บาลีวันละคำ

สามเณร (บาลีวันละคำ 417)

สามเณร

บาลีอ่านว่า สา-มะ-เน-ระ ไทยอ่านว่า สาม-มะ-เนน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า

สามเณร : ผู้ดํารงเพศอย่างภิกษุ แต่สมาทานศีล 10, เรียกสั้น ๆ ว่า เณร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความว่า –

สามเณร : บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบทคือศีล 10 และปฏิบัติกิจวัตรบางอย่างเหมือนภิกษุ ตามปกติมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์; พระราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

ในภาษาบาลีมีคำเรียกสามเณรอีกศัพท์หนึ่ง คือ “สมณุทฺเทส” อ่านว่า สะ-มะ-นุด-เท-สะ อ่านแบบไทยว่า สะ-มะ-นุด-เทด

สามเณร” รากศัพท์คือ สมณ + เณร ปัจจัย แปลว่า “ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสมณะ” หรือ “เหล่ากอแห่งสมณะ

สมณุทฺเทส” รากศัพท์คือ สมณ + อุทฺเทส แปลว่า “ผู้ที่ใครๆ ควรชี้บอกกันได้ว่า นี้เป็นสมณะ’ เพราะมีเพศและอาจาระของสมณะ

คำว่า “สมณะ” มีความหมายว่า ผู้สยบความชั่วได้แล้วด้วยประการทั้งปวง

: ความชั่วฉาวก็สยบ งามสงบด้วยอาจาระ ทรงเพศสมณะก็งาม

จึ่งสมควรออกนามว่าสามเณร

พึงเป็นผู้ที่ใครๆ ชี้บอกกันได้ดั่งนี้ เทอญ

บาลีวันละคำ (417)

6-7-56

สามเณร (ศัพท์วิเคราะห์)

สมณสฺส อปจฺจํ สามเณโร ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของสมณะ

สมณ + เณร ปัจจัย

สมณุทฺเทส = สามเณร

สมณลิงฺคาจารตฺตา สมโณยนฺติ อุทฺทิสิตพฺโพติ สมณุทฺเทโส ผู้ควรแสดงได้ว่า “นี้เป็นสมณะ” เพราะมีเพศและอาจาระของสมณะ

สมณ + อุ บทหน้า ทิสิ ธาตุ ในความหมายว่าแสดง, สวด ณ ปัจจัย ซ้อน ทฺ พฤทธิ์ อิ เป็น เอ ลบสระที่สุดธาตุ

สมณ = สมณะ, นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต

สเมตีติ สมโณ ผู้สงบ

สม ธาตุ ในความหมายว่าสงบ ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน น เป็น ณ

สพฺพโส ปาปานํ สมิตาวีติ สมโณ ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค (เหมือน วิ.ต้น)

สามเณร ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

เหล่ากอสมณะ, สามเณร.

สามเณร (ประมวลศัพท์)

เหล่ากอแห่งสมณะ, บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบทเพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ถือสิกขาบท ๑๐ และกิจวัตรบางอย่างตามปกติ มีอายุยังไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์; พระราหุลเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา

สามเณร

  [สามมะเนน] น. ผู้ดํารงเพศอย่างภิกษุ แต่สมาทานศีล ๑๐, เรียกสั้น ๆ ว่า เณร. (ป.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย