บาลีวันละคำ

กถังกถีกถา (บาลีวันละคำ 1,727)

กถังกถีกถา

บาลีภาษาก็มีเล่นคำ

อ่านว่า กะ-ถัง-กะ-ถี-กะ-ถา

แยกศัพท์เป็น กถังกถี + กถา

(๑) “กถังกถี

บาลีเขียน “กถํกถี” อ่านว่า กะ-ถัง-กะ-ถี รากศัพท์มาจาก –

1) กถํ (คำอุปสรรค = อย่างไร) + กถํ + อี ปัจจัย, ลบนิคหิตที่ กถํ คำหลัง (กถํ > กถ)

: กถํ + กถํ = กถํกถํ > กถํกถ + อี = กถํกถี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความสงสัยว่านี้เป็นอย่างไร นี้เป็นอย่างไร

2) :

ก) กถํ (คำอุปสรรค = อย่างไร) + กถา (ถ้อยคำ)

: กถํ + กถา = กถํกถา แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวว่านี้เป็นอย่างไร” (saying how?) หมายถึง สงสัย, ไม่แน่ใจ, ไม่ปลงใจ (doubt, uncertainty, unsettled mind)

ข) กถํกถา + อี ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ (ก)-ถา (กถา > กถ)

: กถํกถา > กถํกถ + อี = กถํกถี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความสงสัยว่านี้เป็นอย่างไร

กถํกถี” หมายถึง มีความสงสัย, ไม่ยุติ, ไม่แน่นอน (having doubts, unsettled, uncertain)

มีคำเรียกพระอรหันต์ว่า “อกถํกถี” แปลว่า “ผู้ไม่มีความสงสัย” (free from doubt) คือไม่ต้องตั้งคำถามว่าชีวิตนี้คืออะไร สุขทุกข์เกิดมีได้อย่างไร และจะหลุดพ้นไปจากวังวนของชีวิตได้อย่างไร ทั้งนี้เพราะพระอรหันต์สิ้นกิเลสอันเป็นต้นตอของความสงสัยทั้งปวงแล้ว

(๒) “กถา

รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กถฺ + = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้

กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)

(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)

(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)

(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)

(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)

(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)

กถํกถี + กถา = กถํกถีกถา แปลตามศัพท์ว่า “ถ้อยคำของผู้มีความสงสัยว่านี้เป็นอย่างไร

กถํกถีกถา” เขียนแบบไทยเป็น “กถังกถีกถา” อ่านว่า กะ-ถัง-กะ-ถี-กะ-ถา หมายถึง คำพูดของคนที่ตนเองก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องจริงหรือความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็เอามาพูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว

คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ชวนอภิปราย :

ทุกวันนี้มีเครื่องมือสื่อสารหลากหลายชนิดหลายช่องทาง ทั้งสื่อสารมวลชนและสื่อเฉพาะวงการหรือสื่อส่วนตัว และมีเรื่องราวหลากหลายที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อดังกล่าว

เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อเหล่านี้ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าออกมาจากปากของคนที่รู้ความจริงและรู้เรื่องจริงเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น และบอกความจริงทั้งหมด?

หรือว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเพียงคำพูดของคนที่ตนเองก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องจริงหรือความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็เอามาพูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว?

หรือแม้จะรู้จริง แต่ก็บอกความจริงไม่หมด?

หรือที่ร้ายกว่านั้น-ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ก็เอามาบอกเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าท่านเชื่อว่าความจริงบางเรื่องน่ารังเกียจที่จะนำมาพูด

: ก็จงเชื่อเถิดว่าการเอาความไม่จริงมาพูดน่ารังเกียจกว่าหลายเท่า

—————

(หยิบฉวยด้วยวิสาสะมาจากคำของพระคุณท่าน Bm. Chaiwut Pochanukul)

25-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *