บาลีวันละคำ

มมังการ (บาลีวันละคำ 2466)

มมังการ

“ของกู”

อ่านว่า มะ-มัง-กาน

ประกอบด้วยคำว่า มมัง + การ

(๑) “มมัง

เขียนแบบบาลีเป็น “มมํ” อ่านว่า มะ-มัง เป็นปุริสสรรพนาม (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด ไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ)

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “มมํ” (มะ-มัง) แปลว่า “ของข้าพเจ้า” “ของฉัน” หรือ “ของกู” แล้วแต่ฐานะหรืออารมณ์ของผู้พูด

(๒) “การ

บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเรื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” มีความหมายว่า –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ, หรือผู้จัดการหรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

ในภาษาไทย เรานำคำว่า “การ” มาใช้และกลายเป็นคำไทยจนแทบจะไม่ได้นึกว่าเป็นบาลี เช่นคำว่า “จัดการ” “เผด็จการ” เป็นต้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “การ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

(2) –การ ๒ : (คำนาม) ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.

(3) –การ ๓ : คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.

มมํ + การ แปลงนิคหิตที่ –มํ เป็น งฺ (มมํ > มมงฺ)

: มมํ + การ = มมํการ > มมงฺการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้ทำตนว่าของข้า” = การทำความยึดมั่นว่าสิ่งนี้เป็นของข้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มมงฺการ” ว่า selfish attachment, self-interest, selfishness (อุปาทานที่เห็นแก่ตัว, ผลประโยชน์สำหรับตนเอง, มมังการ, ความเห็นแก่ตัว)

มมงฺการ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “มมังการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มมังการ : (คำนาม) ความถือว่าเป็นของเรา. (ป.).”

แถม :

ในหลักธรรม “มมังการ” มักกล่าวควบไปกับคำอีก 2 คำ เหมือนเป็นชุดของคำพวกนี้ คือ –

(1) “อหังการ” การยึดถือว่าเป็นตัวเรา (belief in an ego)

(2) “มมังการ” การยึดถือว่าเป็นของเรา (selfish attachment)

(3) “มานะ” หรือ “มานานุสัย” การยึดถือตัวเทียบกับคนอื่น (bias of conceit)

อหังการ” ตรงกับที่พูดกันว่า “ตัวกู

มมังการ” ตรงกับที่พูดกันว่า “ของกู

มานานุสัย” ตรงกับที่พูดกันว่า “นี่กูนะ” (รู้จักกูน้อยไป!)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หวงแหนและหิวโหย

ทั้งกอบโกยว่าของกู

: หอบหิ้วไว้ท่วมหู

ไม่เคยรู้ว่าของลวง

#บาลีวันละคำ (2,466)

14-3-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *