บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความชุด: ชวนกันศึกษาพระธรรมวินัย

อิทธิฤทธิ์ของอิทธิบาท (๐๐๕)

——————————-

มหาปรินิพพานสูตรเป็นพระสูตรที่น่าศึกษา มีแง่มุมทั้งทางโลกและทางธรรมที่ชวนให้ขบคิดซ่อนแฝงอยู่เป็นอันมาก

พูดให้กระทบใจเล่นก็ว่า-ใครยังไม่ได้อ่านมหาปรินิพพานสูตร อย่ามาพูดว่าเป็นชาวพุทธ

……………….

ขอยกมาชวนให้ศึกษาเรื่องหนึ่ง-คือเรื่องอิทธิฤทธิ์ของอิทธิบาท

“อิทธิบาท” เป็นหลักธรรมชุดหนึ่ง มี ๔ ข้อ คือ – 

(๑) ฉันทะ : ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป (will; zeal; aspiration)

(๒) วิริยะ : ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ท้อถอย (energy; effort; exertion; perseverance)

(๓) จิตตะ : ความคิดมุ่งไป คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ (thoughtfulness; active thought; dedication)

(๔) วิมังสา : ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น (investigation; examination; reasoning; testing)

ที่มาของคำอธิบาย: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213]

……………….

ก่อนจะทรงปลงพระชนมายุสังขาร (คือตกลงพระทัยที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน) พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า – 

ยสฺส  กสฺสจิ  อานนฺท  จตฺตาโร  อิทฺธิปาทา  ภาวิตา  

ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว 

พหุลีกตา 

กระทำให้มากแล้ว 

ยานีกตา

กระทำให้เป็นดุจยาน 

วตฺถุกตา

กระทำให้เป็นดุจพื้น 

อนุฏฺฐิตา

ให้ตั้งมั่นแล้ว 

ปริจิตา

สั่งสมแล้ว 

สุสมารทฺธา

ปรารภดีแล้ว 

โส  อากงฺขมาโน  อานนฺท 

ดูก่อนอานนท์ ผู้นั้นเมื่อจำนงอยู่ 

กปฺปํ  วา  ติฏฺเฐยฺย  กปฺปาวเสสํ  วา,

จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป

ตถาคตสฺส  โข  อานนฺท  จตฺตาโร  อิทฺธิปาทา  ภาวิตา  

ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาททั้ง ๔ ตถาคตเจริญแล้ว 

พหุลีกตา 

กระทำให้มากแล้ว 

ยานีกตา

กระทำให้เป็นดุจยาน 

วตฺถุกตา

กระทำให้เป็นดุจพื้น 

อนุฏฺฐิตา

ให้ตั้งมั่นแล้ว 

ปริจิตา

สั่งสมแล้ว 

สุสมารทฺธา

ปรารภดีแล้ว 

โส  อากงฺขมาโน  อานนฺท  ตถาคโต  

ดูก่อนอานนท์ ตถาคตนั้นเมื่อจำนงอยู่ 

กปฺปํ  วา  ติฏฺเฐยฺย  กปฺปาวเสสํ  วาติ  ฯ

จะพึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๙๔

……………….

พระพุทธดำรัสที่ว่า “กปฺปํ  วา  ติฏฺเฐยฺย = พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป” นี้ มีคนจำนวนมากเข้าใจว่า หมายถึง-ผู้ที่บำเพ็ญอิทธิบาทถึงระดับแล้ว หากว่าอยากจะมีอายุยืนยาว ก็สามารถอยู่ไปได้จนถึงวันโลกแตก

และพระพุทธเจ้าของเรา ถ้าตอนนั้นพระอานนท์ทูลอาราธนาให้ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ต่อไป พระองค์ก็จะสามารถอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้ (ตามเรื่องในพระสูตร พระอานนท์ไม่ได้ทูลอาราธนา นัยว่าเพราะมารดลใจ) 

เวลานี้ก็ยังมีคนเข้าใจเช่นนั้น คือเข้าใจว่าบำเพ็ญอิทธิบาทให้ถึงขั้นแล้วสามารถอยู่ไปได้ชั่วกัปชั่วกัลป์-อ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร 

……………….

ถ้าตามไปศึกษาอรรถกถา ก็จะพบคำอธิบาย 

คัมภีร์อรรถกถาอธิบายไว้ดังนี้ – 

……………….

เอตฺถ  จ  กปฺปนฺติ  อายุกปฺปํ  ฯ  ตสฺมึ  ตสฺมึ  กาเล  ยํ  มนุสฺสานํ  อายุปฺปมาณํ  โหติ  ฯ  ตํ  ปริปุณฺณํ  กโรนฺโต  ติฏฺเฐยฺย  ฯ 

คำว่า “กปฺปํ” ได้แก่อายุกัป. หมายความว่า ในยุคสมัยนั้นๆ มนุษย์มีอายุประมาณ (อายุปฺปมาณ) เท่าไร ก็ดำรงชีพอยู่ได้เต็มตามอายุในยุคสมัยนั้นๆ 

กปฺปาวเสสํ  วาติ  อปฺปํ  วา  ภิยฺโยติ  วุตฺตวสฺสสตโต  อติเรกํ  วา  ฯ 

คำว่า “กปฺปาวเสสํ วา” หมายความว่า เกินกว่าร้อยปี ดังที่ตรัสไว้ว่า “อปฺปํ วา  ภิยฺโย = จะเกินไปบ้างก็เล็กน้อย” 

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ หน้า ๒๕๖ (อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร)

……………….

คำอธิบายบอกไว้ว่า “กปฺปํ  วา  ติฏฺเฐยฺย = พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป” ไม่ได้หมายถึงอยู่ไปได้ชั่วกัปชั่วกัลป์ 

แต่หมายถึง-อยู่ได้เต็มตามอายุกัป (คือกำหนดอายุ) ของคนในยุคสมัยนั้นๆ 

ยุคสมัยพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ อายุกัปของมนุษย์คือ ๑๐๐ ปี

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ ปี 

ไม่เต็มตามอายุกัป

ถ้าพระอานนท์อาราธนาให้ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ต่อไป พระองค์ก็จะเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๑๐๐ ปี หรืออาจเกินกว่านั้นเล็กน้อย-เช่น ๑๒๐ ปี เหมือนพระอานนท์ 

ไม่ใช่อยู่ไปชั่วกัปชั่วกัลป์อย่างที่คนส่วนมากเข้าใจ (แล้วอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้เองนี่นา!)

……………….

ถ้าตามไปศึกษาพระสูตรอื่นประกอบด้วย ก็จะไม่เข้าใจกันผิดๆ 

มหาปทานสูตร (เป็นพระสูตรที่อยู่ในหมวดเดียวกับมหาปรินิพพานสูตรนั่นเอง) พระพุทธองค์ตรัสถึง “อายุปฺปมาณ” คือกำหนดอายุในแต่ละยุคไว้ดังนี้ – 

……………….

วิปสฺสิสฺส  ภิกฺขเว  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  อสีติวสฺสสหสฺสานิ  อายุปฺปมาณํ  อโหสิ  ฯ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสีประมาณ ๘๐,๐๐๐  ปี (อสีติวสฺสสหสฺสานิ = แปดหมื่นปี) 

พระชนมายุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ประมาณ ๗๐,๐๐๐ ปี (สตฺตติวสฺสสหสฺสานิ = เจ็ดหมื่นปี)

พระชนมายุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าเวสสภู ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี (สฏฺฐิวสฺสสหสฺสานิ = หกหมื่นปี)

พระชนมายุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ปี (จตฺตาฬีสวสฺสสหสฺสานิ = สี่หมื่นปี)

พระชนมายุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ปี (ตึสวสฺสสหสฺสานิ = สามหมื่นปี)

พระชนมายุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ประมาณ ๒๐,๐๐๐  ปี (วีสติวสฺสสหสฺสานิ = สองหมื่นปี) 

มยฺหํ  ภิกฺขเว  เอตรหิ  อปฺปกํ  อายุปฺปมาณํ  ปริตฺตํ  ลหุกํ  โย  จิรํ  ชีวติ  โส  วสฺสสตํ  อปฺปํ  วา  ภิยฺโย  ฯ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายุประมาณของเราในบัดนี้ไม่มาก คือน้อยนิดเดียว ผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างนานก็เพียง ๑๐๐ ปี (วสฺสสตํ) จะเกินไปบ้างก็เล็กน้อย

ที่มา: มหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๔

……………….

พระพุทธองค์ตรัสไว้เอง-อันนี้อ้างได้เลย-ว่า ยุคสมัยของพระองค์ มนุษย์อายุประมาณ ๑๐๐ ปี

จะมาอ้างว่า บำเพ็ญอิทธิบาท ๔ ให้ถึงขั้นแล้วสามารถอยู่ไปได้ชั่วกัปชั่วกัลป์-ได้อย่างไร 

เห็นโทษของการไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยบ้างหรือไม่ 

ในพระพุทธศาสนา ความเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน-แบบนี้ ยังมีอีกเยอะครับ

ศึกษาพระธรรมวินัยกันได้แล้วหรือยังเจ้าข้า?

……………….

หมายเหตุ: 

โพสต์ชุดนี้ไม่ได้เขียนเอา like

แต่ตั้งใจแบ่งปันความรู้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ กันยายน ๒๕๖๒

๑๘:๑๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *