บุรุษโทษ (บาลีวันละคำ 2465)
บุรุษโทษ
อ่านว่า บุ-หฺรุด-สะ-โทด
ประกอบด้วยคำว่า บุรุษ + โทษ
(๑) “บุรุษ”
บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุร (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุร + อิส = ปุริส แปลว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริส (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด)
: ปุ + ริส = ปุริส แปลว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่)
: ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป)
: ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป (= ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน)
: ป + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี > ส = ปุริส แปลว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ”
ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ.”
พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
(๒) “โทษ”
บาลีเป็น “โทส” (โท-สะ) รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)
: ทุสฺ + ณ = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน”
“โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)
(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)
หรือจำสั้นๆ :
(1) ความชั่ว (corruption)
(2) ความโกรธ (anger)
“โทส” ในบาลีเป็น “โทษ” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โทษ : (คำนาม) โทษ, ความผิด, พิรุทธ; บาป; โทษ, การละเมิด; ธาตุพิการ, หรือที่พิการ, และลมในร่างเดิรไม่สะดวก; fault, defect, blemish; sin; offence; transgression; disorder of the humours of the body or defect in the functions of the bile, and circulation of the mind.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “โทษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โทษ, โทษ– : (คำนาม) ความไม่ดี, ความชั่ว, เช่น โทษแห่งความเกียจคร้าน, ความผิด เช่น กล่าวโทษ, ผลแห่งความผิดที่ต้องรับ เช่น ถูกลงโทษ, ผลร้าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ. (คำกริยา) อ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย. (ส.; ป. โทส).”
ปุริส + โทส = ปุริสโทส (ปุ-ริ-สะ-โท-สะ) > บุรุษโทษ แปลว่า “ความผิดหรือข้อบกพร่องในบุรุษ” (faults or defects in a man)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “บุรุษโทษ” ไว้ว่า –
“บุรุษโทษ : (คำนาม) ลักษณะชั่วของคน.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามให้เป็นดังนี้ –
“บุรุษโทษ : (คำนาม) ลักษณะที่ไม่ดีของร่างกายคน เช่น ตาลึกข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ เล็บกุด.”
ขยายความ :
ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร (พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 1173, ชาตกัฏฐกถา ภาค 10 หน้า 219-221) แสดงรายการลักษณะ “บุรุษโทษ” ไว้ดังนี้ –
(1) พลงฺกปาโท (พะลังกะปาโท) เท้าคดทู่ตะแคง (ตีนแป)
(2) อทฺธนโข (อัทธะนะโข) เล็บเน่า
(3) โอพทฺธปิณฺฑิโก (โอพัทธะปิณฑิโก) ปลีน่องย้อยยาน
(4) ทีโฆตฺตโรฏฺโฐ (ทีโฆตตะโรฏโฐ) ริมฝีปากบนยาวยื่นปิดปาก
(5) จปโล (จะปะโล) น้ำลายไหล
(6) กฬาโร (กะฬาโร) เขี้ยวยื่นออกเหมือนเขี้ยวหมู
(7) ภคฺคนาสโก (ภัคคะนาสะโก) จมูกหัก (จมูกแฟบ)
(8) กุมฺโภทโร (กุมโภทะโร) ท้องพลุ้ยดังหม้อ
(9) ภคฺคปิฏฺฐี (ภัคคะปิฏฐี) หลังค่อม
(10) วิสมจกฺขุโก (วิสะมะจักขุโก) ตาข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่
(11) โลหมสฺสุ (โลหะมัสสุ) หนวดแข็งเหมือนทองแดง
(12) หริตเกโส (หะริตะเกโส) ผมบางเหลือง
(13) วลีนํ (วะลีนัง) หนังย่นเป็นเกลียว
(14) ติลกาหโต (ติละกาหะโต) ตัวตกกระ
(15) ปิงฺคโล (ปิงคะโล) ตาเหลือกเหลือง
(16) วินโต (วินะโต) คด 3 แห่ง คือ เอว หลัง คอ
(17) วิกโฏ (วิกะโฏ) เวลาเดินกระดูกลั่น
(18) พฺรหา ขโร (พ๎ระหา ขะโร) ขนหยาบยาว
เมื่อกล่าวถึง “บุรุษโทษ” เราก็มักจะนึกถึงชูชกอันเป็นบุคคลในมหาเวสสันดรชาดก เพราะท่านบรรยายว่า ชูชกมีลักษณะ “บุรุษโทษ” ครบหมดทั้ง 18 ประการ
แต่ความเป็นจริงแล้ว “บุรุษโทษ” ดังแสดงไว้นี้ บางอย่างหรือหลายอย่างอาจมีอยู่ในตัวของคนทั่วไปด้วยโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นใคร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การสร้างคุณงามความดีให้แก่ชีวิต
: มิได้สงวนสิทธิ์เฉพาะผู้มีรูปร่างหน้าตาดี
#บาลีวันละคำ (2,465)
13-3-62