บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ไอ้แก้ว

ไอ้แก้ว

——-

เป็นที่รู้กันว่าบริษัทห้างร้านเอกชนนั้น รับใครเข้าทำงานไปได้พักใหญ่ ใช้งานจน “จืด” แล้ว และเงินเดือนชักจะสูงขึ้น ก็จะบีบให้ออกด้วยวิธีการที่แนบเนียนหลายรูปแบบ 

ยกเว้นรายที่เจ๋งจริงๆ และเจ้าของกิจการยังต้องพึ่งอยู่เท่านั้นที่จะได้ทำงานต่อไป ซึ่งก็จะมีน้อยราย 

เหตุผลง่ายๆ ที่พูดกันก็คือ เงินเดือนคนเก่าคนเดียวจ้างคนใหม่ได้ ๒ คน 

นี่เป็นการมองแต่ผลประโยชน์ของเจ้าของกิจการโดยแท้ ซึ่งผมเรียกว่า “ระบบบริหารแบบอกตัญญู” 

——————

ในภาษาไทยมีสำนวนว่า “ยามดีก็ใช้ ยามไข้ก็รักษา” หมายถึงลูกจ้าง คนรับใช้ คนที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยอยู่ช่วยกันทำมาหากินมาด้วยกัน เมื่อถึงเวลา หมดแรง ทำงานไม่ไหวแล้ว เจ้านายก็ยังช่วยดูแลกันต่อไป

“ไข้ก็รักษา” เป็นเพียงตัวอย่าง แต่หมายรวมถึงการดูแลรับผิดชอบต่อการดำรงชีพทั้งปวง แบบ-เลี้ยงกันไปจนตาย

อย่างระบบราชการ เกษียณแล้วมีบำเหน็จบำนาญ นี่ก็คือ “ยามดีก็ใช้ ยามไข้ก็รักษา” ซึ่งควรเรียกว่า “ระบบบริหารแบบกตัญญู” 

เคยมีนักการเมืองที่เข้าไปเป็นรัฐบาล เอางบประมาณที่ต้องจ่ายเป็นเงินบำนาญให้ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้วมาดู เห็นว่าเป็นตัวเลขสูงมาก ก็คิดแบบเจ้าของกิจการที่มองเห็นแต่ประโยชน์ของบริษัท นั่นคือคิดจะยกเลิกระบบบำนาญ จะใช้ระบบเกษียณแล้วตัดหางปล่อยวัด

ความคิดอกตัญญูนี้ต้องระงับไป จะด้วยมโนธรรมเข้ามาเตือน หรือยังไม่สบโอกาสก็ไม่ทราบได้

แต่ระบบ “ยามดีกูใช้ ยามไข้กูทิ้ง” ก็ทำท่าจะแทรกเข้ามามากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่ากำหนดให้มีตำแหน่งที่ “ไม่ใช่ข้าราชการ” มากขึ้น อย่างกรณีผู้ทำหน้าที่สอนหรือครู เดี๋ยวนี้ไม่บรรจุเป็นข้าราชการ (เพราะกลัวจะต้องจ่ายบำนาญ เปลืองงบประมาณแผ่นดิน) แต่ให้ทำหน้าที่เป็น “ครูจ้างสอน” จ้างกันเป็นรายปี หมดแรงสอนก็เชิญออกไปได้ รัฐบาลไม่ต้องเลี้ยง

เป็น “ระบบบริหารแบบอกตัญญู” โดยแท้

——————-

คิดดูตามความเป็นจริงของมนุษย์ เมื่อทำงานจนหมดกำลังแล้ว ถ้าไม่มีคนดูแล ไม่มีระบบช่วยเหลือดูแลกัน เขาจะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไร 

กำลัง ความสามารถ เรี่ยวแรง ถูกนายจ้างรีดเอาไปใช้ประโยชน์จนหมดแล้ว 

เรามักคิดแทนนายจ้างว่า เขาก็ให้เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ เป็นประโยชน์ตอบแทนระหว่างการทำงานแล้ว จะเอายังไงอีก 

ก็ถูก แต่ถามว่าให้ตอนนั้นเพื่ออะไร ก็เพื่อให้มีแรงทำงานให้นายจ้าง ใช่ไหม ก็คือให้-เพื่อประโยชน์ของนายจ้างนั่นเอง แล้วอะไรคือสิ่งที่ให้-เพื่อประโยชน์ของคนทำงานล้วนๆ แท้ๆ?

