บาลีวันละคำ

มนุสภูโต (บาลีวันละคำ 3,758)

มนุสเทโว

มนุษย์เทวดา

เขียนแบบกึ่งไทยกึ่งบาลี แต่อ่านแบบบาลีว่า มะ-นุด-สะ-เท-โว

ประกอบด้วยคำว่า มนุส + เทโว

(๑) “มนุส”

เขียนแบบบาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย

: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”

(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)

: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”

คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”

บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”

ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”

ในที่นี้เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”

(๒) “เทโว”

รูปคำเดิมเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เทว- ๑ : (คำแบบ) (คำนาม) เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).”

มนุสฺส + เทว = มนุสฺสเทว (มะ-นุด-สะ-เท-วะ) แปลตามสำนวนคำสมาสว่า “มนุษย์ผู้เพียงดังเทวดา” หรือ “มนุษย์ผู้เพียงดังเทพ”

“มนุสฺสเทว” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มนุสฺสเทโว” อ่านว่า มะ-นุด-สะ-เท-โว

ในที่นี้ถือว่า “มนุสสเทโว” เป็นคำไทย แต่เขียนอิงรูปบาลี และตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง จึงเป็น “มนุสเทโว”

ที่ตัดตัวสะกดออกนั้น เทียบตามคำว่า “อุตฺตริมนุสฺสธมฺม” (อุด-ตะ-ริ-มะ-นุด-สะ-ทำ-มะ) ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “อุตริมนุสธรรม” “มนุสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่งเป็น “มนุส”

ขยายความ :

“มนุสเทโว” เป็นคำที่นิยมพูดกันในชุดของคำที่เรียกมนุษย์ประเภทต่างๆ เท่าที่ปรากฏในคัมภีร์มี 4 ประเภท คือ –

(1) มนุสเนรยิโก = มนุษย์สัตว์นรก

(2) มนุสเปโต = มนุษย์เปรต

(3) มนุสติรัจฉาโน = มนุษย์เดรัจฉาน

(4) มนุสภูโต = มนุษย์ที่แท้จริง

เฉพาะคำว่า “มนุสภูโต” นักบรรยายธรรมบางสำนักนิยมเรียกว่า “มนุสสมนุสโส” (มะ-นุด-สะ-มะ-นุด-โส) แปลว่า “มนุษย์ที่เป็นมนุษย์” แต่ในคัมภีร์บาลีท่านใช้คำว่า “มนุสภูโต” ไม่ได้ใช้คำว่า “มนุสสมนุสโส”

ส่วนมนุษย์ประเภท “มนุสเทโว” ก็ไม่ปรากฏในคัมภีร์บาลี แต่นักบรรยายธรรมนิยมเอ่ยถึงเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ถ้านับเป็นชุดตามที่นิยมเรียกกันก็จะเป็น มนุสเนรยิโก มนุสเปโต มนุสติรัจฉาโน มนุสสมนุสโส มนุสเทโว แต่เวลาบรรยายจริงอาจจะไม่ได้เรียงลำดับตามนี้

“มนุสเทโว” ตามที่อธิบายกันทั่วไปก็ว่า ตัวเป็นมนุษย์ก็จริง แต่มีคุณธรรมในจิตใจเสมอกับเทวดา

ในทางธรรม คุณธรรม 2 ข้อ คือหิริละและโอตตัปปะ ท่านเรียกว่า “เทวธรรม” มีความหมายว่า คุณธรรมของเทวดา หรือคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา

…………..

มีคาถาบทหนึ่ง ความว่า –

…………..

หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา

สุกฺกธมฺมสมาหิตา

สนฺโต สปฺปุริสา โลเก

เทวธมฺมาติ วุจฺจเร.

สัปบุรุษผู้สงบระงับ

ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ

ตั้งมั่นอยู่ในธรรมฝ่ายขาว

ท่านเรียกว่า “ผู้มีเทวธรรม” ในโลก.

ที่มา: เทวธรรมชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 6

…………..

“เทวธรรม” แปลว่า ธรรมที่ทำให้คนเป็นเทวดา มี 2 อย่าง คือ –

1. หิริ : ความละอายบาป, ละอายใจต่อการทำความชั่ว (Hiri: moral shame; conscience)

2. โอตตัปปะ : ความกลัวบาป, เกรงกลัวต่อความชั่ว (Ottappa: moral dread)

(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [23])

…………..

แถม :

อันที่จริง คำว่า “เทวดา” นั้น ภาษาบาลีก็มีคำตรงๆ คือ “เทวตา” (เท-วะ-ตา) ในที่นี้ใช้คำว่า “มนุสเทโว” ไม่ใช่ “มนุสเทวตา” ถ้าจะแปลให้ตรงศัพท์ก็น่าจะแปลว่า “มนุษย์เทพ” คำว่า “เทวธรรม” ก็น่าจะแปลว่า “ธรรมของเทพ”

ถ้าใช้คำว่า “เทพ” ก็จะสอดคล้องกับหลักคำสอนเรื่อง “เทพ 3” ทำให้เห็นตัว “มนุสเทโว” ชัดเจนขึ้น

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [82] อธิบายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

เทพ 3 (เทพเจ้า, เทวดา — Deva: gods; divine beings)

1. สมมติเทพ (เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระเทวี และพระราชกุมาร — Sammatideva: gods by convention)

2. อุปปัตติเทพ (เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาในกามาวจรสวรรค์ และพรหมทั้งหลายเป็นต้น — Upapatti-deva: gods by rebirth)

3. วิสุทธิเทพ (เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย — Visuddhi-deva: gods by purification)

…………..

ใครมีคุณสมบัติและมีคุณธรรมอันสมแก่ฐานะแห่ง “เทพ” แต่ละประเภท ก็สามารถเป็น “มนุสเทโว” ได้ทันที

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เทวดามีจริงหรือไม่มีจริงไม่ต้องกังขา

: คุณธรรมที่ทำให้คนเป็นเทวดามีอยู่จริง

#บาลีวันละคำ (3,758)

26-9-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *