บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑]

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑]

—————————–

นำร่อง

——-

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงหนทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระศาสนาทรงชี้ทางไว้ว่า การปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์นั้นจะได้ผลดีผู้ปฏิบัติต้องออกจากเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน มีหลักมีเกณฑ์ในการครองชีวิตอีกแบบหนึ่งต่างจากผู้ครองเรือน

คำแนะนำนี้มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองเป็นบทพิสูจน์ และต่อมาก็มีพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นพยานยืนยัน

พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย แต่เดิมก็คือชาวบ้านธรรมดาเหมือนเราท่านนี่เอง ไม่ใช่มนุษย์ต่างดาวที่ไหน เป็นชาวบ้านที่ฟังคำสอนแล้วเกิดศรัทธา 

แล้วออกบวช 

แล้วปฏิบัติตาม 

แล้วบรรลุธรรม 

ที่ยังไม่บรรลุก็พยายามปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ เพื่อบรรลุในโอกาสต่อไป 

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่มีเพศสมณะเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา

ถ้าจะมองพระพุทธศาสนาให้เห็นภาพรวมที่ถูกต้อง ก็ขอให้มองว่า พระพุทธศาสนามีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ – 

๑ ระบบคำสอน รวมทั้งส่วนที่สืบเนื่อง เช่น ประเพณี พิธีการบางอย่างเป็นต้น

๒ ตัวบุคคล รวมทั้งส่วนที่สืบเนื่อง เช่น รูปแบบ วิถีชีวิต วัตถุ สถานที่เป็นต้น

เมื่อมีบุคคลเข้ามาถือเพศสมณะ พระพุทธองค์ก็ทรงวางระเบียบวิถีชีวิต คือคำสอนส่วนที่เรียกว่า “พระวินัย” เช่นบัญญัติสิกขาบทหรือศีลของภิกษุภิกษุณีเป็นต้น ซึ่งกล่าวโดยหลักสำคัญก็มี ๒ ส่วนเท่านั้น คือเรื่องที่ “ห้ามทำ” และเรื่องที่ “ต้องทำ” 

บรรดาสิกขาบทหรือศีลทั้งหลายนั้น มีอยู่ส่วนหนึ่งที่เกิดจากคำตำหนิติเตียนของชาวบ้านเมื่อเห็นพระภิกษุประพฤติไม่เหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติข้อห้ามขึ้น คือสิกขาบทต่างๆ 

เหตุผลข้อสำคัญที่ชาวบ้านยกขึ้นตำหนิก็คือ “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” 

ขอยกตัวอย่างมาให้ศึกษาเรื่องหนึ่ง คือกรณีพระรับเงิน 

ต้นเหตุมาจากชาวบ้านคนหนึ่งนิมนต์ภิกษุรูปหนึ่งไปฉันที่บ้านเป็นประจำ วันหนึ่งเด็กในบ้านร้องกิน เขาเอาอาหารที่เตรียมไว้ถวายพระให้เด็กกินไปก่อน แล้วเตรียมเงินไว้สำหรับจัดหาอาหารมาถวายใหม่ ภิกษุทราบว่าเขาเตรียมเงินไว้ก็บอกว่าให้ถวายเงินนั้นได้เลยไม่ต้องเอาไปจัดหาอาหาร เจ้าของบ้านขัดไม่ได้ก็ถวายเงิน ภิกษุนั้นรับเงินกลับไปแล้วเขาจึงตำหนิ

คำตำหนิตามสำนวนในคัมภีร์ท่านว่าไว้ดังนี้ –

…………………….

  อุชฺฌายติ  ขียติ  วิปาเจติ  ยเถว  มยํ  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหาม  

เอวเมวิเม  สมณา  สกฺยปุตฺติยา  รูปิยํ  ปฏิคฺคณฺหนฺติ. 

ชายผู้นั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า 

พระสมณะเชื้อสายพระศากบุตรเหล่านี้รับรูปิยะเหมือนพวกเรา 

ที่มา: มหาวิภังค์ ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๑๐๕

…………………….

ชาวพุทธชาวบ้านควรช่วยกันเรียนรู้และจดจำสำนวน “เหมือนพวกเรา” กันไว้สักสำนวนหนึ่ง ภาษาบาลีท่านว่า – 

ยเถว  มยํเอวเมวิเม … (ยะเถวะ มะยัง … เอวะเมวิเม) 

แปลว่า – พวกเรา-อย่างไร … พระพวกนี้ก็-อย่างนั้น 

สรุปด้วยคำสั้นๆ ว่า “เหมือนพวกเรา”

ในพระวินัยปิฎกจะพบสำนวน “ยเถว  มยํ … เอวเมวิเม …” = “เหมือนพวกเรา” ได้ทั่วไป เช่น –

…………………….

ยเถว  มยํ  สปฺปชาปติกา  อาหิณฺฑาม  เอวเมวิเม  …

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้เที่ยวไปกับพวกภิกษุณี เหมือนพวกเรากับภรรยาเดินเที่ยวกัน

(มหาวิภังค์ ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๕๑)

ยเถว  มยํ  สปฺปชาปติกา  เอกนาวาย  กีฬาม  เอวเมวิเม  …

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ชักชวนกันเล่นเรือลำเดียวกับพวกภิกษุณี เหมือนพวกเราพร้อมด้วยภรรยาเล่นเรือลำเดียวกัน

(มหาวิภังค์ ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๕๖)

ยเถว  มยํ  คายาม  เอวเมวิเม  …

พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้สวดพระธรรมด้วยทำนองยาวคล้ายเพลงขับเหมือนพวกเราร้องเพลง

(จุลวรรค ภาค ๒ วินัยปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๒๐)

…………………….

ถ้ายกพฤติการณ์ตามพระไตรปิฎกออก แล้วเอาพฤติการณ์ในปัจจุบันเข้าไปใส่แทน ก็จะมองเห็นภาพ “เหมือนพวกเรา” ได้เป็นร้อยๆ เรื่อง 

มองในแง่ดี ชาวบ้านตำหนิไม่ได้แปลว่าเขาเกลียดชังพระ 

แต่แปลว่า เขาอยากเห็นพระทำสิ่งที่ดีกว่าที่ชาวบ้านทำ นั่นคือชาวบ้านมีความคาดหวังสูง และมีความหวังดีอย่างยิ่ง 

ผู้ที่เข้ามาบวชจึงเป็นความหวังของชาวบ้าน 

การพยายามทำในสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังจึงเป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งของพระภิกษุสามเณร 

และสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังให้พระภิกษุสามเณรทำก็ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยอย่างยิ่ง เพราะพระธรรมวินัยคืออุปกรณ์เครื่องช่วยฝึกปุถุชนให้ก้าวข้ามขึ้นไปสู่ความเป็นอารยชน 

เสียงตำหนิของชาวบ้านจึงเป็นเสียงแห่งความปรารถนาดี ไม่ใช่มุ่งทำลาย 

จึงควรช่วยกันแปรเสียงตำหนิให้เป็นกำลังใจ

สำหรับผู้ที่ไม่เคยคิดจะทำหรือยังทำไม่ได้ จะได้มีธรรมฉันทะที่จะก้าวออกจากที่เดิม 

สำหรับผู้ที่กำลังก้าวเดินไป จะได้มีอุตสาหะพากเพียรบากบั่นยิ่งๆ ขึ้น 

ถ้าท่านพยายาม ชาวบ้านก็พร้อมที่จะเป็นกำลังใจและกำลังอื่นๆ ทุกกำลัง 

แต่ถ้าท่านไม่ฟัง พระศาสนาพังจะโทษใคร? 

ชาวบ้านมีส่วนช่วยดำรงวินัยของพระอย่างไร โปรดพิจารณาเรื่องต่อไปนี้

……………

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๕:๑๒

………………………………..

นำเรื่อง

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๒]

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *