บาลีวันละคำ

สันติวรบท (บาลีวันละคำ 1,477)

สันติวรบท

สูง…แต่เอื้อมถึง

อ่านว่า สัน-ติ-วอ-ระ-บด

ประกอบด้วย สันติ + วร + บท

(๑) “สันติ

บาลีเขียน “สนฺติ” (สัน-ติ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ

: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศานฺติ : (คำนาม) ความสงบ; บรมสุข; tranquillity; felicity.”

ในทางธรรม สนฺติ หมายถึง นิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –

สันติ : ความสงบ, ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย, ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย, ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัว, เป็นไวพจน์หนึ่งของ นิพพาน

(๒) “วร

บาลีอ่านว่า วะ-ระ รากศัพท์มาจาก วรฺ (ธาต = ปรารถนา) + ปัจจัย

: วรฺ + = วร แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันบุคคลปรารถนา” เป็นคำวิเศษณ์ แปลว่า ประเสริฐ, วิเศษ, เลิศ, อริยะ (excellent, splendid, best, noble) เป็นคำนามตรงกับคำที่เราใช้ว่า “พร” แปลว่า ความปรารถนา, พร, ความกรุณา (wish, boon, favour)

(๓) “บท

บาลีเป็น “ปท” (ปะ-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ปัจจัย

: ปทฺ + = ปท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า

ปท” ในบาลีใช้ในความหมายอะไรบ้าง :

(1) เท้า (foot)

(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)

(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)

(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place

(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)

(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค (a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence)

ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท

สนฺติ + วร + ปท สามารถรวมกลุ่มคำได้ 2 แบบ คือ –

(1) สนฺติ + วร = สนฺติวร แปลว่า “ความสงบอันประเสริฐ

(2) วร + ปท = วรปท แปลว่า “ทางอันประเสริฐ

เพราะฉะนั้น สนฺติ + วร + ปท = สนฺติวรปท > สันติวรบท จึงแปลตามศัพท์ได้ 2 แบบ คือ –

(1) “ทางสู่ความสงบอันประเสริฐ

(2) “ทางอันประเสริฐสู่ความสงบ

แต่ไม่ว่าจะแปลแบบไหน “สันติวรบท” ย่อมหมายถึง พระนิพพาน

สันติวรบท” เป็นคำที่มักใช้ในภาษาเขียนเชิงพรรณนา ไม่ใช่ภาษาพูดโดยทั่วไป

ดูก่อนภราดา!

: นิพพานไม่ยากที่จะพบ

: เพียงแค่สุขทุกข์มากระทบ-แล้วไม่กระเทือน

20-6-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย