บาลีวันละคำ

โบสถ์ (บาลีวันละคำ 416)

โบสถ์

อ่านว่า โบด

ตัดมาจากคำว่า “อุโบสถ” (อุ-โบ-สด) บาลีว่า “อุโปสถ” (อุ-โป-สะ-ถะ)

อุโปสถอุโบสถ” มีความหมาย 4 อย่าง คือ (1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน (2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา (3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา (4) สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม (ดูรายละเอียดที่คำว่า “อุโปสถ” บาลีวันละคำ (67) 11-7-55)

คำว่า “โบสถ์” ใช้เฉพาะความหมายตามข้อ (4) คือ สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ทำพิธีกรานกฐิน เป็นต้น

เครื่องหมายที่บอกให้รู้ว่าสถานที่ตรงนั้นเป็นโบสถ์ ก็คือ “สีมา” (หรือ “เสมา”) มักทำเป็นซุ้มรายรอบโบสถ์ หรือบางแห่งทำใบเสมาติดรายรอบผนังโบสถ์ด้านนอก

สำนวนไทยบางคำมีที่มาจาก “โบสถ์” เช่น

– “ชายสามโบสถ์” มาจากคนที่บวชๆ สึกๆ หลายครั้ง ใช้พูดเป็นเชิงตําหนิว่า เป็นคนที่ไม่น่าคบ

– กรณีพระสงฆ์ประชุมฟังสวดพระปาติโมกข์ คำเก่าเรียกกันว่า “พระลงโบสถ์” แสดงถึงความสามัคคีของสงฆ์

– คนที่อยู่ในหน่วยงานหรือสังคมเดียวกัน แต่ความเห็นไม่ตรงกันจนถึงไม่ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียกว่า “ไม่ลงโบสถ์กัน” (ความหมายเดียวกับ “ไม่ร่วมสังฆกรรม”)

– “หลังโบสถ์” หมายถึงสถานที่ลับสำหรับแอบไปทำอะไรกันไม่ให้ใครเห็น มาจากเด็กวัดวิวาทกันแล้วแอบไปชกต่อยกันหลังโบสถ์เพื่อไม่ให้พระเห็น

– “ใต้ถุนโบสถ์” เป็นคำพูดล้อเล่น หมายถึงไม่ต้องทำอย่างที่พูด หรือเป็นอย่างที่พูดไม่ได้ เช่น “ไปเจอกันใต้ถุนโบสถ์นะ” (เดิมแท้นั้นโบสถ์สร้างติดพื้นดิน จึงไม่มีใต้ถุน)

มีบาตรไม่โปรด

มีโบสถ์ไม่ลง

มีอาบัติไม่ปลง

เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร

(คำที่พระท่านเตือนสติพระด้วยกัน)

——————–

(เนื่องมาจากคำปรารภของ สุพรทิพย์ คำทรงศรี)

บาลีวันละคำ (416)

5-7-56

อุโบสถ

คำปรารภของ สุพรทิพย์ คำทรงศรี ๓ ก.ค.๕๖

อุโปสถ บาลีวันละคำ (67) 11-7-55

โบสถ์

  น. สถานที่สําหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมทําสังฆกรรม เช่น สวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต, อนุโลมเรียกสถานที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาอื่นว่า โบสถ์ เช่น โบสถ์พราหมณ์ โบสถ์คริสต์. (มาจากคําว่า อุโบสถ). (ป. อุโปสถ).

ชายสามโบสถ์

  (สํา) น. ผู้ที่บวชแล้วสึกถึง ๓ หน, ใช้พูดเป็นเชิงตําหนิว่า เป็นคนที่ไม่น่าคบ.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย