บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แด่ผู้ที่ยังหลงเหลืออยู่

แด่ผู้ที่ยังหลงเหลืออยู่

———————–

ปกติวันพระ กิจประจำของผม คือ ตอนเช้าไปทำบุญที่วัด 

ตอนบ่ายไปสนทนาธรรมกับผู้ถืออุโบสถศีลที่วัด 

วัดมหาธาตุ ราชบุรี ทำบุญวันพระตลอดปี 

มีผู้ถืออุโบสถไม่มาก

ในพรรษามีหลายคน

นอกพรรษามีน้อยคน

การสนทนาธรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคน แต่ขึ้นอยู่กับเจตนา คือมีเจตนาจะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัยสู่กันฟัง 

ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า-ชาวพุทธระดับรากหญ้าของเราส่วนมากความรู้ความเข้าใจในหลักพระธรรมวินัยมีน้อยอย่างยิ่ง

ความไม่รู้ไม่เข้าใจก็อย่างที่ผมยกตัวอย่างบ่อยๆ-เมื่อเช้าใส่บาตร ลืมกรวดน้ำ จะได้บุญหรือไม่ 

แค่นี้ก็ตอบตัวเองไม่ได้ 

ตอบได้ ก็ตอบตามความเข้าใจเอาเอง อ้างหลักพระธรรมวินัยมายืนยันรับรองไม่ได้

แบบนี้เป็นกันมาก-คือ ยึดความเข้าใจเอาเองเป็นหลัก ไม่นิยมศึกษา ไม่ชอบสอบถาม ไม่อ่านไม่ค้น เข้าใจอย่างไรก็ทำไปอย่างนั้น

กับอีกอย่างหนึ่ง-เชื่อตามที่มีผู้บอก เขาว่าเป็นอย่างนี้ เขาว่าเป็นอย่างนั้น 

ถ้าผู้บอกเป็นพระสงฆ์ ก็เชื่อง่ายขึ้น และเชื่อว่าจริงที่ตามพระท่านบอก 

เจอพระที่ศึกษาค้นคว้า ก็รอดตัวไป 

เจอพระที่ก็-ยึดความเข้าใจเอาเองเป็นหลักอีกเหมือนกัน ก็เสี่ยงผิดเสี่ยงถูก 

บอกถูกก็รอดตัว บอกผิดก็ไปคนละเรื่อง 

หรือไปเจอพระที่ยึดถือหลักแบบนั้นแบบนี้อย่างฝังหัว พระธรรมวินัยว่าไว้อย่างไรไม่รับรู้ รู้แต่ว่าฉันเข้าใจอย่างนี้ ฉันพอใจคำอธิบายหรือความหมายแบบนี้ ฉันก็จะบอกจะสอนแบบนี้แหละ ใครจะทำไม 

เจอแบบนี้เข้าก็ยุ่งไปอีกแบบ 

เป็นความเชื่อที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็รอดตัวไป

แต่ถ้า-ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ก็พาคนฟังคนเชื่อไปคนละโลกอีกเหมือนกัน

พูดอย่างนี้ เรื่องหนักก็ไปอยู่ที่ว่า-แล้ว “พระธรรมวินัย” ที่ว่านี่คืออะไรกันเล่า 

บางทีก็ไม่มีความรู้พื้นฐานไปจากตรงนี้เลยทีเดียว คือตรงที่ไม่รู้ว่า “พระธรรมวินัย” คืออะไร

พูดคลุมๆ ไปว่า “พระธรรมวินัย” แต่ชี้ชัดไม่ได้ว่าคืออะไรและคืออย่างไร-เพราะไม่ศึกษา

เวลานี้เป็นกันมากแล้ว 

เข้ามาอยู่-หรือเข้าไปอยู่-ในพระธรรมวินัย และมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแท้ๆ แต่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย 

ไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่ “ห้ามทำ” และอะไรบ้างที่ “ต้องทำ” 

เมื่อไม่รู้ ก็ไปทำสิ่งที่ห้ามทำ และไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ 

ฝ่ายคนทั้งหลาย-ที่ก็ไม่รู้พอๆ กันนั่นเอง อาจจะไปชื่นชมผู้ทำสิ่งที่ห้ามทำ และไม่รู้สึกว่าบกพร่องกับผู้ไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ 

แล้วก็มีแนวโน้มว่า เรากำลังจะใช้จำนวนผู้ชื่นชมหรือจำนวนผู้ไม่ชื่นชมเป็นเกณฑ์ตัดสินความถูกผิด 

ทำอะไรลงไป มีผู้ชื่นชมมาก ก็เห็นกันว่าถูก มีผู้ชื่นชมน้อย ก็เห็นกันว่าไม่ถูก

ไม่ต่างอะไรกับที่เรากำลังใช้จำนวน like ตัดสินความนิยมที่มีต่อแต่ละโพสต์นั่นเอง 

พระธรรมวินัยว่าอย่างไร ไม่สำคัญ

สำคัญอยู่ที่-ทำอะไรลงไปแล้วมีผู้ชื่นชมเท่าไรนั่นต่างหาก-และผู้ชื่นชมนั้นจะรู้จักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องแค่ไหนก็ช่างปะไร 

เราต้องการจำนวน

แต่ไม่ได้ใคร่ครวญถึงคุณภาพ

เวลานี้เรากำลังอยู่กันในท่ามกลางความเป็นไปดังที่ว่ามานี้

———————

เมื่อวันก่อน ผมได้ยินแว่วๆ จากข่าว ดูเหมือนจะเป็นข่าวเกี่ยวกับการบวชภาคฤดูร้อนหรือบวชในโอกาสอะไรสักอย่าง มีการพูดถึงกิจวัตรประจำวันของผู้บวชว่าทำอะไรกันบ้าง 

มีอยู่ตอนหนึ่งเขาพูดว่า (เวลานั้นเวลานี้) “เป็นเวลาศึกษาพระธรรมวินัย” 

ได้ยินแว่วๆ เท่านั้น ผมก็ดีใจเป็นอันมากที่ยังมีคนคิดถึง “เวลาศึกษาพระธรรมวินัย” 

และยังแอบหวังว่า จะไม่ใช่เพียงแค่คำพูดโก้ๆ ที่ต้องพูดในกำหนดการหรือในการเขียนโครงการ-เพื่อให้ฟังดูดีและเพื่อให้ได้รับอนุมัติ

แต่ในการปฏิบัติจริง จะมีการศึกษาพระธรรมวินัยกันจริงจังแค่ไหน ยังน่าสงสัย 

การศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่ใช่เป็นเพียงแค่กิจกรรม 

แต่ต้องทำเป็นกิจวัตร 

และต้องพัฒนาจนกระทั่งเป็นวิถีชีวิต

………………..

ผมไปสนทนาธรรมทุกบ่ายวันพระ ก็ด้วยหวังว่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวคณะผู้ร่วมสนทนามีใจรักในการแสวงหาความรู้ในพระธรรมวินัย 

ผมอยากให้ทุกวัดในเมืองไทยมีทำบุญทุกวันพระตลอดทั้งปี

ผมอยากให้มีคนถืออุโบสถศีลกันทุกวัด จะกี่คนไม่สำคัญ คนเดียวก็ยังดี ขอให้มีเถอะ

ผมอยากให้ผู้ถืออุโบสถศีลมีชั่วโมงสนทนาธรรมโดยพระสงฆ์ในวัดนั้นๆ เป็นผู้นำ โดยใช้พระธรรมวินัยเป็นหลัก นั่นหมายถึงพระสงฆ์จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้พอที่จะนำญาติโยมชาวบ้านได้อย่างถูกต้อง 

ผมรู้ดีว่าผมไม่มีอำนาจวาสนาที่จะไปบันดาลให้เป็นไปได้อย่างที่ต้องการ 

ก็ได้แต่ลงมือทำตามกำลัง และได้แต่บอกกล่าวกันไว้

โดยหวังว่า ในโลกนี้จะยังพอมีผู้รักพระศาสนาหลงเหลืออยู่บ้าง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒

๑๘:๓๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *