บาลีวันละคำ

โคธุโม – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด (บาลีวันละคำ 3,839)

โคธุโม – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) บอกรายการธัญชาติ 7 ชนิดไว้ดังนี้ –

(1) สาลิ = ข้าวสาลี

(2) วีหิ = ข้าวเจ้า

(3) ยโว = ข้าวเหนียว

(4) โคธุโม = ข้าวละมาน

(5) กงฺุคุ = ข้าวฟ่าง

(6) วรโก = ลูกเดือย

(7) กุทฺรูโส = หญ้ากับแก้

…………..

“โคธุโม” = ข้าวละมาน

อ่านว่า โค-ทุ-โม รูปคำเดิมเป็น “โคธุม” อ่านว่า โค-ทุ-มะ (เป็น “โคธูม” -ธู- สระอู ก็มี) รากศัพท์มาจาก คุธฺ (ธาตุ = เกี่ยวพัน) + อุม ปัจจัย, แผลง อุ ที่ คุ-(ธฺ) เป็น โอ (คุธฺ > โคธ)

: คุธฺ + อุม = คุธุม > โคธุม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่พันกัน”

“โคธุม” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โคธุโม”

บาลี “โคธุม” (โคธูม) สันสกฤตเป็น “โคธูม”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“โคธูม : (คำนาม) สุมนโภชน์, ศาลี; นารงค์, ส้ม; wheat; orange.”

(๑) พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2508, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ หน้า 126 (คาถา 450) (เชิงอรรถ) (๒) หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) (๓) คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา แปลโดยพระมหาไพโรจน์ ญาณกุสโล (นิรัญรักษ์) และนายจำรูญ ธรรมดา พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2559, หจก.ประยูรสาส์นไทยการพิมพ์ กรุงเทพฯ หน้า 182 (คาถา 450) ทั้ง 3 ฉบับนี้ แปล “โคธุม” ว่า ข้าวละมาน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โคธูม” ว่า wheat

อภิปรายขยายความ :

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โคธูม” ว่า wheat

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ก็แปล “โคธูม” ว่า wheat

คำว่า wheat ควรจะเรียกเป็นคำไทยว่าอะไร?

ที่เรียกกันมาและเวลานี้ก็ยังเรียกกันอยู่ คือเรียก wheat ว่า ข้าวสาลี ผู้เขียนบาลีวันละคำได้แถลงไว้แล้วว่า เรียก wheat ว่า ข้าวสาลี เป็นการเรียกผิด เพราะข้าวสาลีมีคำว่า “สาลิ” ซึ่งอยู่ในชุดเดียวกันแปลว่า “ข้าวสาลี” ตรงตัวอยู่แล้ว ถ้าเรียก wheat ซึ่งเป็นคำแปลของ “โคธูม” ว่า “ข้าวสาลี” แล้วคำว่า “สาลิ” ซึ่งแปลว่า “ข้าวสาลี” ตัวจริง จะให้เรียกว่าอะไร ข้าว wheat นั่นแหละที่จะต้องเรียกเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่มาเรียกว่า “ข้าวสาลี” อย่างที่เรียกกันผิดๆ อยู่ในเวลานี้ [ดู “สาลิ – 1 ในธัญชาติ 7 ชนิด” บาลีวันละคำ (3,836)]

พจนานุกรม 3 ฉบับดังอ้างข้างต้น แปล “โคธุม” (โคธูม) ว่า ข้าวละมาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ข้าวละมาน : (ภาษาถิ่น-อีสาน) (คำนาม) ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Oryza minuta J. Presl et C. Presl ในวงศ์ Gramineae เป็นข้าวป่าชนิดหนึ่ง มักขึ้นแซมต้นข้าว, หญ้าละมาน ก็เรียก.”

ปัญหายังมีอีกว่า “ข้าวละมาน” ตามคำจำกัดความของพจนานุกรมฯ หมายถึง wheat ได้หรือไม่ หรือ wheat ในภาษาอังกฤษที่เรารู้จักกันจะเป็น “ข้าวละมาน” ตามคำจำกัดความของพจนานุกรมฯ ได้หรือไม่

ถ้าได้ ก็หมดปัญหา คือยุติว่า wheat คือ “ข้าวละมาน”

แต่ถ้าไม่ได้หรือไม่ใช่ คือ wheat ไม่ใช่ “ข้าวละมาน” ก็จะต้องวินิจฉัยกันต่อไปอีก

(๑) นักบาลีไทยคิดอย่างไรจึงแปล “โคธุม” (โคธูม) ว่า ข้าวละมาน

(๒) นักบาลีฝรั่งคิดอย่างไรจึงแปล “โคธุม” (โคธูม) ว่า wheat

จะว่าคนไทยไม่รู้จักข้าวละมาน ก็ชอบกลอยู่

จะว่าฝรั่งไม่รู้จัก wheat ก็พิลึกอยู่

จะว่าทั้งไทยทั้งฝรั่งไม่รู้จัก “โคธุม” (โคธูม) ในบาลี ก็ดูกระไรอยู่

ตามพจนานุกรมที่นำเสนอมาข้างต้น ข้อสรุปของผู้เขียนบาลีวันละคำ คือ –

: โคธูม > ข้าวละมาน > wheat

: ข้าวละมาน > wheat > โคธูม

: wheat > โคธูม > ข้าวละมาน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะเรียก “โคธุม” ว่าข้าวอะไรก็ตามที

: แต่ข้าวสาลีไม่ใช่ wheat

—————–

คำบรรยายภาพประกอบ:

ฝรั่งแปล “โคธุม” ว่า wheat

ไทยแปล “โคธุม” ว่า ข้าวละมาน

เราเรียกกันผิดๆ มานานว่า ข้าวสาลี

#บาลีวันละคำ (3,839)

17-12-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *