บทความเรื่อง ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย
ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย (๕)
————————-
หลักวิชาในพระพุทธศาสนาที่แสดงถึง “ผู้ล่วงพ้นความกลัวตาย” หรือที่ตั้งเป็นคำถามว่า ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย
ข้อมูลที่หนึ่ง:
ในอภยสูตร คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๘๔ พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนที่ไม่กลัวตายมี ๔ แบบ
แบบที่หนึ่งแสดงไปแล้ว ต่อไปนี้เป็นแบบที่สอง
………………
แบบที่สอง
บุคคลบางคนในโลกนี้ —
เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดในกาย (กาเย วีตราโค)
ปราศจากความพอใจในกาย (กาเย วิคตจฺฉนฺโท)
ปราศจากความรักในกาย (กาเย วิคตเปโม)
ปราศจากความกระหายในกาย (กาเย วิคตปิปาโส)
ปราศจากความเร่าร้อนในกาย (กาเย วิคตปริฬาโห)
ปราศจากความทะยานอยากในกาย (กาเย วิคตตโณฺห)
บุคคลเช่นนี้ถูกโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่ง (ที่ทำให้ถึงตายได้) กระทบเข้า ย่อมไม่มีความวิตกกังวลอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจักละเราไปเสียละหนอ และเราก็จักละกายอันเป็นที่รักไป (เสียละหนอ)
เขาย่อมไม่เศร้าโศก (น โสจติ) ไม่ลำบาก (น กิลมติ) ไม่ร่ำไร (น ปริเทวติ) ไม่ทุบอกคร่ำครวญ (น อุรตฺตาฬี กนฺทติ) ไม่ถึงความหลงใหล (น สมฺโมหํ อาปชฺชติ)
ดูก่อนพราหมณ์ แม้บุคคลเช่นนี้แลผู้มีความตายเป็นธรรมดา ก็ย่อมไม่กลัวไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย
………………
จะสังเกตเห็นได้ว่าสำนวนภาษาในบุคคลแบบที่หนึ่งกับแบบที่สองนี้เหมือนกันทุกประการ ต่างเฉพาะตัวเงื่อนไข
บุคคลแบบที่หนึ่ง ปราศจากความกำหนัด (ราค) ความพอใจ (ฉนฺท) ความรัก (เปม) ความกระหาย (ปิปาส) ความเร่าร้อน (ปริฬาห) ความทะยานอยาก (ตณฺหา) “กาเมสุ ในกามทั้งหลาย”
ส่วนบุคคลแบบที่สอง ปราศจากความกำหนัด …. ความทะยานอยาก “กาเย ในกาย”
สรุปสั้นๆ —
บุคคลแบบที่หนึ่ง ใช้ “ของกู” เป็นเงื่อนไข
บุคคลแบบที่สอง ใช้ “ตัวกู” เป็นเงื่อนไข
ใครที่ใจไม่เกาะเกี่ยวกับของกู ก็ไม่กลัวตาย
ใครที่ใจไม่เกาะเกี่ยวกับตัวกู ก็ไม่กลัวตาย
ตอนต่อไป … แบบที่สาม
๒ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๐:๑๐
Sueb Lim