บาลีวันละคำ

ปาริชาต (บาลีวันละคำ 3,391)

ปาริชาต

ต้นไม้สวรรค์

อ่านว่า ปา-ริ-ชาต

ชื่อต้นไม้สวรรค์นี้ ในบาลีมีคำเรียก 2 คำ คือ “ปาริจฺฉตฺตก” และ “ปาริชาตก”

(๑) “ปาริจฺฉตฺตก”

อ่านว่า ปา-ริด-ฉัด-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบด้าน) + ฉตฺต (ร่ม) + ก สกรรถ (กะ สะ-กัด, ลง -ก ข้างท้าย มีความหมายเท่าเดิม), ทีฆะ อะ ที่ ป-(ริ) เป็น อา (ปริ > ปาริ), ซ้อน จฺ ระหว่างอุปสรรคกับบทหลัง

: ปริ + จฺ + ฉตฺต = ปริจฺฉตฺต + ก = ปริจฺฉตฺตก > ปาริจฺฉตฺตก แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่แผ่ไปโดยรอบเหมือนร่ม”

มีคำอธิบายประกอบว่า “ยํ โลกิยา ปาริชาตนฺติ วทนฺติ, ตํ มคธภาสาย ปาริจฺฉตฺตกนฺติ วุจฺจติ = ต้นไม้ที่ชาวโลกเรียกว่าต้นปาริชาต ในภาษามคธเรียกว่าต้นปาริจฉัตตกะ”

(๒) “ปาริชาตก”

อ่านว่า ปา-ริ-ชา-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก ปาร (ฝั่ง > สมุทร) + ชาต (เกิด) + ก สกรรถ (กะ สะ-กัด, ลง -ก ข้างท้าย มีความหมายเท่าเดิม), แปลง อะ ที่ (ปา)-ร เป็น อิ (ปาร > ปาริ)

: ปาร + ชาต = ปารชาต + ก = ปารชาตก > ปาริชาตก แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้ที่เป็นเหล่ากอของสมุทร” (คือเป็นต้นไม้ประจำสมุทร)

“ปาริจฺฉตฺตก” และ “ปาริชาตก” นักเรียนบาลีแปลกันว่า ต้นปาริฉัตร, ต้นปาริชาต, ต้นทองหลาง, ต้นทองกวาว

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อต้นไม้นี้ในบาลีสะกดเป็น “ปาริจฺฉตฺต” และ “ปาริชาต” (ไม่มี -ก ข้างท้าย) ก็มี แต่ที่พบมักเป็น “ปาริจฺฉตฺตก” และ “ปาริชาตก”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาริจฺฉตฺตก” และ “ปาริชาตก” ว่า the coral tree Erythmia Indica, a tree in Indra’s heaven (ต้นไม้บนสวรรค์ของพระอินทร์)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปาริชาต” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“ปาริชาต : (คำนาม) ต้นไม้ในสุขภพน์; ประวาลพฤกษ์; a tree of paradise; the coral tree.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ปาริฉัตร, ปาริชาต : (คำนาม) ต้นไม้สวรรค์ในสวนพระอินทร์, ต้นทองหลาง. (ป. ปาริจฺฉตฺต, ปาริชาต; ส. ปาริชาต).”

ขยายความ :

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๓ อธิบายคำว่า “เกษียรสมุทร” บอกว่า ต้น “ปาริชาต” เกิดขึ้นจากการกวนเกษียรสมุทร ขอยกมาแสดงเพื่อประดับความรู้ ดังนี้ –

…………..

เกษียรสมุทร : ทะเลน้ำนมอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ ไตรภูมิเรียกว่า ขีรสาคร คู่กับนิลสาครหรือโลณสาครอยู่ทางทิศใต้ เกษียรสมุทรเป็นทะเลที่ประทับของของพระวิษณุนารายณ์เหนือหลังพระยาเศษนาค ทะเลนี้เทวดาและอสูรเคยร่วมกันกวนเพื่อให้เกิดน้ำอมฤต เรียกกันว่า กวนเกษียรสมุทร ในการกวนครั้งนั้นนอกจากได้ ๑. น้ำอมฤตแล้ว ยังได้ ๒. ธันวันตริ แพทย์เทวดาผู้ถือโถน้ำอมฤตผุดขึ้นมาจากสมุทร ๓. ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภและความงาม และเป็นชายาของพระวิษณุนารายณ์ ๔. สุรา เทวีแห่งน้ำเมา ลางทีก็เรียกว่า วารุณี และมหาเทวี เป็นชายาแห่งพระวรุณ ๕. พระจันทร ๖. นางอัปสรรัมภา ผู้ทรงความงามเป็นที่น่ารักอย่างยิ่ง ๗. อุจไฉหศรพ ม้าวิเศษของพระอินทร์สีขาว ๘. เกาสตุภ มณีวิเศษเป็นเครื่องประดับพระนาภีของพระวิษณุหรือพระกฤษณ์ ๙. ต้นปาริชาตบนสวรรค์ ๑๐. สุรภี โคสารพัดนึก ๑๑. ไอราวัต คือช้างเอราวัณของพระอินทร์ ๑๒. สังข์ชัย ๑๓. ธนูวิเศษ และยาพิษ ซึ่งพระศิวะทรงกลืนไว้เพราะเกรงว่าจะทำลายชีวิตสัตว์ให้หมดไป ขณะทรงกลืน พิษเผาพระศอพระศิวะจนดำเขียว เหตุนี้ พระศิวะจึงมีพระนามอีกอย่างหนึ่งว่า นิลกัณฐ์ คือ พระผู้มีศอนิล. ส.ก.

…………..

หมายเหตุ: อักษรย่อ “ส.ก.” ข้างท้ายหมายถึง “เสฐียรโกเศศ” เป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน

…………..

ในเรื่อง กามนิต ของเสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ภาคสอง บนสวรรค์ บทที่ยี่สิบสี่-ต้นปาริชาต มีข้อความกล่าวถึงกลิ่นหอมแห่ง “ปาริชาต” ไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้

…………..

กามนิต มองตามพวกเหล่านั้น และเลื่อนลอยไปแล้ว ก็ให้พิศวงในสิ่งที่น่าพิศวง

“สิ่งต่างๆ ทุกอย่าง ณ ที่นี้ ซึ่งดูรู้สึกว่าแปลกประหลาดมากเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลเป็นไฉนหนอ? ถ้าว่าเราเป็นผู้อยู่ในที่นี้ ก็เหตุไรสิ่งต่างๆ ทุกอย่างจึ่งดูไม่เหมือนธรรมดา? ได้เห็นสิ่งใดขึ้นใหม่ทุกคราวไป ก็ทำให้ประหลาดใจฉงนสนเท่ห์เสมอ เช่น กลิ่นหอมอะไรที่ผ่านมาเดี๋ยวนี้ หอมผิดกว่ากลิ่นดอกไม้อื่นซึ่งมีอยู่ในที่นี้ กลิ่นหอมยิ่ง ชวนให้สูด แต่ว่าทำให้ปั่นป่วนใจ กลิ่นนี้มาจากอะไรหนอ? และตัวเราเล่าก็มาจากไหน? รู้สึกว่าเพิ่งมาอยู่เป็นเวลาได้ครู่เดียวเท่านั้น หรือว่ามีชีวิตขึ้น แต่ทว่ามีมาจากไหน? และเพราะอาการอย่างไรจึ่งมาอยู่ที่นี่?”

……….

ในหุบเขานั้น มีสีสันก็เพียงสาม คือสีน้ำเงินแก่ของท้องฟ้า สีเขียวของหิน และสีแดงประพาฬของต้นไม้ และมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นเดียว กลิ่นหอมอันน่าพิศวงไม่เหมือนกลิ่นหอมอื่นๆ เป็นกลิ่นมาจากดอกไม้สีแดงจัด ซึ่งเท่ากับดูดดึงให้กามนิตมา

ในทันใดนั้น ลักษณะประหลาดแห่งกลิ่นหอมก็เริ่มสำแดงอาการ กล่าวคือ ขณะกามนิตสูดกลิ่น ซึ่งตลบฟุ้งอยู่ทั่วหุบเขานั้น ความรู้สึกระลึกเรื่องหนหลังได้แล่นพรูเข้าสู่ใจโดยเร็ว ทำลายทะลุฝ้ามืดมัวที่กำบังไว้ตั้งแต่ตื่นขึ้นในสระจนบัดนี้ …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ระลึกชาติได้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เฉพาะตัว

: ระลึกได้ว่าไม่ควรทำชั่ว เป็นเรื่องประเสริฐสุด

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *