บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ค้นพบคำสุภาพไม่มีเพศ

เช้าวันนี้ (๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔) ผมเดินออกกำลังตามปกติ แล้วก็ไปเจอ “คำสุภาพไม่มีเพศ” ในภาษาไทยเข้าโดยบังเอิญ

เวลาเดินออกกำลัง นอกจากกำหนดอิริยาบถ กำหนดดูรูปที่กำลังเดิน เป็นการเจริญสติไปในตัวแล้ว ผมก็มักดูป้ายโฆษณาตามข้างทางไปพร้อมๆ กัน ตามประสาคนรักภาษาไทย

นักพระอภิธรรมคงไม่ว่าอะไรนะครับ กำหนดอิริยาบถ กำหนดดูรูปเดิน กับตาเห็นป้ายข้างทาง เป็นคนละขณะจิตกัน ซึ่งตามความเข้าใจของคนทั่วไปเขาจะบอกว่าคนเราสามารถทำอะไรๆ ได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน แต่ความจริงแล้ว-ทำคนละขณะจิต แต่ว่า “ขณะจิต” หนึ่งนั้น เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เร็วมาก จนคนทั่วไปกำหนดตามไม่ทัน ก็เลยเข้าใจไปว่าคนเราทำอะไรในเวลาเดียวกันได้หลายอย่าง

เรื่องก็คือ ผมไปเจอตู้เติมเงิน-จ่ายบิล ติดตั้งอยู่บนทางเท้าข้างร้านถ่ายเอกสารแห่งหนึ่งบนถนนศรีสุริยวงศ์ ข้อความบนตู้สะดุดตา ผมก็เลยถ่ายรูปไว้

ข้อความบนตู้เขียนไว้ว่า –

……………………………

ขออภัยค่ะ !

ตู้เติมเงินขัดข้อง งดให้บริการค่ะ

← กดปุ่มยืนยัน

ทุกครั้งที่ทำรายการค่ะ!

……………………………

ที่ผมว่าข้อความบนตู้สะดุดตา ก็คือคำว่า “ค่ะ”

เหตุผลที่สะดุดตา ไม่ใช่คำว่า “ค่ะ” ใช้วรรณยุกต์เอกถูกหรือผิด

แต่คือการที่ข้อความนั้นลงท้ายด้วยคำว่า “ค่ะ” ซึ่งเป็นคำลงท้ายคำพูดของเพศหญิง

ในภาษาไทย เรารู้กันว่า –

ผู้ชายลงท้ายคำพูดว่า “ครับ” 

ผู้หญิงลงท้ายคำพูดว่า “ค่ะ”

………………

เมื่อสมัยที่โทรทัศน์ในเมืองไทยยังเป็นทีวีขาวดำเป็นส่วนมาก ผมเคยดูรายการสารคดี เป็นเรื่องที่เขาเชิญฝรั่งที่เรียนรู้ภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยมาอธิบายวัฒนธรรมไทยให้ฝรั่งด้วยกันฟัง

ฝรั่งที่อธิบายบอกว่า คนไทยเวลาเจอกัน ผู้น้อยจะทักทายผู้ใหญ่ด้วยการประนมมือพร้อมกับพูด – 

ถ้าผู้พูดเป็นผู้ชายก็พูดว่า “สวัสดีครับ”

ถ้าผู้พูดเป็นผู้หญิงก็พูดว่า “สวัสดีค่ะ”

ฝรั่งที่เป็นผู้ฟังในรายการลองทำตาม ผู้ชายประนมมือพร้อมกับพูดว่า “สวัสดีครับ” ผู้หญิงประนมมือพร้อมกับพูดว่า “สวัสดีค่ะ” สำเนียงแบบฝรั่งพูดไทยไม่ชัด เป็นที่ครึกครื้นดี

เป็นการยืนยันว่า เป็นที่รู้เข้าใจกันทั่วไป-จะว่าทั่วโลกก็คงได้-ว่า คำว่า “ครับ” และ “ค่ะ” ในภาษาไทยเป็นคำแบ่งเพศชาย-หญิง 

“ครับ” = ผู้ชาย 

“ค่ะ” = ผู้หญิง

………………

จุดสะดุดตาและสะดุดใจของผมก็อยู่ตรงนี้ คือข้อความที่ตู้ใช้คำว่า “ค่ะ” ก็แปลว่า ตู้เติมเงิน-จ่ายบิลตู้นั้นเป็นผู้หญิง หรือไม่ก็-ผู้บริหารจัดการหรือเจ้าของตู้นั้นก็ต้องเป็นผู้หญิง

ตอนที่ผมกำลังถ่ายรูป เจ้าของร้านถ่ายเอกสารซึ่งเป็นผู้หญิงเดินออกมาจากร้านและเห็นผมกำลังถ่ายรูปอยู่พอดี เธอมีท่าทางไม่พอใจ เหมือนกับว่าผมจะถ่ายรูปเอาไปทำมิดีมิร้าย

“ลุงถ่ายทำไม” เธอถามเสียงเครียด “อ้าว นี่ลุงทองย้อยเหรอ” 

ผมสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เธอจำไม่ได้ในตอนแรก เราเคยรู้จักกัน ผมเคยมอบหนังสือบาลีวันละคำ (และน่าจะเป็น-พิธีกรควรรู้ด้วย) ให้เธอ เจอกันที่ไหนก็โบกมือทักทายกัน ดูท่าทางเธอเป็นคนสนใจทางธรรมพอสมควร

แต่วันนี้เธอไม่แฮปปี้ – “ลุงถ่ายทำไม?”

ผมเปิดหน้าจอโทรศัพท์ให้เธอดูรูปข้อความบนตู้ที่ถ่ายไว้ พร้อมกับอธิบายเหตุผล และบอกว่าผมเห็นว่าแปลกดีที่ข้อความบนตู้ใช้คำว่า “ค่ะ” ซึ่งบอกสถานะเป็นผู้หญิง

“คำว่า ‘ค่ะ’ เป็นคำแสดงความสุภาพ” เธอแย้งทันที เสียงยังเครียดเหมือนเดิม

“แล้วทำไมไม่ใช้คำว่า ‘ครับ’ ล่ะครับ?” ผมถามแย้งบ้าง

“ลุงจะมาสนใจทำไมกับตู้ คำว่า ‘ค่ะ’ เป็นคำแสดงความสุภาพ ไม่ใช่แสดงว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย ใครมองว่าตู้เป็นผู้หญิงผู้ชายก็ประหลาดแล้ว ลุงไปเขียนหนังสือของลุงหรือไปทำอะไรที่เป็นสาระดีกว่า” 

ผมน้อมรับคำพูดของเธอแล้วเดินจากมาเงียบๆ

………………

อันที่จริงผมเจอข้อความใช้คำว่า “ค่ะ” ลงท้ายแบบนี้มาหลายแห่ง (ดูภาพประกอบ) แล้วผมก็คิดแบบผม คือคิดว่า ทำไมป้ายพวกนี้จึงใช้คำลงท้ายเป็น “ผู้หญิง” 

คงไม่ใช่เพียงเพราะคนเขียนข้อความนั้นเป็นผู้หญิง แต่ควรคิดไปถึง “สถานภาพ” ของสิ่งที่ข้อความนั้นหมายถึงด้วย

อย่างป้าย “ห้องสมุดปิดให้บริการ” (ภาพที่ ๒)

ถามว่า “ห้องสมุด” เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย? 

แล้วทำไมจึงลงท้ายว่า “ขออภัยในความไม่สะดวกค่ะ”? 

หรือว่าเจ้าของห้องสมุดหรือผู้บริหารจัดการห้องสมุดเป็นผู้หญิง?

หรือว่าจะต้องอ้างเหตุผลตามเจ้าของร้านถ่ายเอกสารที่เล่ามาข้างต้น – “คำว่า ‘ค่ะ’ เป็นคำแสดงความสุภาพ ไม่ใช่แสดงว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย”? 

ตกลงว่าจะเอายังไงกันดีครับ ท่านผู้รักภาษาไทยทั้งหลาย 

หรือจะท่องคาถา – ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ ทุกอย่างเป็นอนิจจัง พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น

………………

ถ้าเราไม่ช่วยกันศึกษาให้เข้าใจ แล้วถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้สืบต่อยั่งยืน ในที่สุด วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ของเรา – โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา – จะวิปริตผิดเพี้ยนไปเรื่อยๆ 

แล้วถ้าความวิปริตผิดเพี้ยนทำนองนี้ลามเข้าไปในภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ อะไรจะเกิดขึ้นกับพระพุทธพจน์

………………………………..

หลักนิยมอย่างหนึ่งในภาษาบาลีคือ เมื่อผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่ แม้ผู้ใหญ่จะมีคนเดียว ก็ใช้สรรพนามเป็นพหูพจน์ เป็นการแสดงความเคารพนับถือให้เกียรติ ตัวอย่างเช่น ถ้าคนที่เราพูดด้วยมีคนเดียว ปกติเราใช้สรรพนามเรียกเขาว่า “ตฺวํ” (ออกเสียงว่า ‘ตวง’ จะได้เสียงที่ถูกต้องที่สุด แต่นักเรียนบาลีของเรามักออกเสียงว่า ตะ-วัง ซึ่งคลาดเคลื่อน เพราะ ตฺ กับ ว ออกเสียงควบกัน) เป็นเอกพจน์ (เอกวจนะ) แปลว่า “อันว่าท่าน” (ท่าน-คนเดียว) ตรงกับคำอังกฤษว่า you 

แต่ถ้าเราพูดกับครูบาอาจารย์ แม้ครูบาอาจารย์จะมีคนเดียว ก็จะใช้สรรพนามว่า “ตุมฺเห” (บางทีสะกดเป็น “ตุเมฺห” ออกเสียงว่า ตุม-เหฺม ห นำ ม เหมือนคำว่า หมิ่นเหม่ [เทียบเสียงผันได้ ๕ เสียง-เม เหฺม่ เม่ เม้ เหฺม-‘เหฺม’ คำสุดท้ายนี่แหละ] แต่นักเรียนบาลีของเรามักออกเสียงว่า ตุม-เห) เป็นพหูพจน์ (พหุวจนะ) แปลว่า “อันว่าท่านทั้งหลาย” (ทั้งๆ ที่ความจริง ท่าน-มีคนเดียว)

นี่คือ “หลักนิยม” ที่นักเรียนบาลีทั่วโลกรู้เข้าใจตรงกัน

………………………………..

ในอนาคต ถ้าความวิปริตลามเข้าไปในภาษาบาลี เกิดมีหลักนิยมว่า “ใช้คำอิตถีลิงค์เป็นเครื่องแสดงความเคารพนับถือให้เกียรติ” คือแม้ผู้ที่เราพูดด้วยหรือพูดถึงจะเป็นผู้ชาย ก็ให้ใช้คำที่เป็นอิตถีลิงค์เมื่อกล่าวถึงท่านผู้นั้นเพื่อแสดงความเคารพนับถือให้เกียรติ – ถ้ามีหลักนิยมอย่างนี้เกิดขึ้น จะว่าอย่างไรกัน

หลักนิยมตามสมมุตินี้ยังไม่มีหรอก แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไม่มั่นคงในหลักวิชา ปล่อยให้คิดเอาเอง เข้าใจเอาเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง-ไม่แน่ …

ก็เหมือนวันนี้ ภาษาไทยเรามีคนบอก/ยืนยันแล้วว่า คำว่า “ค่ะ” ในภาษาไทยใช้เป็นคำลงท้ายแสดงถึงความสุภาพ ไม่ได้หมายถึงความเป็นผู้หญิงผู้ชาย

อีกครึ่งศตวรรษข้างหน้า ถ้าเกิดนิยมตามนี้กันทั่วไป-คำว่า “ค่ะ” ใช้เป็นคำลงท้ายแสดงถึงความสุภาพ ไม่ได้หมายถึงความเป็นผู้หญิงผู้ชาย-จะว่าอย่างไรกัน

ผมน่ะไม่ว่าอะไรอยู่แล้ว ผมไม่เอาด้วยหรอก แต่ว่า-เชิญตามสบาย

แต่ถ้าใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะกรุณาบันทึกประวัติคำไว้สักนิดก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง – ทำนองเดียวกับคำว่า “สวัสดี” ใครเป็นคนคิด เริ่มใช้เมื่อไร – นั่นแหละ 

คือบันทึกไปด้วยว่า ผู้ที่ค้นพบการใช้คำในความหมายเช่นนี้ (คือ-คำว่า “ค่ะ” ใช้เป็นคำลงท้ายแสดงถึงความสุภาพ ไม่ได้หมายถึงความเป็นผู้หญิงผู้ชาย) เป็นคนแรกคือ ทองย้อย แสงสินชัย ค้นพบเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๗๔๑๐๔ ที่บริเวณถนนศรีสุริยวงศ์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรี จึงบันทึกไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่ตัวผู้ค้นพบและวงศ์ตระกูลสืบไป

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๑๖:๔๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *