บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

กฐิน : พุทธานุญาตที่ถูกเบี่ยงเบน [๑] (๐๑๓)

กฐิน : พุทธานุญาตที่ถูกเบี่ยงเบน [๑] (๐๑๓)

——————————–

มีญาติมิตรเสนอแนะว่า ให้พูดเรื่องกฐินบ้างเพราะเดือนนี้เป็นเดือนทอดกฐิน

ถ้ามองในแง่กาลเทศะ ก็นับว่าเหมาะ 

แต่ถ้ามองในแง่การแสวงหาความรู้ ผมไม่ค่อยเห็นด้วย 

ความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยควรหาเอาไว้ทุกๆ วัน 

ไม่ใช่หาตามเทศกาล 

อย่าแสวงหาความรู้เรื่องกฐินกันเฉพาะในช่วงเวลาทอดกฐินนี่เท่านั้น แต่ควรแสวงหากันเรื่อยไป

เมื่อมีความรู้ที่ถูกต้องแล้ว จะได้ไม่ทำผิดหรือสนับสนุนการทอดกฐินที่ทำกันผิดๆ 

มาหาความรู้กันในช่วงเวลานี้ ไปเห็นใครทอดกฐินกันผิดๆ ก็แก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว 

แต่ก็ยังดีครับ หาความรู้ไว้ แล้วช่วยกันเผยแพร่ต่อๆ ไป เห็นใครทำไม่ถูกก็ช่วยกันทักท้วง บอกกันให้รู้ไว้ว่าทีหลังอย่าทำ 

กฎเกณฑ์หลักๆ ของเรื่องกฐิน ผมเขียนไว้แล้วในหนังสือเรื่อง “ทอดกฐินให้ถูกวิธี” 

ขออนุญาตเอาลิงก์มาวางไว้ตรงนี้อีกที ใครอ่านแล้วเห็นว่ามีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอความเมตตาช่วยทักท้วงด้วยนะครับ

……………..

ทอดกฐินให้ถูกวิธี

https://drive.google.com/file/d/0B3WmxiNFNrf8OC12dnNqbGt5WTA/view

……………..

ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษก็คือ วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาร่วมรับกฐินเพื่อให้ครบ ๕ รูป สามารถทำได้หรือไม่ ถูกต้องหรือไม่

มีผู้ยกเรื่อง “กฐินพระรูปเดียว” ขึ้นมาอ้างว่า ใช้ได้

“กฐินพระรูปเดียว” ที่เรียกกันนั้น เป็นเรื่องในหมวด “จีวรขันธกะ” เป็นกรณีญาติโยมถวายจีวรโดยระบุเจตนาว่า “ถวายแก่สงฆ์” 

แต่เกิดเป็นประเด็นปัญหา เพราะในวัดนั้นมีพระจำพรรษาอยู่รูปเดียว ไม่มีสงฆ์

กรณีอย่างนี้จะปฏิบัติอย่างไร? 

ในคัมภีร์ท่านแสดงวิธีปฏิบัติไว้ ซึ่งถ้าปฏิบัติถูกวิธี ภิกษุรูปเดียวนั้นจะได้รับอานิสงส์เท่ากับได้รับกฐินเช่นกัน 

เป็นกรณีการรับถวายจีวรธรรมดา

ไม่ใช่กรณีถวายผ้ากฐิน

และไม่ใช่การรับกฐินรูปเดียว-แล้วไปนิมนต์พระต่างวัดมาร่วมให้ครบองค์สงฆ์ อย่างที่เข้าใจ

กรุณาอ้างให้ถูกคัมภีร์ ศึกษาพระบาลีให้ตรงกับเรื่อง 

ส่วนกรณีวัดที่มีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาร่วมรับกฐินเพื่อให้ครบ ๕ รูป ในคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายเรื่องรับกฐินโดยตรงท่านระบุไว้ชัดเจนโต้งๆ ว่า “ไม่ได้” 

ขอยกคัมภีร์มาแสดงไว้ในที่นี้ ขอแรงให้กัดฟันศึกษากันหน่อย ตามไปดูให้ถึงต้นตอ อย่าเพียงแต่พูดอ้างตามๆ กันไป

ในกฐินขันธกะ คัมภีร์มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๙๖ มีพระบาลีตอนหนึ่งว่า – 

………………..

เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  กฐินํ  อตฺถริตพฺพํ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ …

………………..

พระบาลีตรงนี้ คัมภีร์สมันตปาสาทิกา พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความไว้ ขอยกมาพร้อมทั้งคำแปลประโยคต่อประโยค ดังนี้

………………..

เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  กฐินํ  อตฺถริตพฺพนฺติ  เอตฺถ  

วินิจฉัยในคำว่า  เอวญฺจ  ปน  ภิกฺขเว  กฐินํ  อตฺถริตพฺพํ  นี้ พึงทราบดังนี้ :-

กฐินตฺถารํ  เก  ลภนฺติ  เก  น  ลภนฺตีติ  ฯ  

ถามว่า ใครได้กรานกฐิน ใครไม่ได้?

คณนวเสน  ตาว  

ตอบว่า ว่าด้วยกฎเกณฑ์เรื่องจำนวนกันก่อน  

ปจฺฉิมโกฏิยา  ปญฺจ  ชนา  ลภนฺติ  

ภิกษุห้ารูปเป็นอย่างต่ำย่อมได้กราน 

อุทฺธํ  สตสหสฺสมฺปิ  ฯ  

อย่างสูงแม้ตั้งแสนก็ได้  

ปญฺจนฺนํ  เหฏฺฐา  น  ลภนฺติ  ฯ  

หย่อนห้ารูป ไม่ได้

วุตฺถวสฺสวเสน  

ว่าด้วยกฎเกณฑ์เรื่องภิกษุผู้จำพรรษา  

ปุริมิกาย  วสฺสํ  อุปคนฺตฺวา  ปฐมปวารณาย  ปวาริตา  ลภนฺติ  

ภิกษุผู้เข้าพรรษาต้น ปวารณาในวันปฐมปวารณาแล้ว ย่อมได้ 

ฉินฺนวสฺสา  วา  ปจฺฉิมิกาย  อุปคตา  วา  น  ลภนฺติ 

ภิกษุผู้มีพรรษาขาด หรือเข้าพรรษาหลัง ย่อมไม่ได้ 

อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ  น  ลภนฺตีติ  มหาปจฺจริยํ  วุตฺตํ  ฯ

แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้ ในคัมภีร์มหาปัจจรีแก้ไว้ดังว่ามานี้

ที่มา: 

สมนฺตปาสาทิกา (อรรถกถาวินัยปิฎก) ภาค ๓ 

BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๓ หน้า ๒๑๐

CD ROM ฉบับเรียนพระไตรปิฎก หมวดอรรถถา เล่ม ๓ หน้า ๒๓๔,

หมวดหลักสูตรเปรียญ เล่ม ๔๗ หน้า ๒๑๐

………………..

ท่านบอกไว้ชัดๆ ตรงๆ ว่า “อญฺญสฺมึ  วิหาเร  วุตฺถวสฺสาปิ  น  ลภนฺติ” แปลว่า “แม้ภิกษุที่จำพรรษาในวัดอื่นก็ไม่ได้” 

ถ้าจะอ้างเรื่องรับกฐิน ต้องอ้างคัมภีร์ตรงนี้ เพราะท่านพูดถึงกฎเกณฑ์โดยตรงของการรับกฐิน

เท่าที่ผมสดับมา ผู้ที่อ้างเรื่องกฐินรูปเดียว ไม่เคยเอ่ยถึงข้อความตรงนี้เหมือนกับว่ามันไม่อยู่ในคัมภีร์ 

ถ้าจะลบล้างข้อความตรงนี้ ก็ต้องยกเหตุผลมาหักล้าง

บางทีผมอาจจะโง่เขลาไป ศึกษาไม่ทั่วถึง ดังนั้น ถ้าท่านผู้ใดมีหลักฐานที่สามารถหักล้างข้อความที่ผมยกมานี้ได้อย่างขาวสะอาด เราก็จะได้ช่วยกันประกาศให้รู้ทั่วไปในสังฆมณฑลว่า ต่อไปนี้วัดที่มีพระจำพรรษารูปเดียวก็สามารถรับกฐินได้

ขอให้เป็นหลักฐานที่หักล้างกันอย่างขาวสะอาดนะครับ

ไม่ใช่หลักฐานที่เกิดจากการตีความ

หมายเหตุ: 

ถ้าคณะสงฆ์มี “กองวิชาการพระพุทธศาสนา” อย่างที่ผมเคยเสนอซ้ำซากจนเบื่อตัวเอง ปัญหาทำนองนี้ก็จะทำความเข้าใจกันได้ง่ายที่สุด ไม่ต้องปล่อยให้แต่ละคนเข้าใจเอาเอง ทำกันเอาเอง แล้วก็เถียงกันเองอย่างที่เป็นอยู่ 

ขอบอกกล่าวซ้ำอีกว่า การที่คณะสงฆ์ไม่เอาใจใส่เรื่องที่ควรทำ-แบบนี้ เป็นความคับแค้นใจที่สุดของผม 

ถ้าไม่ได้อุทิศชีวิตบูชาพระรัตนตรัย ผมคงเปลี่ยนศาสนาไปนานแล้ว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

ตุลาคม ๒๕๖๒

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *