ธรรมวาที (บาลีวันละคำ 3,269)
ธรรมวาที
นับวันจะมีน้อยลง
อ่านว่า ทำ-มะ-วา-ที
ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + วาที
(๑) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในคำว่า “ธรรมวาที” นี้ “ธรรม” มีความหมายครอบคลุมถึงความหมายทุกอย่างของคำว่า “ธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึง ความถูกต้องทุกอย่าง
(๒) “วาที”
รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = กล่าว, พูด, แสดงความเห็น) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วทฺ > วาท)
: วทฺ + ณี = วทณี > วที > วาที (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว”
หมายถึง พูดถึง, กล่าว, สอน, พูดคุย; ถือทัศนะหรือลัทธิคำสอน; ถกเถียง (speaking of, saying, asserting, talking; professing, holding a view or doctrine; arguing)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“วาที : (คำนาม) ผู้พูด, ผู้กล่าว, ผู้ชี้แจง, ผู้โต้แย้ง; คนเล่นดนตรี. (ป., ส.).”
ธมฺม + วาที = ธมฺมวาที (ทำ-มะ-วา-ที) แปลว่า “ผู้กล่าวถูกธรรม” หมายถึง ผู้พูดความจริง, ผู้กล่าวความจริงหรือกล่าวตามธรรม (speaking properly, speaking the truth or according to the Doctrine)
“ธมฺมวาที” เขียนแบบไทยเป็น “ธรรมวาที”
คำว่า “ธรรมวาที” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เก็บคำว่า “ธรรมวาที” ไว้ บอกไว้ดังนี้ –
“ธรรมวาที : “ผู้มีปกติกล่าวธรรม”, ผู้พูดเป็นธรรม, ผู้พูดตามธรรม, ผู้พูดตรงตามธรรมหรือพูดถูกต้องตามหลัก ไม่พูดผิดธรรม ไม่พูดนอกหลักธรรม.”
…………..
ขยายความ :
คำว่า “ธมฺมวาที – ธรรมวาที” ท่านกล่าวถึงควบคู่กับคำอื่นอีกหลายคำ คำที่ตรงกันข้ามก็คือ “อธมฺมวาที – อธรรมวาที” = ผู้มิได้กล่าวธรรม หรือผู้กล่าวไม่ถูกธรรม
โปรดศึกษาข้อความจากพระไตรปิฎก ดังต่อไปนี้ –
…………..
หนฺท มยํ อาวุโส ธมฺมญฺจ วินยญฺจ สงฺคายาม ปุเร อธมฺโม ทิปฺปติ ธมฺโม ปฏิพาหิยติ อวินโย ทิปฺปติ วินโย ปฏิพาหิยติ ปุเร อธมฺมวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ ธมฺมวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺติ อวินยวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ วินยวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺตีติ.
ที่มา: ปัญจสติกขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2
พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 614
…………..
แปลประโยคต่อประโยค:
หนฺท มยํ อาวุโส ธมฺมญฺจ วินยญฺจ สงฺคายาม.
เอาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด
ปุเร อธมฺโม ทิปฺปติ ธมฺโม ปฏิพาหิยติ.
ในภายหน้า สภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรื่อง ธรรมจักเสื่อมถอย
อวินโย ทิปฺปติ วินโย ปฏิพาหิยติ.
สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรื่อง วินัยจักเสื่อมถอย
ปุเร อธมฺมวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ ธมฺมวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺติ.
ในภายหน้า อธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง
อวินยวาทิโน พลวนฺโต โหนฺติ วินยวาทิโน ทุพฺพลา โหนฺตีติ.
อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง
…………..
อภิปราย :
ข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมานี้ เป็นตอนที่กล่าวถึงพระมหากัสสปเถระชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนา คือรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ให้เป็นระเบียบ หลังพุทธปรินิพพานได้สามเดือน
โปรดทราบว่า พระสงฆ์ในเวลานั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ท่านรู้อนาคตด้วยว่าพระธรรมวินัยจะเสื่อมสูญ แต่แทนที่ท่านจะปล่อยให้เสื่อมไปเฉยๆ ท่านกลับมีอุตสาหะรวบรวมขึ้นไว้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าพระธรรมวินัยที่ท่านรวบรวมไว้นี้ในที่สุดก็จะเสื่อมสูญ พระอรหันต์ท่านคิดอย่างไร
พยายามอ่านหัวใจท่านให้ออก เราจะรู้สึกถึงเมตตาธรรมที่บริสุทธิ์และคุณค่าแห่งพระธรรมวินัยอันประเสริฐ แล้วพึงมีอุตสาหะเร่งปฏิบัติดำเนินตามให้ได้ลิ้มอมตรสในขณะที่พระศาสนายังไม่ทันอันตรธาน
ยุคสมัยของเรานี้ นับตามห้วงเวลาก็คือ “ปุเร” ที่แปลว่า “ในภายหน้า” ที่ท่านพยากรณ์ไว้ ยุคสมัยนี้ “ธรรมวาที” มีน้อยลง “อธรรมวาที” มีมากขึ้น
แต่ “อธรรมวาที” นั้น ไม่ได้แขวนป้ายว่าตนหรือพวกของตนเป็น “อธรรมวาที” ตรงกันข้าม มักจะยืนยันแข็งขันว่า ตนและพวกของตนเป็น “ธรรมวาที”
นี่คือปัญหา และนี่แหละคือหน้าที่ของเราที่จะต้องศึกษา สังเกต สำเหนียกให้เข้าใจแน่ชัดถึงลักษณะของ “ธรรมวาที” และ “อธรรมวาที” ตามหลักเกณฑ์ของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง จะได้ไม่ไป “ยกย่องผี ย่ำยีพระ” คือไปหลงระรื่นกับคนพาล แต่รุมระรานคนดี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าร้องถามว่า ยุคนี้จะหาธรรมวาทีได้ที่ไหน
: ก็ตัวท่านเองนั่นไง ฤๅว่าท่านก็ยังไม่ใช่ธรรมวาที?
#บาลีวันละคำ (3,269)
25-5-64