บาลีวันละคำ

วิปัสสนาธุระ (บาลีวันละคำ 1,864)

วิปัสสนาธุระ

ฤๅจะไม่ใช่ธุระ?

อ่านว่า วิ-ปัด-สะ-นา-ทุ-ระ

แยกศัพท์เป็น วิปัสสนา + ธุระ

(๑) “วิปัสสนา

บาลีเขียน “วิปสฺสนา” (มีจุดใต้ ตัวแรก) อ่านว่า วิ-ปัด-สะ-นา รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ทิสฺ (ธาตุ = เห็น), แปลง ทิสฺ เป็น ปสฺสฺ + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์

: วิ + ทิสฺ > ปสฺส = วิปสฺสฺ + ยุ > อน = วิปสฺสน + อา = วิปสฺสนา แปลตามศัพท์ว่า “ปัญญาที่เห็นสภาวะต่างๆ มีอนิจจลักษณะเป็นต้นในสังขาร” หมายถึง การเห็นแจ้ง, ความเห็นวิเศษ, ญาณพิเศษ, ปัญญาเครื่องเห็นแจ้ง (inward vision, insight, intuition, introspection)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิปัสสนา” เป็นอังกฤษดังนี้ –

วิปัสสนา (Vipassanā) : insight; intuitive vision; introspection; contemplation; intuition; insight development.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิปัสสนา : (คำนาม) ความเห็นแจ้ง, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา. (ป.).”

(๒) “ธุร

บาลีอ่านว่า ทุ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ธุพฺพิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + อร ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ ธุพฺพิ และลบ พฺพ (ธุพฺพิ > ธุพฺพ > ธุ)

: ธุพฺพิ + อร = ธุพฺพิร > ธุพฺพร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน

(2) ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อุ (ธรฺ > ธุรฺ)

: ธรฺ + = ธร > ธุร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทรงไว้

ธุร” (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) แอก, คานรถ (a yoke, a pole, the shaft of a carriage)

(2) สัมภาระ, น้ำหนักบรรทุก, ภาระ, หน้าที่, การรับผิดชอบ (a burden, load, charge, office, responsibility)

(3) ส่วนหน้า, ศีรษะ, ยอด, ข้างหน้า (the forepart of anything, head, top, front)

(4) หัวหน้า, ผู้นำ, บทบาทที่สำคัญ (chief, leader, leading part)

(5) ปลายสุด, ที่ตอนต้นหรือตอนปลาย (the far end, either as top or beginning)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธุร-, ธุระ : (คำนาม) หน้าที่การงานที่พึงกระทำ, กิจในพระศาสนา มี ๒ อย่าง คือ การเล่าเรียน เรียกว่า คันถธุระ และ การปฏิบัติทางใจ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ; (ปาก) เรื่อง, เรื่องส่วนตัว, เช่น นี่เป็นธุระของฉัน ไม่ใช่ธุระของคุณ. (ป., ส.).”

วิปสฺสนา + ธุร = วิปสฺสนาธุร > วิปัสสนาธุระ แปลตามศัพท์ว่า “ธุระเนื่องด้วยวิปัสสนา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิปสฺสนาธุร” ว่า obligation of introspection (วิปัสสนาธุระหรือหน้าที่ทางวิปัสสนา)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิปัสสนาธุระ” ดังนี้ –

วิปัสสนาธุระ (Vipassanādhura) : the burden of comtemplation; obligation of insight development; task of meditation practice.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิปัสสนาธุระ : (คำนาม) การเรียนวิปัสสนา, คู่กับ คันถธุระ การเรียนคัมภีร์ปริยัติ. (ป. วิปสฺสนา + ธุร).”

…………..

คำจำกัดความจากคัมภีร์ :

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 เรื่องพระจักขุบาลเถระ ให้ความหมายคำว่า “วิปัสสนาธุระ” ไว้ดังนี้ –

สลฺลหุกวุตฺติโน  ปน  ปนฺตเสนาสนาภิรตสฺส 

อตฺตภาเว  ขยวยํ  ปฏฺฐเปตฺวา  

สาตจฺจกิริยาวเสน  วิปสฺสนํ  วฑฺเฒตฺวา 

อรหตฺตคฺคหณนฺติ  อิทํ  วิปสฺสนาธุรํ  นาม.

ภิกษุผู้มีความประพฤติเรียบง่าย

ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด

เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ

ยังวิปัสสนาให้เจริญโดยไม่ขาดสายจนบรรลุพระอรหัต

ดังนี้ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ.

ดูเพิ่มเติม : “คันถธุระ” บาลีวันละคำ (1,863) 16-7-60

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระคัมภีร์ก็ไม่เรียน

: บำเพ็ญเพียรก็ไม่เอา

: อนิจจาพระศาสนาของชาวเรา

: อกเอ๋ยนี่จะหันหน้าไปฝากไว้กับใครใด?

17-7-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย