บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า

คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า

————————

ผมได้รับคำถามจากท่านผู้มีชื่อท่านหนึ่ง เป็นคำถามเรื่องคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า

คาถามงกุฎพระพุทธเจ้ามีถ้อยคำดังนี้

………………………

อิติปิโสวิเสเสอิ 

อิเสเสพุทธะนาเมอิ

อิเมนาพุทธะตังโสอิ 

อิโสตังพุทธะปิติอิ

………………………

นอกจากมีตัวบทคาถาดังนี้แล้ว ยังมีข้อความที่ใช้คำว่า “คำแปล” ควบคู่ไว้ ดังต่อไปนี้

…………………………………………….

ขออัญเชิญคุณแห่งพระพุทธเจ้าอันวิเศษ 

คุณแห่งกระแสพระนิพพานอันประเสริฐ 

ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญแล้ว 

จงเป็นมหาวิภูษิตาภรณ์ประดับด้วยมงกุฎทิพย์

และเครื่องทรงแห่งพระเจ้ามหาจักรพรรดิ

ครอบคลุมข้าพเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

…………………………………………….

ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ท่านผู้มีชื่อท่านนั้นท่านสงสัยว่า คาถาที่เรียกกันว่า “คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า” ตามที่ยกมานั้น แปลเป็นข้อความตามที่เรียกว่า “คำแปล” นั้นจริงๆ หรือ?

ถามใหม่ –

คำว่า —

อิติปิโสวิเสเสอิ 

อิเสเสพุทธะนาเมอิ

อิเมนาพุทธะตังโสอิ 

อิโสตังพุทธะปิติอิ

แปลว่า –

ขออัญเชิญคุณแห่งพระพุทธเจ้าอันวิเศษ 

คุณแห่งกระแสพระนิพพานอันประเสริฐ 

ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญแล้ว 

จงเป็นมหาวิภูษิตาภรณ์ประดับด้วยมงกุฎทิพย์

และเครื่องทรงแห่งพระเจ้ามหาจักรพรรดิ

ครอบคลุมข้าพเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

อย่างนี้จริงๆ หรือ?

หรือว่า จริงๆ แล้ว คำว่า อิติปิโสวิเสเสอิ … อิโสตังพุทธะปิติอิ ไม่ได้แปลอย่างที่อ้างว่าเป็น “คำแปล” นั้นเลย แต่มีใครก็ไม่รู้ไปเอาข้อความนั้นมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วเอามาอ้างว่าเป็น “คำแปล”??

ความท่อนหลังนี่ท่านผู้มีชื่อท่านนั้นไม่ได้ถาม แต่ผมถามต่อให้เอง เพราะผมเองก็สงสัยแบบนี้

ความจริงแล้ว คาถามงกุฎพระพุทธเจ้านี่ควรสงสัยไปตั้งแต่ตัวคาถานั่นเลย คือสงสัยว่า ข้อความเดิมแท้ของตัวคาถานั้นว่าอย่างไร ก่อนที่จะเอามากระจายคำสลับที่สลับคำเช่นนั้น

ถ้ายังไม่เข้าใจคำถาม โปรดดูคำเทียบ

คาถาบทหนึ่ง เรียกกันว่า “กระทู้เจ็ดแบก” มีข้อความว่า “อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา”

คำว่า “อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา” นี้ ยกมาจากบทพระพุทธคุณ คือบท อิติปิ โส ภะคะวา อะ-… เขียนเรียงกันลงมาคำละ ๑ บรรทัด ได้ ๘ บรรทัด แล้วต่อด้วยคำว่า -ระหัง สัมมาสัมพุทโธ … โดยไปขึ้นบรรทัดใหม่ที่คำว่า อิ แล้วเรียงลงมาแบบเดียวกัน เรียงทำนองนี้ไปจนจบ … พุทโธ ภะคะวาติ จะได้บรรทัดละ ๗ คำพอดี 

บรรทัดแรกก็คือ “อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา”

นี่คือ “ข้อความเดิมแท้ของตัวคาถา” ที่เรียกกันว่า “กระทู้เจ็ดแบก” หรือพูดใหม่ว่าคาถากระทู้เจ็ดแบกมีที่ไปที่มาอย่างนี้ (ดูภาพประกอบ)

………………..

ทีนี้ก็ถามว่า คาถา “อิติปิโสวิเสเสอิ … อิโสตังพุทธะปิติอิ” นี้ ข้อความเดิมแท้ของตัวคาถาว่าอย่างไร? หรือมีที่ไปที่มาอย่างไร?

คำตอบที่คาดหมายได้ก็คือ “ไม่ทราบ” 

ที่ทราบได้แน่มีคำเดียว คือ “อิติปิโส” เป็นคำขึ้นต้นบทพุทธคุณ นอกนั้นไม่ทราบว่าไปเอามาจากไหน ข้อความเดิมว่าอย่างไร

อันนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของ “คาถาอาคม” ที่ “เล่น” กันอยู่ในสังคมไทย มักจะเป็นแบบนี้ คือ ท่องกันมา จำกันมา “ใช้” กันมา โดยไม่ต้องรู้ว่าข้อความต้นเดิมแท้ว่าอย่างไรมาจากไหน

พอๆ กับค่านิยมที่บอกกันมาว่า เล่นคาถาไม่ต้องแปล แปลแล้วไม่ขลัง

ที่ว่ามานี้ยังไม่รวมปัญหาที่เกิดจากวิธี “มุขปาฐะ” นะครับ

ปัญหาที่เกิดจากวิธี “มุขปาฐะ” ก็คือ –

พูดออกมาอย่างหนึ่ง

ได้ยินไปอีกอย่างหนึ่ง

เขียนเป็นตัวหนังสือออกมาอีกอย่างหนึ่ง

เช่นคาถา “คะเตสิก คะเตสิก กรึงสะระณัง” เป็นตัวอย่าง (ดูภาพประกอบ)

นักเรียนบาลีอ่านแล้วคงอยากไปผูกคอตาย!!

………………..

ทีนี้มาดูข้อความที่อ้างว่าเป็น “คำแปล”

อ่านแล้วมีท่วงทีคล้ายกับจะแปลมาจากภาษาบาลีที่เป็นคาถาหรือ “ฉันท์” บทใดบทหนึ่ง หลายคำสามารถแปลกลับเป็นบาลีได้ไม่ยาก เช่น

“กระแสพระนิพพานอันประเสริฐ” = วรนิพฺพานโสต

“ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญแล้ว” = สพฺพพุทฺธปสํสิตํ

“ครอบคลุมข้าพเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ” = อภิปาเลตุ มํ สทา

ผมลองสำรวจหาคำบาลีที่มีศัพท์แบบนี้หรือใกล้เคียงกันอย่างนี้ ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็ไม่พบ 

เข้าใจว่า ถ้าแปลมาจากคำบาลีจริง ก็น่าจะเป็นบาลีที่มีผู้แต่งขึ้นใหม่ และถ้าเป็นบาลีที่แต่งใหม่จริง มีข้อความว่าอย่างไร และสอดรับกับถ้อยคำในคาถามงกุฎพระพุทธเจ้าอย่างไร

ลองพิจารณาเป็นคำๆ 

“อิติปิโส” มาจากคำขึ้นต้นบทพุทธคุณ “อิติปิ  โส  ภะคะวา” แปลว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น … 

“วิเสเส” แปลว่า วิเศษ, พิเศษ 

“พุทธะนาเม” แปลว่า พระนามของพระพุทธเจ้า

“ตัง” แปลว่า “นั้น” 

“อิ” ที่สกัดหัว-ท้ายทุกวรรคเป็นลักษณะของคาถาที่เป็น “กลบท” เป็น “อิ” ที่ตัดมาจาก “อิติปิ โส” 

คำสุดท้าย “ปิติอิ” ก็คือ “อิติปิ” นั่นเอง แต่สลับคำแบบถอยหลัง

คำเหล่านี้อาจตัดเอามาจากคำเต็มๆ ที่เป็น “ข้อความเดิมแท้ของตัวคาถา” แต่คำเต็มว่าอย่างไร ไม่มีทางทราบได้ นอกจากคลำหาแบบงมเข็มในมหาสมุทร

และเมื่อพิจารณาคำที่พยายามถอดออกมาและแปลเป็นไทยดูแล้ว ก็ไม่เห็นร่องรอยว่าจะมีความหมายสอดรับกับข้อความที่อ้างว่าเป็น “คำแปล” ได้ตรงไหนเลย

นั่นคือ ลงท้ายก็ต้องบอกว่า คาถา “อิติปิโสวิเสเสอิ … อิโสตังพุทธะปิติอิ” นี้ ยังมองไม่เห็นว่าจะแปลออกมาเป็นอย่างข้อความที่อ้างว่าเป็น “คำแปล” นั้นได้อย่างไร

จึงกลายเป็นว่า คาถามงกุฎพระพุทธเจ้านี้มีปัญหาใหญ่อยู่ ๒ ข้อ

๑ “อิติปิโสวิเสเสอิ … อิโสตังพุทธะปิติอิ” ย้ายที่กลับไปเป็นรูปคำเดิมว่าอย่างไร

๒ ข้อความที่อ้างว่าเป็น “คำแปล” เอามาจากไหน คำบาลีที่เป็นต้นฉบับของคำแปลว่าอย่างไร

………………..

คาถามงกุฎพระพุทธเจ้านี้ สมัยผมเป็นเณรอายุ ๑๖-๑๗ ก็เคย “เล่น” กับเขาด้วยเหมือนกัน หลวงลุงที่เป็นผู้ปกครองผมท่านเป็นเสือเก่า เล่นคาถา ท่านสอนคาถาต่างๆ ให้ผม มีคาถามงกุฎพระพุทธเจ้านี้ด้วยบทหนึ่ง แต่ยืนยันได้ว่ามีเฉพาะตัวคาถา ไม่มีคำแปล แต่จะไม่มีคำแปลมาแต่เดิม หรือมีคำแปล แต่นักเล่นคาถาแถวบ้านผมท่านไม่ได้เอาคำแปลติดมาด้วย อันนี้ไม่อาจทราบได้ แต่นักเล่นคาถาทั่วไปนิยมเล่นกันเฉพาะตัวคาถา ไม่มีแปล ซึ่งก็สอดคล้องกับค่านิยมที่บอกแล้วว่า เล่นคาถาไม่ต้องแปล แปลแล้วไม่ขลัง

ที่เอาเรื่องนี้มาเขียน เจตนาก็คือจะขอแรงนักเรียนบาลีทั้งหลายสละเวลาช่วยกันค้นหาที่ไปที่มาของคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งที่ไปที่มาของข้อความที่อ้างว่าเป็น “คำแปล” สักหน่อย จะได้ไหม 

หรือว่าท่านผู้ใดใครผู้หนึ่งรู้เรื่องนี้หรือมีข้อมูล ถ้าจะกรุณานำมาเปิดเผยสู่กันฟัง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ผมว่านี่คือ “บาลีกีฬา” ชนิดหนึ่งของนักเรียนบาลี 

อีกประการหนึ่ง เราเรียนบาลีก็เพื่อให้มีความรู้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัยปัญหาที่มีต้นเหตุมาจากคำบาลีหรือที่อ้างว่าแปลมาจากคำบาลีแบบนี้แหละ เรื่องแบบนี้จึงเป็นงานหรือหน้าที่โดยตรงของนักเรียนบาลี

เหมือนคนเรียนหมอ ก็เพื่อรักษาคนป่วย

บัดนี้มีคนป่วยถูกหามมานอนอยู่ตรงหน้าแล้ว

ช่วยกันรักษาหน่อยเถิด

ถ้ารักษาก็ไม่ได้ วินิจฉัยก็ไม่เป็น ก็เท่ากับเพิ่มปัญหาใหญ่ขึ้นอีกข้อหนึ่ง นั่นคือ –

เราเรียนหมอกันถูกวิธี เรียนบาลีกันถูกทาง-แล้วหรือยัง?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๑:๒๑

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *