อเนกชาติ (บาลีวันละคำ 3,802)
อเนกชาติ
ไม่รู้จะขาดสิ้นลงที่ตรงไหน
ประกอบด้วยคำว่า อเนก + ชาติ
(๑) “อเนก”
บาลีอ่านว่า อะ-เน-กะ แยกคำตามที่ตาเห็นเป็น อ (อะ) + เนก (เน-กะ)
แต่ตามกฎไวยากรณ์บาลีท่านบอกว่า “อเนก” ประสมขึ้นจากคำว่า น + เอก
(ก) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
(ข) “เอก” บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก
: อิ > เอ + ณฺวุ = เอณฺวุ > เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน”
“เอก” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) หนึ่ง (เป็นคำบอกจำนวน) one (as number)
(2) คนเดียว, โดยตนเอง, หนึ่งเท่านั้น, โดดเดี่ยว, ผู้เดียว (one, by oneself, one only, alone, solitary)
(3) คนใดคนหนึ่ง, ใครคนหนึ่ง, บางคน (a certain one, some one, some)
การประสมคำ :
น + เอก
ตามกฎไวยากรณ์บาลี :
(1) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อ” (อะ)
(2) ถ้าพยางค์แรกของคำที่ “น” ไปประสมด้วย ขึ้นต้นด้วยสระ คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ท่านให้แปลง “น” เป็น “อน” (อะ-นะ)
ในที่นี้ “เอก” ขึ้นต้นด้วยสระ ดังนั้นจึงต้องแปลง “น” เป็น “อน”
เหตุผลที่ -เ- ต้องอยู่หน้า น และ อ ต้องอยู่หน้า -เ- :
“อน” (อะ-นะ) แยกเป็น 2 อักษรและอ่านแยกเป็น 2 พยางค์ คือ “อ” (อะ) พยางค์หนึ่ง “น” (นะ) อีกพยางค์หนึ่ง ทั้ง 2 อักษรหรือ 2 พยางค์นี้เป็นอิสระจากกัน
เทียบกับอักษรที่ไม่เป็นอิสระจากกัน เช่น “ทฺว” (อ่านว่า ทัวะ)
“ทฺ” มีจุดข้างใต้ บังคับให้ควบกับ “ว” แยกจากกันไม่ได้ นี่คือไม่เป็นอิสระจากกัน
ถ้าเอาสระ เ- มาประสมกับ “ทฺว” ต้องสะกดเป็น “เทฺว” ไม่ใช่ “ทฺเว”
“เทฺว” ไม่ได้อ่านว่า เท-วะ แต่อ่านว่า ทัว-เอ หรือ “ทวย” พยางค์เดียว ไม่ใช่ “ทะ” พยางค์หนึ่ง “เว” อีกพยางค์หนึ่ง
ถ้าสะกดเป็น “ทฺเว” สระ เ- ก็แยก “ทฺ” กับ “ว” ออกจากกันเป็น ทฺ-เว (ทะ-เว) ซึ่งผิดหลักที่ว่า “แยกจากกันไม่ได้”
แต่ “อน” ไม่เหมือน “ทฺว” เพราะ “อน” แยกขาดจากกันเป็น “อ” พยางค์หนึ่ง “น” อีกพยางค์หนึ่ง
เมื่อ “อน” (อย่าลืมว่าแปลงมาจาก “น”) + เอก ถ้าเขียนเป็น “เอนก” เท่ากับแยก “เอ” กับ “ก” ออกจากกัน ไม่ใช่ “เอก” คำเดิม บาลีจะต้องอ่านว่า เอ-นะ-กะ ไม่ใช่ อะ-เน-กะ ซึ่งจะยิ่งผิดความหมายไปไกล
สระ เ- ที่ เ-ก (เอก) จึงควบได้แค่พยางค์หลัง คือ “-น” แต่ไม่ควบมาถึงพยางค์หน้า คือ “อ-”
จึงเท่ากับ -น + เ-ก = เนก และ อ + เนก = อเนก
อน + เ-ก จึงต้องเขียนเป็น “อเนก” (สระ เ- ควบได้แค่ -น) ไม่ใช่ “เอนก” (สระ เ- ควบ อน)
และนี่คือเหตุผลที่ -เ- ต้องอยู่หน้า น และ อ ต้องอยู่หน้า -เ-
คนส่วนมากเมื่อเขียนคำว่า “อเนก” (คำถูก) มักจะเขียนเป็น “เอนก” (คำผิด)
แต่ส่วนมากมักไม่ทราบเหตุผลว่าทำไม “อเนก” จึงถูก และทำไม “เอนก” จึงผิด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อเนก, อเนก- : (คำวิเศษณ์) มาก, หลาย, เช่น อเนกประการ. (ป., ส.).”
“อเนก” ตามศัพท์ไม่ได้แปลว่า มาก, หลาย แต่แปลว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” (not one)
“ไม่ใช่หนึ่ง” ก็คือมากกว่าหนึ่ง
“มากกว่าหนึ่ง” ย่อมส่อนัยว่ามีจำนวนมาก
ดังนั้น “อเนก” จึงมีความหมายว่า มาก, ต่างๆ กัน, นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (many, various, countless, numberless)
ในภาษาไทย “อเนก” อ่านว่า อะ-เหฺนก ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า อะ-เหฺนก-กะ- (ต่อด้วยคำนั้น)
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.
(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
อเนก + ชาติ = อเนกชาติ บาลีอ่านว่า อะ-เน-กะ-ชา-ติ ภาษาไทยอ่านว่า อะ-เหฺนก-กะ-ชาด แปลตามศัพท์ว่า “การเกิดมิใช่ครั้งเดียว” หมายถึง เวียนตายเวียนเกิดนับชาติไม่ถ้วน
ขยายความ :
คำว่า “อเนกชาติ” ที่ชาวไทยคงยังไม่ลืมง่ายๆ น่าจะเป็นชื่อเรือลำหนึ่งในจำนวนเรือพระราชพิธี 52 ลำ ในจำนวนนี้เป็น “เรือพระที่นั่ง” 4 ลำ และ 1 ในจำนวน 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่ง “อเนกชาติภุชงค์” (อะ-เหฺนก-กะ-ชาด-พุ-ชง)
แต่คำว่า “อเนกชาติ” ที่ชาวธรรมน่าจะจำไม่ลืม อยู่ในพุทธอุทานที่พระพุทธองค์ตรัสเย้ยตัณหาในวันที่ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ควงไม้มหาโพธิ์ในปัจฉิมยามแห่งราตรีเพ็ญเดือนวิสาขะก่อนพุทธศก 45 ปี ความว่าดังนี้ –
…………..
อเนกชาติสํสารํ
สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต
ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ ฯ
เมื่อไม่พบนายช่างผู้สร้างเรือน
เราได้เวียนว่ายตายเกิด
ในสงสารนับชาติไม่ถ้วน
การเกิดแล้วเกิดอีกเป็นทุกข์
Through many a birth
I wandered in Samsara,
Seeking but not finding the Housebuilder,
Painful is birth ever again and again.
คหการก ทิฏฺโฐสิ
ปุน เคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา
คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ
ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ฯ
นายช่างเอย บัดนี้เราพบท่านแล้ว
ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีก
จันทัน อกไก่ เราทำลายหมดแล้ว
จิตของเราบรรลุนิพพาน
หมดความทะยานอยากแล้ว
O Housebuilder, you have been seen,
You shall not build the house again.
Your rafters have been broken,
Your ridge-pole demolished too.
My mind has now attained the Unconditioned,
And reached the end of all craving.
พระบาลี: ชราวรรค ธัมมปทคาถา พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 21
สำนวนแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ:
หนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่อยากตาย
: อย่าเกิด
#บาลีวันละคำ (3,802)
09-11-65
…………………………….
……………………………