บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มอง “กตัญญู” ให้ถูกมุม

มอง “กตัญญู” ให้ถูกมุม

———————–

พอเอ่ยคำว่า “กตัญญู” คนส่วนมากมักจะวาดภาพออกมาเป็น —

คนคนหนึ่งต้องยอมสยบให้แก่อีกคนหนึ่งอย่างราบคาบ 

คนคนหนึ่งต้องรับภาระบริการให้แก่อีกคนหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ 

คนคนหนึ่งต้องทิ้งอิสระเสรีในชีวิตของตนเพื่อรับใช้อีกคนหนึ่งอย่างไม่มีเงื่อนไข

ฯลฯ

เพราะคิดอย่างนี้ จึงทำให้คนรุ่นใหม่ที่บูชาความเสมอภาค บูชาเสรีภาพ พากันปฏิเสธ “กตัญญู” ดังแนวคิดที่แสดงออกทั่วไป เช่น –

พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ 

ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ 

พระมหากษัตริย์ไม่มีบุญคุณ 

สถาบันกษัตริย์ไม่มีประโยชน์ 

พระสงฆ์ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ไม่จำเป็นต้องบริการพระสงฆ์ให้ต่างไปจากประชาชนทั่วไป

ฯลฯ

ยิ่งเราแปล “กตเวที” (กตเวทีเป็นคำที่มาคู่กับกตัญญู) ว่า “ตอบแทนคุณ” ก็ยิ่งตอกย้ำความคิดต่อต้านคุณธรรมกตัญญูให้ตกลึกลงไปอีก เพราะรู้สึกว่า-มันเรื่องอะไรที่คนหนึ่งจะต้องไปเป็นทาสรับใช้อีกคนหนึ่งแบบนั้น

………………..

โดยหลักภาษา คำว่า “กตัญญู” หมายถึงตัวบุคคล ถ้าหมายถึงคุณธรรมของบุคคล ท่านใช้คำว่า “กตัญญุตา” แปลว่า “ความเป็นผู้กตัญญู” (gratefulness)

แต่ในภาษาไทย เรามักพูดคลุมๆ ไปว่า “กตัญญู” โดยหมายถึงทั้งตัวบุคคลและคุณธรรมของบุคคล

“กตัญญู” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่ถูกทำไว้” (knowing what has been done)

กต = สิ่งที่ถูกทำไว้

ญู = ผู้รู้

ขยายความว่า เราได้เห็น ได้สัมผัส ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีผู้ทำไว้ หรืออะไรสักอย่างที่มีใครหรือกระบวนการอะไรสักอย่างทำให้มันมีขึ้นเกิดขึ้น แล้วเราไปหยิบฉวยเอาประโยชน์หรือได้รับประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งจากสิ่งนั้น ครั้นแล้วเราก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์สำหรับเรา – นี่คือความหมายของกตัญญูหรือกตัญญุตา

พูดสั้นๆ กตัญญู คือยอมรับว่าสิ่งนั้นหรือคนนั้นมีประโยชน์ (gratitude)

ส่วน “กตเวที” แปลตามศัพท์ว่า “บอกให้รู้ว่าเรายอมรับว่าสิ่งนั้นหรือคนนั้นที่เป็นผู้ทำสิ่งนั้นมีประโยชน์” 

กตัญญู คือตัวเองยอมรับ (ตัวเองรู้อยู่คนเดียว)

กตเวที คือบอกให้คนอื่นรับรู้ถึงการยอมรับของตัวเองด้วย

กตัญญู = ฉันรู้แล้ว

กตเวที = บอกคนอื่นให้รู้ด้วยว่าฉันรู้แล้ว

ตามหลักภาษา จะเห็นได้ว่า กตัญญูกตเวที ไม่ได้มีความหมายเลยว่า คนคนหนึ่งจะต้องยอมเป็นทาสรับใช้ของอีกคนหนึ่ง หรือคนคนหนึ่งจะต้องหาอะไรไปประเคนให้อีกคนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา

กตัญญูกตเวที เป็นเรื่องของการรับรู้และแสดงออกให้เห็นว่าเรารับรู้-แค่นี้เอง

ท่านไม่ได้สอนหรือสั่งให้ใครไปเป็นทาสรับใช้ใครที่ไหนเลย

แต่ใครจะมีวิธีแสดงออกให้โลกรู้ว่าตนมีกตัญญูอย่างไร ก็เลือกแสดงออกได้โดยเสรี ท่านไม่ได้บังคับว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นเสรีภาพทางธรรมที่เปิดกว้างอย่างยิ่ง 

ใครจะทำหรือไม่ทำ เชิญตามสบาย 

และถ้าทำ จะทำด้วยวิธีการอย่างไร ก็เชิญตามสบายอีกเช่นกัน

………………..

ส่วนกรณีที่ใครควรทำอะไรให้แก่ใครนั้น ท่านสอนไว้เป็นต่างหากอีกส่วนหนึ่ง เป็นคนละเรื่องกับกตัญญู 

เช่น –

สามีควรทำอะไรให้ภรรยา 

ภรรยาควรทำอะไรให้สามี

ลูกควรทำอะไรให้พ่อแม่

พ่อแม่ควรทำอะไรให้ลูก

ศิษย์ควรทำอะไรให้ครูบาอาจารย์

ครูบาอาจารย์ควรทำอะไรให้ศิษย์

ผู้บังคับบัญชาควรทำอะไรให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

ผู้ใต้บังคับบัญชาควรทำอะไรให้ผู้บังคับบัญชา

ชาวบ้านควรทำอะไรให้พระสงฆ์

พระสงฆ์ควรทำอะไรให้ชาวบ้าน

อย่างนี้เป็นต้น

โปรดสังเกตว่า เรื่องใครควรทำอะไรให้ใครนี้ท่านสอนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่สอนฝ่ายหนึ่งให้ทำแก่ฝ่ายหนึ่งข้างเดียว อีกฝ่ายนั่งรับประโยชน์หรือนอนเสวยผลอย่างเดียว แต่สอนให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน ไม่ต้องอ้างถึงกตัญญูหรือไม่กตัญญู แต่ยึดหน้าที่เป็นหลัก

………………..

อนึ่ง ผู้รู้ท่านแสดงหลักความจริงไว้ว่า –

………………………………….

อาหารนิทฺทา  ภยเมถุนญฺจ

สามญฺญเมตปฺปสุภี  นรานํ

ธมฺโมว  เตสํ  อธิโก  วิเสโส

ธมฺเมน  หีนา  ปสุภี  สมานา.

กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

มีเสมอกันทั้งคนและสัตว์

ธรรมทำให้คนประเสริฐเหนือสัตว์

เสื่อมจากธรรม คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์

………………………………….

การที่มนุษย์มีคุณธรรมคือกตัญญู (ตามความหมายที่อธิบายข้างต้น) ย่อมเป็นเครื่องประกาศถึงความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เพราะกตัญญู (ตามความหมายที่อธิบายข้างต้น) เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งรวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” (บาลีข้างต้น – ธมฺโม)

คุณธรรมคือกตัญญูนี้สัตว์มันไม่รู้จัก มันมีไม่เป็น (เว้นแต่สัตว์ที่ท่านเล่าเป็นบุคลาธิษฐานในนิทานชาดก)

การมีธรรมคือกตัญญูจึงไม่ใช่มีเพื่อทำให้นักสอนศาสนาถูกใจ-ว่า เออ คนนี้ดี ปฏิบัติตามคำสอนของเรา 

หรือมีเพื่อให้ใครยกย่องชื่นชม 

หากแต่มีตามหน้าที่ของมนุษย์

ใครรู้ตัวว่าตัวเองเป็นมนุษย์ ก็สมควรมี

ใครไม่มีกตัญญู (ตามความหมายที่อธิบายข้างต้น) ก็ไม่มีใครไปทำอะไรใครได้ เพราะมันเป็นสิทธิเสรีภาพของมนุษย์อยู่แล้วที่จะมีหรือไม่มีก็ได้

มนุษย์กับสัตว์มีพฤติกรรมที่เป็นมาตรฐานกลางร่วมกันอยู่แล้วตามธรรมชาติ (กิน นอน กลัว สืบพันธุ์

ใครไม่มีธรรมคือกตัญญู (ตามความหมายที่อธิบายข้างต้น) ก็ไม่ต้องมีใครไปประกาศตัดสินว่าดีชั่วถูกผิดประการใดให้อีก 

พฤติกรรมของตนประกาศตัวเองอยู่แล้วในตัว 

ไม่มีใครต้องไปทำอะไรให้ใคร แต่ละคนทำเอาเอง

ทำใครทำมัน เลือกทำเอาสิ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๖:๒๖

ครูทองย้อนดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *