เจษฎาจารย์ (บาลีวันละคำ 3,492)
เจษฎาจารย์
คำที่ฝรั่งได้รับการยกย่องในเมืองไทย
อ่านว่า เจด-สะ-ดา-จาน
แยกศัพท์เป็น เจษฎา + อาจารย์
(๑) “เจษฎา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เจษฎา” ไว้ 2 คำ ดังนี้ –
(1) เจษฎา ๑ : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่ที่สุด, พี่. (ป. เชฏฺฐ; ส. เชฺยษฺฐ).
(2) เจษฎา ๒ : (คำนาม) การเคลื่อนไหวอวัยวะ, การไหวมือและเท้า, ท่ารํา; กรรม, การทําด้วยตั้งใจ, การประพฤติ, การตั้งใจทํา, เช่น ภูบาลทุกทวี- ปก็มาด้วยเจษฎา. (สมุทรโฆษ). (ส. เจษฺฏา).
ในที่นี้ “เจษฎา” มีความหมายตามข้อ (1) ซึ่ง พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลีเป็น “เชฏฺฐ” และสันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ”
“เชฏฺฐ” (เชด-ถะ) ในบาลี รากศัพท์มาจาก วุฑฺฒ (เจริญ) + อิฏฺฐ ปัจจัย, แปลง วุฑฺฒ เป็น ช, แปลง อิ ที่ อิฏฺฐ เป็น เอ (อิฏฺฐ > เอฏฺฐ)
: วุฑฺฒ > ช + อิฏฺฐ = ชิฏฺฐ > เชฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “คนที่เจริญโดยวิเศษกว่าคนที่เจริญคนนี้ ๆ”
วาดเป็นภาพว่า ให้คนเจริญคือมีอายุมากมารวมกันหลายๆ คน แยกคนที่เจริญกว่าเพื่อนออกมาคนหนึ่ง แล้วชี้ไปที่คนอื่นๆ พลางพูดว่า “คนนี้เจริญกว่าคนพวกนี้”
“เชฏฺฐ” หมายถึง เจริญที่สุด หรือประเสริฐที่สุด
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายตามรากศัพท์ว่า “stronger than others” (แข็งแรงกว่าผู้อื่น) และบอกความหมายว่า better [than others], best, first, supreme; first-born; elder brother or sister, elder, eldest (ดีกว่า [สิ่งหรือผู้อื่น], ดีที่สุด, เลิศ, ยอด; หัวปี; พี่ชายหรือพี่สาวคนโต, แก่กว่า, แก่ที่สุด)
เชฏฺฐ สันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เชฺยษฺฐ : (คำคุณศัพท์) ดียิ่ง, วิเศษยิ่ง, ประเสริฐ, บรม; แก่ยิ่ง, เก่ายิ่ง; เกิดก่อน; best, most excellent, pre-eminent; very old, oldest; or elder born;- น. ดาวหมู่หนึ่งซึ่งนับเป็นนักษัตร นักษัตรหมู่ที่สิบแปด, มีดาวอยู่สามดวง ๆ หนึ่งได้แก่ดาวแมลงป่อง; นิ้วกลาง; ทุกข์อันโรปยติเป็นภควดี; แม่น้ำคงคา; จิ้งจก; ชื่อเดือน; ความชรา; one of the asterisms considered as a lunar mansion; the eighteenth lunar mansion comprising three stars, of which one is Scorpionis; the middle finger; misfortune, personified as a goddess; the Ganges; a small house-lizard; the name of a month; old age.”
ปกติคำที่มาจากบาลีสันสกฤต ในภาษาไทยถ้าไม่เขียนตามบาลีก็เขียนตามหรืออิงสันสกฤต “เจษฎา” ตามความหมายนี้ ไม่ใช่ทั้งบาลีและสันสกฤต ถ้าเช่นนั้นทำไมเราจึงสะกดแบบนี้ ?
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เจษฺฏา” บอกไว้ว่า –
“เจษฺฏา : (คำนาม) อุตสาหะ, การพยายาม, การพากเพียร; effort, exertion, bodily effort.”“เจษฺฏา” รูปคำเหมือน
“เจษฎา” ในภาษาไทย แต่ความหมายไม่เหมือนกันเลย
สันนิษฐานว่า เราคงเลี่ยง “เชฏฺฐ” บาลี แต่ไปเจอ “เชฺยษฺฐ” สันสกฤตเข้าก็ยังไม่ถูกใจ จึงแผลงรูปให้เป็นสันสกฤตแปลง และมีเสียงคล่องปากขึ้น
เชฏฺฐ > เชฏฺฐา >เชฺยษฺฐ > เชฺยษฺฐา > เจษฎา
อาจกล่าวได้ว่า เราใช้รูป “เจษฎา” ตามความหมายของ “เชฏฺฐา” นั่นเอง (ช กับ จ กลายเสียงแทนกันได้) กล่าวอีกนัยหนึ่ง “เจษฎา” เป็นบาลีสันสกฤตแปลงตามภูมิปัญญาไทยสรุปว่า “เจษฎา” หมายถึง พี่ชายคนโต หรือผู้ที่อายุมากหรืออาวุโสสูงกว่าคนอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน
(๒) “อาจารย์” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาจริย” อ่านว่า อา-จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประพฤติเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่ศิษย์”
(2) อา (จากศัพท์ “อาทิ” = เบื้องต้น) + จรฺ (ธาตุ = ศึกษา) + อิย ปัจจัย: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังศิษย์ให้ศึกษามาแต่ต้น”
(3) อา (จากศัพท์ “อาทร” = เอื้อเฟื้อ, เอาใจใส่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือปรนนิบัติด้วยความเอาใจใส่”
(4) อา (แข็งแรง, จริงจัง, ยิ่งใหญ่) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ศิษย์อย่างดียิ่ง”
(5) อา (แทนศัพท์ “อภิมุขํ” = ข้างหน้า, ตรงหน้า) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติทำไว้ข้างหน้า” (คือศิษย์พึงดำเนินตาม)
(6) อา (แทนศัพท์ “อาปาณโกฏิกํ” = ตลอดชีวิต) + จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ) + อิย ปัจจัย: อา + จรฺ = อาจรฺ + อิย = อาจริย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันศิษย์พึงประพฤติ คือพึงปรนนิบัติตลอดชีวิต”“อาจริย” แปลทับศัพท์เป็นรูปสันสกฤตว่า
“อาจารย์” (a teacher)พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -“อาจารย์ : (คำนาม) ผู้สั่งสอนวิชาความรู้; คําที่ใช้เรียกนําหน้าชื่อบุคคลเพื่อแสดงความยกย่องว่ามีความรู้ในทางใดทางหนึ่ง. (ส.; ป. อาจริย).”
เจษฎา + อาจารย์ = เจษฏาจารย์ แปลว่า “อาจารย์ผู้เป็นใหญ่” (คือมีอาวุโสสูงกว่าอาจารย์อื่นๆ ในสถาบันเดียวกัน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำว่า “เจษฏาจารย์” ไว้
“เจษฏาจารย์” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็จะเป็น “เชฏฺฐาจริย” (เชด-ถา-จะ-ริ-ยะ)
ยังไม่พบคำว่า “เชฏฺฐาจริย” ในคัมภีร์บาลี
อภิปรายขยายความ :
มีผู้แสดงข้อมูลว่า คำว่า “เจษฏาจารย์” แปลมาจากคำอังกฤษว่า brother
คำว่า brother พจนานุกรม สอ เสถบุตร แสดงไว้ดังนี้ -.
………….
brother (บรัฑ-เออะ) n. (สอ เสถบุตร)
brotherhood (บรัฑ-เออะฮุด) n.
brotherly (บรัฑ-เออะลิ) adj.
brotherlike (บรัฑ-เออะไลค) adj.brotherliness (บรัฑ-เออะลิเน็ซ) n.
1. น้องชาย, พี่ชาย, พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน, พี่น้องร่วมอาชีพพหูพจน์ใช้ว่า brothers บรัฑ-เอิส
2. ทำงานด้วยกัน, ฉันพี่น้อง
3. คณะ, สมาคมภราดรภาพ, เจษฏาจารย์, บาทหลวงพหูพจน์ใช้ว่า brethren บเรฑ-เร็น
…………..
เป็นอันว่า คำว่า “เจษฏาจารย์” มีใช้เป็นคำแปลคำอังกฤษว่า brother
เท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยสดับตรับฟังมา บุคคลที่มีผู้เรียกขานว่า “เจษฏาจารย์” มีคนเดียว คือบาทหลวง ฟ. ฮีแลร์
เฟซบุ๊กของโรงเรียนอัสสัมชัญโพสต์เรื่องของ ฟ. ฮีแลร์ ไว้ ขอยกมาให้อ่านกันตามที่ปรากฏในโพสต์ ดังนี้
…………..
Assumption College • โรงเรียนอัสสัมชัญ
18 มกราคม 2018
ฟ.ฮีแลร์
—————————-
ฟรองซัว ตูเวอเน (ฝรั่งเศส: François Touvenet) หรือที่รู้จักในนาม ฟ.ฮีแลร์ (F. Hilaire) หรือ เจษฎาจารย์ฮีแลร์ (18 มกราคม พ.ศ.2424 – 3 ตุลาคม พ.ศ.2511) เป็นนักบวชคณะภราดาเซนต์คาเบรียล เจ้าของสมญานาม “ปราชญ์แห่งอัสสัมชัญ” ได้รับการยกย่องในด้านความแตกฉานภาษาไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากท่านเป็นชาวฝรั่งเศสมาแต่กำเนิด จนเมื่อได้มาอยู่ที่ประเทศไทย ท่านก็ศึกษาภาษาไทยจนแตกฉานและสามารถแต่งหนังสือเรียนภาษาไทยให้เด็กไทยเรียนได้ นามว่า “ดรุณศึกษา” ท่าน ฟ.ฮีแลร์ เป็นหนึ่งในสองบุคคลที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมกับ คุณพ่อกอลมเบต์ ปัจจุบัน ณ โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ และสร้างอาคารโดยใช้ชื่อตามภราดา ฟ.ฮีแลร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านทั้งต่อโรงเรียนและต่อประเทศชาติ
คำว่า ฟ.ฮีแลร์ เป็นศาสนนามของภราดาฟร็องซัว ตูเวอแน โดย ฟ. มิได้ย่อมาจากนามเดิม หากย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส frère ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Brother ซึ่งบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “เจษฎาจารย์” หรือ ภราดา
และทุกวันที่ 18 มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน โรงเรียนอัสสัมชัญ จะจัดงาน ฟ.ฮีแลร์ รำลึก เพื่อน้อมรำลึกถึงเจษฎาจารย์ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ
——————————–
เจษฎาจารย์ มาจากคำสันธิ ระหว่าง เจษฎา (เจษฎา หมายถึง ภราดา หรือ พี่ชาย ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ Brother) กับ อาจารย์ ซึ่ง ภราดา ฟ.ฮีแลร์ เป็นภราดา 5 ท่านแรกของคณะเซนต์คาเบรียล ที่เดินทางมารับช่วงการศึกษาต่อจากบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ และรับหน้าที่เป็นครูดูแลด้านการปกครองนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญที่มา:https://www.facebook.com/AssumptionCollege1885/posts/1603456569742777
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ายังไม่มีดีให้เขายกย่อง
: ก็ต้องเริ่มด้วยการรู้จักยกย่องคนดี
…………..
#บาลีวันละคำ (3,492)
3-1-65
…………………………….