อย่างที่สำนวนฝรั่งบอกว่า-เหมือนหมาไล่เนื้อ ยังกวดเนื้อทัน ล่าเนื้อได้ เขาก็เลี้ยงไว้ พอแก่ตัว ล่าไม่ไหวแล้ว เขาก็ฆ่าทิ้ง

เป็นระบบที่คนทำกับสัตว์ ไม่ควรเป็นระบบที่คนทำกับคน

——————-

ตอนผมทำนาอยู่กับปู่ย่าบุญธรรม (ครอบครัวที่มีลูก ๙ คน รับผมเป็นลูกคนที่ ๑๐ ผมเรียกพ่อแม่ของพี่ๆ บุญธรรมว่าปู่กับย่า) เรามีวัวไถนาหลายคู่ วัวตัวเมียและวัวเล็กอีกหลายตัว เรียกว่ามีวัวเป็นฝูงนั่นแหละ วัวทั้งฝูงนี่แหละที่เป็นหน้าที่ของผมดูแล ที่เรียกกันว่า “เด็กเลี้ยงวัว” ปู่กับย่าบอกว่า พอผมโต มีเมีย จะหาวัวไถนาให้อีกคู่หนึ่ง 

ในบรรดาวัวไถนาหรือวัวงานหลายคู่นั้น มีตัวหนึ่งสีดำขาว ที่เรียกกันวัวด่าง ที่ปากมีด่างทั้งข้างล่างข้างบนเหมือนคาบแก้ว เลยตั้งชื่อว่าไอ้แก้ว 

ไอ้แก้วไม่ใช่วัวลูกคอก (ลูกคอก: ลูกวัวหรือควายที่เกิดจากแม่ที่เลี้ยงไว้ในคอก) เป็นวัวหนุ่มที่ปู่กับย่าซื้อมาอีกต่อหนึ่ง ใช้งานมาหลายปีก่อนที่ผมจะมาอยู่ และผมก็ทำหน้าที่เลี้ยงไอ้แก้วต่อมาอีกเกือบ ๕ ปี จนไอ้แก้วเป็นวัวแก่ ไถนาไม่ไหวแล้ว 

พี่ๆ แอบปรึกษากันว่าจะเอาไอ้แก้วไปขายแขก 

คำว่า “ขายแขก” หมายถึงขายโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งแถวบ้านผมเวลานั้นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อวัวไปฆ่าคือแขกปาทาน 

ซุบซิบกันท่าไรไม่ทราบ ได้ยินไปถึงหูย่า

เท่านั้นแหละฟ้าผ่า 

ย่าเอ็ดตะโรลั่นบ้าน ใครจะเอาไอ้แก้วไปขายต้องข้ามศพกูไปก่อน 

ปู่กับย่าช่วยกันอธิบายว่า ไอ้แก้วอยู่ช่วยทำมาหากินด้วยกันมานานเหมือนคู่ทุกข์คู่ยาก ตายก็กินเนื้อไอ้แก้วไม่ลง 

“ตั้งแต่ซื้อไอ้แก้วมา ทำกินไม่เคยอดเคยอยาก” เป็นคำของปู่ 

ผมก็เลยได้เลี้ยงไอ้แก้วต่อมา จนผมไปบวชเณรได้พรรษาหนึ่งไอ้แก้วจึงตายเอง 

ธรรมดาวัวตายทั้งตัว จะฝังดินเปล่าๆ ก็เสียดาย เนื้อไอ้แก้วถูกแจกจ่ายไปในประดาเพื่อนบ้าน 

มีคนบอกว่าย่าร้องไห้อยู่ ๓ วัน ปู่กับย่าไม่แตะเนื้อไอ้แก้วสักคำ ไม่มองด้วยซ้ำ 

………………

เทียบกับเจ้าของบริษัทห้างร้านที่นิยมใช้วิธีบริหารแบบ-บีบคนเก่าให้ออกแล้ว 

ผมว่าปู่กับย่าผมอารยะกว่าเยอะ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ กรกฎาคม ๒๕๖๒

๑๕:๕๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *