บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย

ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๓)

————————-

เพราะตามไปอ่านคำตอบเรื่อง-ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย แล้วเจอแต่ความคิดเห็นของผู้ตอบ แต่ไม่เจอหลักวิชาที่ผู้ตอบไปค้นคว้าหามาตอบนั้นเอง ก็เลยเกิดเป็นประเด็นขึ้นในใจผม

ประเด็นก็คือ เพราะไม่ศึกษาสืบค้นหลักวิชา ก็จึงไม่รู้ว่า-เรื่องใครบ้างที่ไม่กลัวตายนี้ หลักวิชาท่านว่าไว้อย่างไร

และเพราะฉะนั้น ก็จึงไม่รู้ว่าความเห็นของตนนั้น “ตรง” หรือ “ต่าง” กับหลักวิชา

ทีนี้ พอมีใครเอาหลักวิชามาจับ แล้วปรากฏว่าหลักวิชานั้นไม่ตรงกับความเห็นของตน ก็เกิดเรื่อง

เรื่องที่เกิดก็คือ ไม่ยอมรับว่าความเห็นของตนนั้นผิด แต่เลี่ยงไปเรียกเสียโก้หรูว่าเป็น “ความเห็นต่าง” หรือ “ความคิดต่าง”

ครั้นแล้วก็มีคนออกมารับรอง “ความเห็นต่าง” หรือ “ความคิดต่าง” นั้นว่า เออ ใช่ ไม่ได้ผิดหรอก เป็นแค่เห็นต่าง-คิดต่างเท่านั้น

ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีคนเห็นด้วยเช่นนั้นเป็นอันมาก เพราะคนที่ชอบแสดงความเห็นส่วนมากก็ล้วนแต่ไม่ชอบแสวงความรู้กันทั้งนั้น เอาหลักวิชาเข้าจับก็จะพบว่า ความเห็นหลากหลายเหล่านั้นก็ล้วนแต่ผิดจากหลักวิชากันโดยทั่วหน้า

๑๐๐ คน ตอบตามหลักวิชา ๕ คน ตอบตามความเห็น ๙๕ คน เสียงผิดมีมากกว่า ก็เฮโลสาระพากันไปว่า ไม่ผิด แค่เห็นต่างคิดต่างเท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ ขอได้โปรดตั้งสติด้วยนะครับ เดี๋ยวจะมารุมกระทืบผมอีก

ที่ว่ามานี้เป็นสาเหตุพื้นฐานที่ทำให้เกิดทฤษฎี “ความเห็นต่าง” – ตามที่ผมพิจารณาเห็น ถ้าไม่ตรงกับความเห็นของใคร ก็โปรดอย่าลืมว่า-นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ความเห็นต่าง”

ข้อเท็จจริง คนที่แสดงความเห็นในเรื่องใดๆ ในสมัยนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่ได้ศึกษาสืบค้นหลักวิชาในเรื่องนั้นๆ ไปเสียทั้งหมด ที่ได้ศึกษาสืบค้นมาแล้ว แต่เขาเห็นต่างไปจากหลักวิชาโดยสุจริตก็มี คือเขารู้เป็นอย่างดีว่าหลักวิชาว่าอย่างนี้ๆ แต่เขาประสงค์จะเห็นต่างออกไป เขาก็ควรจะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นมิใช่หรือ จึงไม่ควรจะเหมารวมเอาง่ายๆ ว่าเป็นพวกผิดแล้วแถไปเสียทั้งหมด

อันนั้นใช่ ผมเข้าใจดี (แต่ที่ผิดแล้วแถก็มีจริงด้วย) เราพูดกันมานานแล้วว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” สังคมที่เจริญแล้วต้องมี ดังที่ในทฤษฎีเห็นต่างคิดต่างนี่เองถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ก็จะมีคำควบกำกับไว้เสมอว่า “เป็นเสรีภาพทางศาสนา”

ก็เพราะคำว่า “เป็นเสรีภาพทางศาสนา” นี่แหละที่ทำให้เกิดเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาทันที ดังที่ผมจะพยายามชวนให้คิด-ต่อไปนี้ —

ทฤษฎีเห็นต่างคิดต่างมีคำจำกัดความหรือกรอบขอบเขตแล้วหรือยังว่า อะไร แค่ไหน อย่างไร คือเห็นต่างคิดต่าง อะไร แค่ไหน อย่างไรที่ไม่ใช่

ตรงนี้ต้องชัด มิเช่นนั้นจะยุ่งเหยิงมาก

โดยเฉพาะเมื่ออ้างว่าเป็นเสรีภาพทางศาสนา ก็ยิ่งต้องชัดเจนลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า อะไร แค่ไหน อย่างไร คือเสรีภาพทางศาสนา

ยกตัวอย่างน่าจะช่วยให้เข้าใจประเด็นง่ายขึ้น

เมื่อแถวๆ ปี ๒๕๒๕ ผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยได้นำเสนอแนวคิดคำสอนของฝ่ายศาสนาคริสต์ว่า พระพุทธเจ้าเป็นปกาศกของพระเจ้าที่พระเจ้าส่งมาเตรียมประชาชนในภาคพื้นตะวันออกเพื่อรอรับการเสด็จมาของพระเจ้า

“ปกาศก” หมายถึงอะไร? พูดง่ายๆ พระพุทธเจ้าเป็น “ส่วนล่วงหน้า” ของพระเจ้าที่ถูกส่งมาเพื่อดูแลความเรียบร้อยก่อนที่พระเจ้าจะเสด็จมานั่นแหละ ฝ่ายศาสนาคริสต์มองว่าอย่างนั้น

นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้เพราะการบันดาลของพระเจ้า

เรื่องที่ว่ามานี้ ผมไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในพระศาสนาของเราในเวลานี้เคยทราบกันบ้างหรือไม่

เพราะหลายๆ เรื่องที่คนรุ่นผมประจักษ์ใจกันดี คนรุ่นนี้บอกว่าไม่เคยได้ยิน

กรณีตามเรื่องที่ยกมาเล่านี้ เราจะเรียกว่าเป็นความเห็นต่างคิดต่างได้หรือไม่ และจะยืนยันได้หรือไม่ว่าการแสดงความเห็นเช่นนั้นเป็นเสรีภาพทางศาสนา?

แน่นอน ถ้าเอาจิตใจของคนที่เข้ามาตอบเรื่องใครบ้างที่ไม่กลัวตาย โดยยกเอาแต่ความเห็นความคิดของตัวเองล้วนๆ ขึ้นมาตอบ ท่านเหล่านั้นจะต้องบอกทันทีว่า ใช่เลย แบบนี้แหละคือความเห็นต่างคิดต่างอันเป็นเสรีภาพทางศาสนา

ผมเองก็ออกจะเห็นด้วยว่า-การที่ฝ่ายศาสนาคริสต์พูดแบบนั้นคือความเห็นต่างคิดต่างอันเป็นเสรีภาพทางศาสนา

ในพุทธประวัติที่เราศึกษากันมา พระพุทธเจ้าเคยโดนหนักกว่านี้

ขนาดโดนด่าว่า “ไอ้สัตว์นรก” ก็ยังมี

ใครที่ไม่เคยรู้ อย่าเพิ่งตกใจ ไปศึกษาสืบค้นในคัมภีร์ดูเถิด

ที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือฝ่ายที่กดข่มพระพุทธเจ้านั้นล้วนประกาศตัวเปิดเผยชัดเจนว่าเขาไม่ได้นับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

พูดให้เห็นเป็นคุณสมบัติหรือคุณธรรมก็คือ เขามี “ความซื่อตรง” หรือตรงไปตรงมา แสดงตัวบอกฝ่ายชัดเจนว่า “กูไม่นับถือมึง”

เพราะฉะนั้น เขาจะแสดงความคิดความเห็นอะไรออกมามันก็เสรีภาพทางศาสนาอยู่ในตัวทันที เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปว่าอะไรเขา จึงควรยอมรับได้ว่า-แบบนั้นแหละคือความเห็นต่างคิดต่าง ที่เรา “ต้องเคารพ” – ตามคำที่ผู้เชิดชูลัทธิเห็นต่างคิดต่างนิยมพูดกัน

ทีนี้มองกลับเข้ามาอีกด้านหนึ่ง สมมุติว่า ผู้ได้นามว่า “ชาวพุทธ” เราเองนี่แหละ-ซึ่งก็จะต้องรวมไปถึงพระภิกษุสามเณรทั้งหลายด้วย-มีความเห็นบางอย่างไม่ตรงกับหลักวิชา-คงไม่ลืมว่า “หลักวิชาของพระพุทธศาสนา” ก็คือพระธรรมวินัย —

เช่นอะไรดี?

ก็เช่นหลักวิชาว่าด้วยเรื่องใครบ้างที่ไม่กลัวตาย ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี่แหละ

สมมุติว่าหลักวิชาแสดงไว้อย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็น-สมมุติว่าเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง-บอกไปอีกอย่างหนึ่งตามความเห็นของตัวเอง ทั้งนี้เพราะไม่ได้ศึกษาสืบค้นมาก่อน

กรณีอย่างนี้ เราจะบอกว่าเป็นความเห็นต่างหรือเป็นความเห็นผิด?

หรือจะต้องยืนยันว่าเป็นความเห็นต่างคิดต่าง จะบอกว่าเห็นผิดไม่ได้ และเราต้องเคารพความเห็นต่าง

จะว่าอย่างไรกันครับ?

ถ้ายังงง ลองฟังสมมุติเรื่องนี้

ในพระวินัยมีพุทธบัญญัติว่า ภิกษุจับต้องกายมารดาของตนด้วยความรู้สึกว่านี่เป็นมารดาของเรา ภิกษุใดทำอย่างนี้ ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกฏ

พระภิกษุรูปหนึ่งเอาโยมผู้หญิงมาเลี้ยงดูที่วัด อาบน้ำ ประแป้ง แต่งตัวให้โยมผู้หญิงกับไม้กับมือ บางทีก็กอดโยมผู้หญิงด้วย

ท่านประกาศว่าท่านไม่ได้ทำผิด เพราะท่านทำกับแม่ของท่าน ไม่ได้ทำกับคนอื่น

พอเรื่องนี้เผยแพร่ไปทางสื่อโซเชียล ผู้คนก็ชื่นชมโสมนัสกันทั่วหน้า บอกว่า สาธุ ท่านเป็นพระที่ประเสริฐนักแล้ว พระอย่างนี้หาได้ยาก

อย่างนี้แหละคือเห็นต่างคิดต่าง – ใช่หรือไม่

เพื่อให้ชัวร์ ฟังสมมุติอีกเรื่องหนึ่ง

สิกขาบทหรือศีลข้อหนึ่งของพระภิกษุสามเณรข้อหนึ่ง คือ งดเว้นจากการบริโภคอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้วจนถึงเวลาอรุณขึ้นมาใหม่

พระภิกษุรูปหนึ่งแสดงความเห็นว่าท่านไม่เห็นด้วยกับสิกขาบทข้อนี้ อ้างผลการวิจัยทางการแพทย์บอกว่า การไม่ได้กินอะไรหลังเที่ยงเป็นผลเสียต่อสุขภาพของภิกษุสามเณร

ความเห็นของภิกษุรูปนี้ ถือว่าเป็นความเห็นต่างคิดต่าง – ใช่หรือไม่?

แล้วถ้าเกิดพระภิกษุรูปนี้ฉันอาหารมื้อเย็นทุกวันโดยอ้างผลการวิจัยทางการแพทย์ดังกล่าว ก็ถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นความเห็นต่างคิดต่าง และเป็นเสรีภาพทางศาสนา-ได้หรือไม่?

คงไม่งงแล้วนะครับ

จะเห็นได้ว่า ในที่สุดแล้ว ทฤษฎีเห็นต่างคิดต่างยังต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า –

อะไร แค่ไหน อย่างไร คือเห็นต่างคิดต่าง

อะไร แค่ไหน อย่างไร คือเห็นแย้ง หรือคัดค้าน หรือล่วงละเมิด

ไม่ใช่ว่าแค่พูดว่า “เราต้องเคารพความเห็นต่างคิดต่าง เพราะเป็นเสรีภาพทางศาสนา” – แล้วก็จบ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงอยู่แค่นั้น

ทีนี้ตีกรอบเข้ามาในประเด็นทางศาสนา ความเห็นต่างคิดต่างเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ก็อย่างกรณีปัญหาเรื่องใครบ้างไม่กลัวตายนี่แหละ สมมุติว่าผู้เข้ามาตอบปัญหาได้ศึกษา สืบค้น สอบสวนหลักวิชาในพระไตรปิฎกเป็นต้นมาก่อนแล้ว รู้เข้าใจแล้วว่าหลักวิชาท่านว่าไว้อย่างนี้ๆ

ท่านผู้ตอบเหล่านั้นจะยังคงยืนยันที่จะตอบตามที่ท่านได้ตอบไปแล้วตามความคิดเห็นของท่านเองเช่นนั้นอยู่อีกหรือไม่?

ในที่สุดก็จะเห็นได้ว่า ในกรณีประเด็นทางศาสนานั้น ความเห็นต่างคิดต่างเกิดขึ้นเพราะการไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถูกต้องชัดเจนเสียก่อนว่าหลักวิชา-คือพระธรรมวินัย-ท่านแสดงไว้อย่างไร

โผล่เข้ามาก็แสดงความเห็นของตนทันที

หลายๆ กรณีมีความเข้าใจผิดเป็นพื้นฐาน – ฉันเชื่ออย่างนี้ ฉันเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็ประกาศความเห็นของตัวออกไป

แต่เมื่อมีผู้ศึกษาตรวจสอบกับหลักวิชาแล้ว ปรากฏว่าความเห็นนั้นไม่ตรงกับหลักวิชา

คราวนี้จะทำอย่างไร?

ตรงนี้แหละที่เราจะได้เห็นอานุภาพของกิเลสตัวหนึ่ง คือ “ทิฏฐิ”

คำเก่าท่านพูดกันมาว่า “ทิฏฐิพระ มานะเจ้า” – เป็นจริงโดยแท้

เมื่อแสดงความเห็นของตนออกไปแล้ว ยากนักที่จะยอมรับว่าผิด ส่วนมากหรือแทบทั้งหมดจะดันทุรังต่อไปจนถึงที่สุดเพื่อยืนยันว่า “ข้าต้องไม่ผิด”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็อย่างเช่นเจ้าสำนักที่ประกาศว่า คำบาลีที่ว่า “สกิเทว” (สะ-กิ-เท-วะ) ซึ่งแปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” (once only) คำนี้ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” (หมายถึงไปเกิดเป็นเทวดาอีกครั้งเดียวก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์)

คนที่เรียนภาษาบาลีไม่ว่าชาติไหน เห็นคำว่า “สกิเทว” ก็แปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” กันทั้งโลก แต่เจ้าสำนักนั้นบอกว่า นั่นแหละแปลผิดกันทั้งโลก ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” จึงจะถูกต้อง

ท่านรู้ตัวไหมว่าท่านแปลผิด เข้าใจผิด เพราะท่านไม่มีความรู้ทางภาษาบาลี

ทำไมจะไม่รู้ ท่านรู้อยู่เต็มอก แต่เพราะทิฏฐิ “ข้าต้องไม่ผิด” ทำให้ท่านถอยไม่ได้

คำสอนแบบไหนอีก สำนักไหนอีก ที่ผิดไม่เป็น ถอยไม่ได้ ลองนึกดูเถิด มีอีกเยอะ ออกนามแล้วรู้จักกันไปทั่วโลกก็มี

เมื่อมีทฤษฎีหรือลัทธิเห็นต่างคิดต่างเกิดขึ้น ก็ไปเข้าทางสำนักทั้งหลายเข้าพอดิบพอดี

ใครพูดผิด สอนผิด เห็นผิดจากพระธรรมวินัย ต่อไปนี้สบายใจได้ ไม่ต้องกลัวอะไรอีกแล้ว

แค่ท่องคาถา “เห็นต่างคิดต่าง” และ “เสรีภาพทางศาสนา” – แค่นี้ ก็ไม่มีหน้าไหนกล้าแหยมแล้วแหละ

……………….

ที่ว่ามานี้ บางท่านอาจขอแย้งว่า-ไม่ได้หมายความอย่างที่พูดนั้นไปทุกเรื่องหรอก ข้าพเจ้าเพียงแต่เชื่อว่ามีบางประเด็น บางกรณี ที่เราควรมีเสรีภาพที่จะเห็นต่างคิดต่าง และทำต่าง ไม่ควรบังคับให้เชื่อแบบเดียวกัน ทำแบบเดียวกันไปเสียทุกเรื่อง

เช่นอะไรบ้างล่ะ?

ตัวอย่างเช่น วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ไปนิมนต์พระต่างวัดมาให้ครบ ๕ รูปเพื่อรับกฐิน – แบบนี้ทำได้หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่

ที่เห็นว่าทำได้ ก็ทำกัน

ที่เห็นว่าทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ

แบบนี้ น่าจะปล่อยให้เป็นเสรีภาพทางศาสนาโดยยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นต่างคิดต่าง – มิใช่หรือ?

หรือกรณีพระขับรถไปไหนมาไหนเหมือนชาวบ้าน ซึ่งเวลานี้ทำกันมากขึ้นทุกที

ที่เห็นว่าทำได้ ก็ทำกัน

ที่เห็นว่าทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ

แบบนี้ น่าจะปล่อยให้เป็นเสรีภาพทางศาสนาโดยยอมรับว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นต่างคิดต่าง – มิใช่หรือ?

ที่ว่า “แบบนี้” นี่แหละครับต้องระวังให้ดี ถ้าหลงทาง พระศาสนาก็พินาศ

กรณีตามที่ยกตัวอย่างนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้เห็นต่างคิดต่างทำต่างตามใจชอบ

แต่เป็นกรณีที่ผู้บริหารการพระศาสนาจะต้องรีบทำความเข้าใจ ด้วยการศึกษา สืบค้น ตรวจสอบ หลักพระธรรมวินัยให้ถี่ถ้วนชัดเจน แล้วประกาศออกมาให้เด็ดขาดว่า ทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะเหตุผลอะไรอย่างไร

นั่นคือเร่งชวนกันทำความเห็นให้ตรงกัน ให้เสมอกัน ตามหลัก-สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา

ถ้ายอมให้ลัทธิเห็นต่างคิดต่างอ้างเสรีภาพทางศาสนาอยู่เหนือหลักพระธรรมวินัย พระศาสนาก็พินาศ

ถ้าผู้บริหารการพระศาสนายังคงใช้นโยบาย “เฉยทุกเรื่อง” อย่างที่กำลังทำอยู่ในเวลานี้ –

อีกครึ่งศตวรรษ-ถ้าพระพุทธศาสนายังมีอยู่ในเมืองไทย-บ้านเมืองของเราจะเต็มไปด้วยลัทธิแปลกๆ พระสงฆ์สามเณรจะมีพฤติกรรมพฤติการณ์แปลกประหลาดพิสดารปรากฏอยู่ทั่วไป แล้วทุกคนก็จะพูดกันว่า ไม่เห็นจะเสียหายอะไร มันเป็นเสรีภาพทางศาสนา ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นต่างคิดต่างและทำต่าง

………………

สรุปว่า ลัทธิเห็นต่างคิดต่างอ้างเสรีภาพทางศาสนาจะต้องมีกรอบขอบเขตที่ชัดเจนว่าคืออะไรแค่ไหนอย่างไร

และที่สำคัญที่สุด คือต้องมี “ความซื่อตรง”

ไม่นับถือ ไม่เลื่อมใส ไม่เห็นด้วย ก็อยู่ข้างนอก ไม่มีใครว่าอะไร

แต่ถ้าใช้สิทธิ์เข้ามาอยู่ข้างในแล้ว นั่นหมายถึงเราสละสิทธิ์ที่จะเห็นต่างคิดต่าง-และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง-สิทธิ์ที่จะทำต่าง

หน้าที่ของเราคือ “เห็นตรง”

ซึ่งหมายถึงศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถูกต้องตรงตามหลักพระธรรมวินัย

ข้อใดถ้าเราเห็นต่าง ก็ต้องปรับให้ตรง

นั่นคือ ปรับตัวเองให้ขึ้นถึงมาตรฐานของท่าน

ไม่ใช่ปรับมาตรฐานของท่านให้ตรงกับความเห็นของเรา

ดังที่ท่านสรุปไว้ท้ายพระปาติโมกข์ว่า

………………

ตตฺถ  สพฺเพเหว  สมคฺเคหิ 

สมฺโมทมาเนหิ  อวิวทมาเนหิ 

สิกฺขิตพฺพนฺติ.

พวกเราทั้งหมดนี้แลพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน

ร่วมใจกัน ไม่เห็นแย้งเห็นต่างกัน

ศึกษาในพระปาติโมกข์นั้นเทอญ

………………

สำหรับท่านที่ชอบท่องคาถา —

“ทุกอย่างเป็นอนิจจัง”

ตถตา – มันเป็นเช่นนั้นเอง

หรือที่นิยมอ้าง – โอย เรื่องแบบนี้มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลโน่นแล้ว

และ-ในคัมภีร์มีเยอะแยะที่ท่านบอกไว้เองเลยว่า บางอาจารย์ว่าอย่างนั้น บางอาจารย์ว่าอย่างนี้ เห็นต่างคิดต่างมันมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว คุณเป็นใครจึงจะมาจัดระเบียบความคิดของคนอื่น ฯลฯ

ขอเรียนว่า ที่ว่านั่น ใช่ ไม่เถียง

แต่เรื่องมันไม่ได้จบแค่-อ้างความมีมาตั้งก่อนเก่า อ้างความเป็นเช่นนั้นเอง หรืออ้างกฎอนิจจัง อ้างแล้วจบ

มันยังมีต่อไปอีก-ซึ่งสำคัญมากกว่า นั่นคือ เมื่อรู้อย่างนั้นอ้างอย่างนั้นแล้ว เราท่านควรมีท่าทีอย่างไรจึงจะถูกต้อง

ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญที่สุด

ลองนึกเทียบกับเรื่องนี้ – เรื่องทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย

เรารู้กันหมดแล้วว่า-ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย

รู้แล้ว แล้วไง

มันไม่ใช่แค่-เอามาบอกกันอย่างภาคภูมิโก้เก๋ว่า-ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายนะ จบ

แต่ต้องตามไปดูต่อไปว่า ใครรู้แล้วทำอะไร

ขวนขวายรีบเร่งทำหน้าที่อันจะพึงทำของมนุษย์อย่างเต็มกำลัง ให้ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด จนกว่าความตายจะมาถึง

หรือว่า-ไหนๆ จะต้องตายอยู่แล้ว จะต้องไปทำอะไรให้มันเหนื่อยทำไม นั่งนอนรอความตายอยู่เฉยๆ สบายกว่า?

—————–

ขออภัยนะครับ ยาวหน่อย

ตอนหน้าถึงแน่ – ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๓:๒๔

Sueb Lim

………….

ตตฺถ  สพฺเพเหว  สมคฺเคหิ  สมฺโมทมาเนหิ  อวิวทมาเนหิ  สิกฺขิตพฺพนฺติ ฯ 

วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๘๘๑

กินติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๔

วินย. มหาวิภงฺโค (๒) – หน้าที่ 571

        [๘๘๑]  อุทฺทิฏฺ€ํ  โข  อายสฺมนฺโต  นิทานํ  อุทฺทิฏฺ€า  จตฺตาโร 

ปาราชิกา  ธมฺมา  อุทฺทิฏฺ€า  เตรส  สงฺฆาทิเสสา  ธมฺมา  อุทฺทิฏฺ€า 

เทฺว  อนิยตา  ธมฺมา  อุทฺทิฏฺ€า  ตึส  นิสฺสคฺคิยา  ปาจิตฺติยา  ธมฺมา 

อุทฺทิฏฺ€า  เทฺวนวุติ  ปาจิตฺติยา  ธมฺมา  อุทฺทิฏฺ€า  จตฺตาโร 

ปาฏิเทสนียา  ธมฺมา  อุทฺทิฏฺ€า  เสขิยา  ธมฺมา  อุทฺทิฏฺ€า  สตฺต 

อธิกรณสมถา  ธมฺมา ฯ  เอตฺตกํ  ตสฺส  ภควโต  สุตฺตาคตํ 

สุตฺตปริยาปนฺนํ  อนฺวฑฺฒมาสํ  อุทฺเทสํ  อาคจฺฉติ ฯ  ตตฺถ  สพฺเพเหว 

สมคฺเคหิ  สมฺโมทมาเนหิ  อวิวทมาเนหิ  สิกฺขิตพฺพนฺติ ฯ  

                  มหาวิภงฺโค  นิฏฺ€ิโต ฯ 

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๒ – หน้าที่ 948

                                  คำนิคม

            [๘๘๑]   ท่านทั้งหลาย   นิทานข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคือปาราชิก ๔ สิกขาบท                       ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคือสังฆาทิเลส  ๑๓  สิกขาบท              ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคืออนิยต  ๒ สิกขาบท                          ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๒ – หน้าที่ 949

ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์  ๓๐  สิกขาบท            ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคือปาจิตตีย์  ๙๒ สิกขาบท                             ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคือปาฎิเทสนียะ ๔ สิกขาบท                          ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคือเสขิยะทั้งหลาย                                            ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว

ธรรมคืออธิกรณสมถะ ๗ ประการ                          ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วแล.

           สิกขาบทของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น   มีเท่านี้    มาในพระปาติ-

โมกข์นับเนื่องในพระปาติโมกข์  มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน

           พวกเราทั้งหมดนี้แล  พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน  ร่วมใจกันไม่วิวาทกัน

ศึกษาในพระปาติโมกข์นั้น  เทอญ

                                  มหาวิภังค์  จบ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *