บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย

ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๔)

————————-

ต่อไปนี้เป็นหลักวิชาในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึง “ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย” หรือที่ตั้งเป็นคำถามว่า ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย

ข้อมูลที่หนึ่ง:

ในอภยสูตร คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๘๔ มีเรื่องพราหมณ์ชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอยกข้อความที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วมาแสดงดังนี้

………………

ครั้งนั้นแล พราหมณ์ชานุโสณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ที่จะไม่กลัวไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ไม่มี

………………

พึงทราบว่า คำว่า “สัตว์” ในที่นี้หมายถึง living being ไม่ใช่ animal ดังที่เรามักเข้าใจกันในภาษาไทย

พูดสั้นๆ พราหมณ์ผู้นี้มีความเห็นว่า คนที่จะไม่กลัวตายนั้นไม่มี (นตฺถิ  โย  โส  มรณธมฺโม  สมาโน  น  ภายติ  น  สนฺตาสํ  อาปชฺชติ  มรณสฺส.)

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ในโลกนี้มีทั้งคนกลัวตายและคนที่ไม่กลัวตาย

แล้วตรัสรายละเอียดว่า คนกลัวตายคือคนเช่นไร และคนที่ไม่กลัวตายคือคนเช่นไร

คนกลัวตายคือคนเช่นไร ขอข้ามไปนะครับ เพราะเรากำลังต้องการรู้ว่าใครบ้างที่ไม่กลัวตาย ไม่ใช่อยากรู้ว่าใครบ้างที่กลัวตาย

ในพระสูตรนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่กลัวตายมี ๔ แบบ หมายความว่า เฉพาะ “คน” นี่แหละ ไม่ใช่ – ๑ คน ๒ เทวดา ๓ พญาราชสีห์ ๔ พรหม อะไรแบบนี้

ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ ฟังให้ดี

หมายถึงเฉพาะ “คน” นี่แหละ แต่มีคุณสมบัติเป็น ๔ แบบ

ขอยกสำนวนในพระไตรปิฎกมาแสดง เพื่อเจริญปัญญาโดยทั่วกัน

………………

แบบที่หนึ่ง

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัว ไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตายเป็นไฉน?

บุคคลบางคนในโลกนี้ —

เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย (กาเมสุ วีตราโค)

ปราศจากความพอใจในกามทั้งหลาย (กาเมสุ วิคตจฺฉนฺโท)

ปราศจากความรักในกามทั้งหลาย (กาเมสุ วิคตเปโม)

ปราศจากความกระหายในกามทั้งหลาย (กาเมสุ วิคตปิปาโส)

ปราศจากความเร่าร้อนในกามทั้งหลาย (กาเมสุ วิคตปริฬาโห)

ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย (กาเมสุ วิคตตโณฺห)

บุคคลเช่นนี้ถูกโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่ทำให้ถึงตายได้) กระทบเข้า ย่อมไม่มีความวิตกกังวลอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จักละกามอันเป็นที่รักไป (เสียละหนอ)

เขาย่อมไม่เศร้าโศก (น โสจติ) ไม่ลำบาก (น กิลมติ) ไม่ร่ำไร (น ปริเทวติ) ไม่ทุบอกคร่ำครวญ (น อุรตฺตาฬี กนฺทติ) ไม่ถึงความหลงใหล (น สมฺโมหํ อาปชฺชติ)

ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลเช่นนี้แลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมไม่กลัวไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย

………………

ท่านผู้ใดใคร่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร เชิญตามอัธยาศัย-บนพื้นฐานแห่งข้อมูลนี้

แบบที่สอง-สาม-สี่ จะได้นำเสนอในตอนต่อไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๙:๐๘

Sueb Lim

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *