิกษุสามเณร

คำตอบที่พบทั้ง ๓ แห่งนั้นควรเป็นผลการค้นพบของพระภิกษุสามเณรรูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปช่วยกันค้นได้มา ไม่ควรเป็นผลงานของนาวาเอกทองย้อยซึ่งเป็นชาวบ้าน มีกิจการงานที่จะต้องทำหลายอย่าง

คำถามคือ-แล้วพระภิกษุสามเณรทั้งหลายท่านมัวไปทำอะไรกันอยู่?

ถ้าพระภิกษุสามเณรไม่อุทิศชีวิตเพื่อการศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติพระธรรมวินัย พระศาสนาก็ไปไม่รอด

รอดไปได้ ก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ แต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ประทับตรา “พระพุทธศาสนา” แต่เนื้อในไม่ใช่

ท่านที่ติดตามผมมาตลอดจะเห็นว่า ผมพยายามขอร้องวิงวอนกราบไหว้ ตลอดจนกระตุ้น กระตุก กระทุ้ง กระทบ กระแทก ให้พระภิกษุสามเณรมีอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย-อันเป็นหน้าที่โดยตรง

จะศึกษาเรื่องอื่นทางอื่น มุ่งจะได้วุฒิได้ศักดิ์ได้สิทธิ์ทางวิชาการอื่นใด ผมไม่ขัดข้อง ไม่เคยโต้แย้ง และไม่เคยตำหนิใดๆ เลย (คงจำกันได้นะครับ ท่านอาจารย์ผู้หญิงสูงอายุนักบรรยายธรรมท่านหนึ่งออกมาตำหนิเรื่องพระไปเรียนทางอื่น ท่านถูกรุมกระทืบเสียอ่วมไปเลย)

ผมขอเพียงให้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย-อันเป็นหน้าที่โดยตรงด้วยเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณรที่เรียนบาลี ซึ่งรากเหง้าเป้าหมายโดยตรงก็คือเพื่อการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย เมื่อจบประโยคสูงสุดแล้ว-หรือแม้ยังไม่จบประโยคสูงสุด แต่มีความรู้มากพอแล้ว-ขอให้ใช้ความรู้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยต่อไป

แต่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ผลการตอบรับเป็น ๐

ดูแต่กระทู้-ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย-อันเป็นประเด็นทางพระธรรมวินัยโดยตรง-ที่ผมเอามาเขียนนี่ก็แล้วกัน มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาช่วยค้นคว้า หรือแม้แต่เข้ามาแสดงความเห็นกันสักเท่าไร?

นี่อีกไม่กี่วันคณะสงฆ์ก็จะเริ่มตรวจข้อสอบบาลี (แรม ๒-๖ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๐-๑๔ มีนาคม ๒๕๖๓) แล้วก็จะประกาศผลว่าปีนี้มีพระภิกษุสามเณรสอบเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้กี่รูป ตลอดจนฆราวาสญาติโยมที่เรียนบาลีศึกษาสอบได้กันกี่คน

แล้วเราก็ตื่นเต้น ชื่นชมยินดี อนุโมทนาสาธุการกันไปทั่วประเทศ

แต่เราไม่เคยสนใจใส่ใจติดตามถามไถ่กันว่าพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยมที่สอบได้เปรียญสูงสุดเหล่านั้นท่านได้เอาวุฒิความรู้ภูมิรู้ที่เรายกย่องชื่นชมไปศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยกันบ้างหรือเปล่า

ปัญหา ข้อสงสัย ข้อเคลือบแคลงเกี่ยวกับพระศาสนา – ทำอย่างนี้ใช่หรือไม่ ทำอย่างนั้นถูกหรือผิด – มีอยู่และเกิดขึ้นในหมู่ประชาชน-พูดได้ว่าแทบจะท่วมแผ่นดิน ในขณะที่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญสูงสุดก็มีอยู่แทบจะเต็มแผ่นดินเช่นกัน

หมอก็มาก คนป่วยก็มาก แต่การรักษาโรคไม่มี

เมื่อพูดเช่นนี้ เคยมีหลายท่านออกมาแก้ให้ว่า พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญสูงสุดแล้ว ท่านจะไปทำอะไรย่อมเป็นไปตามอัธยาศัยของท่าน จะไปบังคับไม่ได้ บางท่านพอใจจะปลีกตัวไปปฏิบัติธรรม หลายท่านมีภารกิจในการบริหารงานพระศาสนา แต่ที่มีอัธยาศัยรักการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยก็ต้องมีอยู่บ้างแหละ จะเอาอะไรกันนักหนาเล่า ได้เท่านี้ก็ดีถมไปแล้ว

ผมหมดปัญญาจะอธิบาย

เรื่อง-เรียนบาลีเพื่อค้นคว้าพระธรรมวินัย-นั้น คนชักจะไม่เข้าใจและไม่รับรู้แล้ว เวลานี้พระภิกษุสามเณรและผู้ที่เรียนบาลีต่างรับรู้กันแต่เพียงว่า-จุดหมายสูงสุดคือสอบประโยค ๙ ได้เท่านั้น สอบได้เมื่อไรก็ถือว่าจบภารกิจ เอาวุฒิประโยค ๙ ไปใช้สิทธิ์และศักดิ์ต่างๆ ตามปรารถนา

ยกเว้นเรื่องเดียวที่ไม่ทำ คืองานศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย

งานที่เป็นเป้าหมายแท้ๆ เป็นหัวใจแท้ๆ ของการเรียนบาลี กลับไม่ทำ

ความคิดของผมแบบนี้ ต้องขอเรียนไปยังท่านที่ทุ่มเทสนับสนุนส่งเสริมการเรียนบาลีว่า ผมไม่ได้ขัดแย้งกับท่านนะครับ ตรงกันข้าม ผมเห็นด้วย ไม่ใช่เห็นด้วยธรรมดา แต่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมเองก็สนับสนุนส่งเสริม เพียงแต่ว่าผมไม่ได้บอกใคร ผมทำเงียบๆ แต่เห็นข่าวเห็นใครสนับสนุนการเรียนบาลี ผมอนุโมทนาอย่างยิ่ง แอบชื่นใจไปด้วยทุกครั้ง

เพียงแต่ผมอย่างให้เราช่วยกัน “ต่อยอด” ที่มันเคยมี แต่บัดนี้มันด้วนหรือมันเรียวลงไป นั่นคือขอให้ช่วยกันกระตุ้นเตือน ช่วยกันชี้เป้าให้เห็นชัดไปพร้อมๆ กันว่า-เรียนบาลีก็เพื่อเอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ ซึ่งก็คือศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย-อันเป็นตัวพระศาสนา

ศึกษาค้นคว้าให้รู้จริงเข้าใจถูก

แล้วเอามาปฏิบัติให้ถูกต้อง

แล้วช่วยกันบอกกล่าวเผยแผ่ต่อไป

นี่คือภารกิจเพื่อการรักษาพระศาสนาโดยตรง

ยอดของการเรียนบาลีอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่ด้วนอยู่แค่สอบประโยค ๙ ได้

ถ้าเป็นถนน ก็คือช่วยกันยกเครื่องกีดขวาง หรือช่วยกันถากถางพุ่มไม้กอไม้ที่มันขึ้นปกคลุมปิดบัง แล้วชี้ให้เห็นชัดๆ ว่า ถนนยังมีต่อไปอีกยืดยาว ไม่ใช่สุดทางหรือเป็นทางตันอยู่แค่นี้

ถนนที่ผ่านมาเพียงแค่ ๙ กม.

แต่ที่ยาวต่อจากตรงนี้ไปยังมีอีกเป็นร้อยเป็นพัน กม.

อนึ่ง สำหรับพระภิกษุสามเณรนั้น การศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยไม่ใช่ “การศึกษาตามอัธยาศัย” อย่างที่มีคนออกมาช่วยแก้ต่างให้

หากแต่เป็น “การศึกษาภาคบังคับ”

จะเรียนทางอื่นศึกษาทางอื่น ก็ไม่ว่าอะไร

แต่พระธรรมวินัยต้องเรียน ต้องศึกษาค้นคว้าด้วย

ไม่ทำไม่ได้

ไม่ทำคือบกพร่อง

ขอเพียงให้ช่วยกันต่อยอด ช่วยกันย้ำ ช่วยกันปลุกจิตสำนึกกันอย่างนี้

ทั้งหลายทั้งปวงที่ผมเพียรพยายามกระตุ้นเตือนมา หากพระภิกษุสามเณรรูปใดได้อ่านแล้วเกิด “ฮึด” ขึ้นมา เบนเข็มการศึกษาบาลีมาที่-เพื่อการศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย

รวมทั้งพระภิกษุสามเณรที่สอบได้ประโยคสูงสุดแล้วเกิด “ฮึด” หันมาทำงานศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ –

แม้เพียงรูปเดียว —

จะขอกราบอนุโมทนาไปจนถึงปรโลกเลยขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๖:๐๕

Sueb Lim

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *